- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 22 January 2017 17:57
- Hits: 3753
รมว.พาณิชย์ หนุน WEF จัดทำดัชนีความพร้อมสำหรับอนาคตการผลิต เชื่อช่วยดึงดูดนลท.เข้าลงทุนในไทย
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุม World Economic Forum (WEF) ประจำปี พ.ศ.2559 ณ เมือง ดาวอส ภายใต้หัวข้อหลัก "ผู้นำยุคใหม่ที่ปรับตัวก้าวทันโลกและมีความรับผิดชอบ (Responsive and Responsible Leadership)" ได้เสนอให้จัดทำดัชนีความพร้อมสำหรับอนาคตการผลิต (Future of Production Country Profiles) ซึ่งเป็นการรวบรวมและคัดเลือกข้อมูลที่ใช้ในการจัดทำดัชนีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness Index) ประกอบกับดัชนีชี้นำเศรษฐกิจที่สำคัญอื่นๆ เช่น ดัชนีความพร้อมของการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Networked Readiness Index) ดัชนีภาคการค้า (Enabling Trade Index) ดัชนีความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว (Travel and Tourism Competitiveness Index) ดัชนีช่องว่างระหว่างเพศ (Gender Gap Index) และดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Capital Index)
โดยดัชนีความพร้อมสำหรับอนาคตการผลิต (Future of Production Country Profiles) ประกอบด้วย ตัวชี้วัดโครงสร้างการผลิตและการบริโภค รวมไปถึงตัวขับเคลื่อนและปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดการผลิตทั้ง 5 ด้าน ซึ่งได้แก่ ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านเศรษฐกิจโลก การค้า และการลงทุน ด้านทรัพยากรธรรมชาติและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ด้านกฎระเบียบและการกำกับดูแล และด้านทุนมนุษย์และทักษะแรงงาน ซึ่งในแต่ละด้านครอบคลุมมิติต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1.โครงสร้างการผลิตและการบริโภค: มิติด้านโครงสร้างการผลิต ได้แก่ ความซับซ้อนทางเศรษฐกิจ ความเชื่อมโยงไปข้างหน้า/ข้างหลัง การเข้าร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลก และปัจจัยด้านความหนาแน่นและการค้นพบ และมิติด้านโครงสร้างการบริโภค ได้แก่ ความเต็มใจที่จะลองสินค้าและบริการใหม่ ๆ การเปิดกว้างต่อกรรมวิธีการผลิตสมัยใหม่ และรสนิยมของผู้บริโภคและความพร้อมใช้งานของข้อมูล
2.เทคโนโลยีและนวัตกรรม: มิติด้านความเข้มข้นของการวิจัย มิติด้านกิจกรรมทางอุตสาหกรรม มิติด้านการใช้งานและความสะดวกในการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และมิติด้านความซับซ้อนของเทคโนโลยี
3.เศรษฐกิจโลก การค้า และการลงทุน: มิติด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการค้า มิติด้านศักยภาพทางการค้า มิติด้านการลงทุน และมิติด้านการรับรองระบบงานตามมาตรฐานสากล
4.ทรัพยากรธรรมชาติและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม: มิติด้านพลังงานใส่เข้าและต้นทุนพลังงาน มิติด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน มิติด้านแนวทางปฏิบัติอย่างยั่งยืน และมิติด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
5.กฎระเบียบและการกำกับดูแล: มิติด้านคุณภาพองค์กร มิติด้านความปลอดภัยในโลกดิจิตอลและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มิติด้านแรงจูงใจในการสร้างนวัตกรรม และมิติด้านอุปสรรคทางการค้า
6.ทุนมนุษย์และทักษะแรงงาน: มิติด้านผลลัพธ์ทางการศึกษา มิติด้านความว่องไวและความสามารถในการปรับตัว มิติด้านบูรณภาพ มิติด้านทักษะแรงงาน และมิติด้านการย้ายถิ่นแรงงาน
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ในฐานะที่ประธานร่วมการประชุมกรรมการคาดการณ์ทิศทางโลก (Board of Stewardship) ได้เสนอให้ความร่วมมือกับ WEF ในการจัดทำดัชนีความพร้อมสำหรับอนาคตการผลิต (Future of Production Country Profiles) ในประเทศไทย เนื่องจากจะเป็นประโยชน์ในการทราบถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของไทยในเรื่องความพร้อมนี้ และสามารถออกแบบและจัดอันดับความสำคัญนโยบาย และสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดนักลงทุนมายังประเทศไทยได้ต่อไป
รมว.พาณิชย์ เผย WEF เล็งปรับปรุงวิธีจัดทำดัชนีขีดความสามารถทางการแข่งขัน คาดผลจัดอันดับไทยดีขึ้น
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้หารือกับนาย Daniel Gomez Gaviria, Head of Competitiveness Research ซึ่งเป็นผู้จัดทำ WEF Global Competitiveness Report ในระหว่างการเข้าร่วมประชุม World Economic Forum (WEF) ประจำปี พ.ศ. 2559 ณ เมืองดาวอส
โดยนาย Gaviria ได้แจ้งว่า ทาง WEF จะมีการปรับปรุงวิธีการจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันโลกแบบ Facelift โดยจะลดความสำคัญของผลจาก Survey ลง และเพิ่มตัวแปรใหม่เข้าไปในการจัดอันดับกว่า 64 ตัวแปร และคงตัวแปรเดิมเดิมอีก 71 ตัวแปรไว้
ทั้งนี้ คาดว่าในปีหน้าผลการจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันของไทยจะมีความแม่นยำเที่ยงตรงขึ้น และนาย Gomez คาดว่าผลการจัดอันดับของไทยน่าจะดีขึ้น ซึ่งตนเองได้หารือกับนาย Gaviria เพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างไทยกับ WEF โดยเน้นนำผลการวิเคราะห์ความสามารถทางการแข่งขันใหม่มาใช้ประกอบนโยบายเศรษฐกิจให้มีความทันสมัยมุ่งสู่ประเทศไทยที่มีความสามารถทางการแข่งขันสูงในยุค 4.0 ต่อไป
สำหรับ รายละเอียดของการปรับปรุงการจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันโลกของ WEF หรือ Global Competitiveness Index นั้น ทาง WEF ได้มีการวางแผนนำเกณฑ์ด้านสภาพแวดล้อมด้านนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) และยกเลิกการให้น้ำหนัก (weight) ตามการจัดกลุ่มของระดับการพัฒนา ทั้งนี้มีการนำข้อมูลตัวแปรใหม่ๆ มาใช้ร่วมประเมินระดับความสามารถทางการแข่งขันร่วมกับผลการจัดทำแบบสอบถามความคิดเห็นของนักลงทุนที่จะมีการจัดทำแบบสำรวจเป็นรูปแบบ online เท่านั้น
ปัจจุบันประเทศไทยได้รับการจัดอันดับดัชนีความสามารถในการแข่งขัน (Global Competitiveness Index: GCI) โดย WEF ให้อยู่ในอันดับที่ 34 โดยดัชนีในปี พ.ศ.2559 ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับดีขึ้นในด้านสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค การศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม และนวัตกรรม
อินโฟเควสท์
รมว.พาณิชย์ เล็งใช้กลยุทธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ-เดินสายเจรจา เพื่อขยายความร่วมมือปท.คู่ค้า ผลักดันส่งออกปีนี้
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ตั้งเป้าให้ปีนี้เป็นปีทองแห่งการค้าและการลงทุนของไทย กระทรวงฯ เตรียมนำกลยุทธ์การเจรจาการค้ารูปแบบหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ หรือ strategic partnership มาใช้ในการเจรจากับประเทศคู่ค้าเพื่อขยายความร่วมมือในด้านต่างๆ โดยพิจารณาถึงความต้องการของทั้งสองฝ่ายซึ่งจะต้องได้ประโยชน์ร่วมกัน ตลอดจนเร่งแก้ไขปลดล็อคปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่เดิมแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เพื่อแก้ไขปัญหาให้สำเร็จลุล่วงโดยเร็ว
กระทรวงฯ อยู่ระหว่างจัดทำการวิเคราะห์ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยในเชิงลึก เบื้องต้นคาดว่าจะประกอบด้วยประเทศหลักๆ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร รัสเซีย กลุ่ม CLMV จีน ญี่ปุ่น ปากีสถาน อินเดีย และอิหร่าน โดยจะต้องดูว่าไทยต้องการอะไรจากเขา เขาต้องการอะไรจากเรา และจะมีข้อเสนออะไรต่อกัน ซึ่งจะต้องสามารถเกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจน มีความครอบคลุม และกระจายไปในแต่ละภูมิภาคอย่างทั่วถึง" นางอภิรดี กล่าว
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ในปีนี้ตนเองมีกำหนดเดินทางไปเจรจาขยายการค้าการลงทุนกับหลายๆ ประเทศ เฉพาะในเดือน ก.พ.60 มีกำหนดเยือนประเทศต่างๆ โดยในช่วงต้นเดือนจะร่วมคณะนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ไปเยือนเมียนมา เพื่อนำคณะเอกชนไปเจรจาขยายความร่วมมือ 4 กลุ่มธุรกิจเป้าหมาย คือ กลุ่มโลจิสติกส์-ก่อสร้าง กลุ่มภาคการผลิต กลุ่มสุขภาพ และกลุ่มพลังงาน, การเดินทางไปร่วมประชุมขยายความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจสิงคโปร์กับไทย หรือ การประชุม STEER ไทย-สิงคโปร์ ครั้งที่ 5 ที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อขยายความสัมพันธ์การค้าการลงทุนระหว่างกัน และในปลายเดือน ก.พ.60 จะนำคณะนักธุรกิจด้านสินค้าอาหารและบริการไปเยือนงาน Gulf food ณ นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ งานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกลาง ซึ่งเป็นตลาดศักยภาพของไทยทั้งสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป เพื่อใช้ดูไบเป็นฐานสร้างความเชื่อมโยงเข้าสู่ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกา
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันประเทศไทยมีความตกลง FTA ที่มีผลบังคับใช้แล้ว 12 ฉบับ กับ 17 ประเทศคู่ค้า ครอบคลุมมูลค่าการค้า 2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เป็นสัดส่วนร้อยละ 60 ของมูลค่าการค้ารวมของประเทศ การทำ FTA ที่ผ่านมามีผลทำให้การค้าขยายตัวอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การค้าไทยกับอินเดียมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 7,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ, การค้าไทยกับออสเตรเลียมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 4,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าในปีนี้จะเจรจาเสร็จอีก 2 ฉบับ คือ FTA ไทย-ปากีสถาน และ FTA อาเซียน-ฮ่องกง
อินโฟเควสท์