- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 07 January 2017 14:06
- Hits: 17384
รัฐขยายผู้รับหลักประกันเพิ่มอีก 6 ประเภทธุรกิจ คาดยอดเพิ่ม 3 แสนคำขอ
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลังขยายผู้รับหลักประกันเพิ่มขึ้นอีก 6 ประเภทธุรกิจ เช่น บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทบริหารทรัพย์สิน บริษัทแฟ็กเตอริง ฯลฯ จากเดิมที่กำหนดให้เฉพาะสถาบันการเงินเป็นผู้รับหลักประกันฯ เท่านั้น รองรับ SMEs ตื่นตัวแห่ใช้สิทธิตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจเพียง 6 เดือน ทะลุ 1 แสนคำขอ มูลค่ากว่า 1.5 ล้านล้านบาท สิทธิเรียกร้องประเภทบัญชีเงินฝากธนาคารนำโด่ง 62% แบรนด์ดังเริ่มนำทรัพย์สินทางปัญญามาใช้เป็นหลักประกันฯ มูลค่ากว่า 2 พันล้านบาท คาดครบ 1 ปี เฉียด 3 แสนคำขอ มูลค่ารวมแตะ 3 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2559 ราชกิจจานุเบกษาได้ลงประกาศกำหนดให้นิติบุคคลเป็นผู้รับหลักประกันตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจเพิ่มเติม จำนวน 6 ประเภทธุรกิจ ได้แก่ 1) นิติบุคคลเฉพาะกิจซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ 2) ทรัสตีในนามทรัสต์ตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน 3) บริษัทหลักทรัพย์ กองทุนรวม หรือผู้แทนผู้ถือหุ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 4) นิติบุคคลซึ่งประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 5) บริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ และ 6) นิติบุคคลซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริง ทำให้มีผู้รับหลักประกันทางธุรกิจเพิ่มมากขึ้น โดยทั้ง 6 ประเภทธุรกิจ มีนิติบุคคลที่จะเป็นผู้รับหลักประกันได้เพิ่มขึ้นกว่า 200 ราย ซึ่งจากเดิมที่กำหนดให้เฉพาะสถาบันการเงินเป็นผู้รับหลักประกันฯ เท่านั้น
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักในการเพิ่มนิติบุคคลให้เป็นผู้รับหลักประกันมากขึ้น เพื่อรองรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีการตื่นตัวแห่ใช้สิทธิตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจเป็นจำนวนมาก โดยนับตั้งแต่ที่กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 26 ธันวาคม 2559) เกือบ 6 เดือน มีธุรกิจ SMEs ยื่นคำขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ รวม 109,107 คำขอ มูลค่าทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกัน 1,450,066 ล้านบาท โดยสิทธิเรียกร้องประเภทบัญชีเงินฝากธนาคารเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันมากที่สุด คิดเป็น 62% (มูลค่า 893,065 ล้านบาท) รองลงมาคือ สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ เครื่องจักร รถยนต์ เรือ เครื่องบิน คิดเป็น 20% (มูลค่า 287,682 ล้านบาท) และสิทธิเรียกร้องประเภทอื่นๆ เช่น ลูกหนี้การค้า สัญญาจ้าง สัญญาซื้อขาย สัญญาเช่าซื้อ คิดเป็น 16% (มูลค่า 230,114 ล้านบาท)
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ขณะเดียวกันมีธุรกิจสินค้าแบรนด์ดังของประเทศไทยนำทรัพย์สินทางปัญญา (เครื่องหมายการค้า) มาเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันด้วย โดยมีมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า หลังครบ 1 ปี ของการบังคับใช้กฎหมายฯ จะมีคำขอจดทะเบียนฯ ประมาณ 3 แสนคำขอ และมีมูลค่ารวมกว่า 3 ล้านล้านบาท ซึ่งสามารถแสดงได้ถึงความกระตือรือร้นของธุรกิจ SMEs ในการใช้สิทธิตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ
นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ได้ดำเนินการให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจแก่ผู้มีส่วนได้เสียมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอี (ผู้ให้หลักประกัน) สถาบันการเงิน (ผู้รับหลักประกัน) ผู้ประสงค์จะเป็นผู้บังคับหลักประกัน นักวิชาการแขนงต่างๆ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้เข้าใจถึงรายละเอียด และใช้ประโยชน์จากกฎหมายฯ ฉบับนี้ได้อย่างเต็มที่
สำหรับ ผู้รับหลักประกันใหม่ที่เพิ่มขึ้นอีก 6 ประเภทธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์ พร้อมเปิดติวเข้มแบบเจาะลึกให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจอย่างละเอียด เพื่อให้ผู้รับหลักประกันใหม่สามารถให้บริการแก่ผู้ประกอบธุรกิจในการนำสินทรัพย์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาใช้เป็นหลักประกันโดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันให้แก่เจ้าหนี้และยังสามารถใช้ทรัพย์สินนั้นในการประกอบธุรกิจต่อไปได้ โดยได้กำหนดติวเข้มระหว่างเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2560 ณ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ผู้รับหลักประกันใหม่สนใจเข้ารับการติวเข้ม สามารถติดต่อได้ที่ กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โทร 0 2547 5048-9 e-Mail : [email protected] หรือ สายด่วน 1570
พาณิชย์เร่งแผนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ปี 60 เดินหน้าผลักดันสินค้า 6 จังหวัดขึ้นทะเบียน GI
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้มอบนโยบายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาเร่งส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของไทยให้ครบทั้ง 77 จังหวัด และส่งเสริมการขึ้นทะเบียน GI ไทยในต่างประเทศ เพื่อขยายตลาดสินค้า GI ไทยที่ศักยภาพ โดยล่าสุดได้มอบหมายให้รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาประสานงานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว พร้อมเดินทางเข้าพื้นที่ร่วมประชุมกับเกษตรกร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 20 ราย และเยี่ยมชมสวนของเกษตรกรในสินค้า 2 ชนิด คือ มะม่วงน้ำดอกไม้สระแก้ว และชมพู่เพชรคลองหาด ซึ่งเป็นสินค้าที่ทางจังหวัดได้คัดเลือกแล้วว่ามีชื่อเสียงและมีศักยภาพสูงของจังหวัดสระแก้ว
ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ออกสำรวจพื้นที่การปลูกสินค้าและให้คำแนะนำเพื่อให้มีการขึ้นทะเบียน GI เป็นผลไม้มะม่วงน้ำดอกไม้สระแก้ว และชมพู่เพชรคลองหาด รวมถึงรับทราบปัญหาในการขึ้นทะเบียน เพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐที่ครอบคลุมพื้นที่ได้รับความรู้ความเข้าใจ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการรอรับคำขอการขึ้นทะเบียนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการจัดทำคู่มือปฏิบัติงานสำหรับสมาชิกผู้ขอใช้ GI และการจัดทำแผนควบคุมตรวจสอบ เพื่อให้การใช้ GI เป็นเครื่องมือทางการค้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาด
โดย 2 สินค้าดังกล่าวมีคุณสมบัติ และเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัว ซึ่งเป็นผลมาจากแหล่งผลิต ตามสภาพภูมิอากาศ หรือ ปัจจัยแวดล้อมในพื้นที่ อาทิ มะม่วงน้ำดอกไม้สระแก้ว เป็นพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง เมื่อโตเต็มที่ผลจะมีน้ำหนักเฉลี่ยระหว่าง 300-500 กรัม ผลเป็นรูปกลมรีและยาว ทรงผลสวย สีเหลืองนวล เนื้อเยอะ เนื้อแน่นไม่เละ เมล็ดลีบบาง รสชาติหวานหอม ไม่มีเสี้ยนในเนื้อ นิยมรับประทานแบบสุก โดยการเก็บผลแก่มาบ่มจนสุกเพื่อรับประทานกันข้าวเหนียวมูลจะได้รสชาติหวาน อร่อย
ปัจจุบันมีการควบคุมคุณภาพด้วยระบบการตรวจสอบย้อนกลับตามมาตรฐาน GAP ครอบคลุมพื้นที่ทุกอำเภอใน จ.สระแก้ว โดยสถิติการส่งออกมะม่วงทุกสายพันธุ์ในปี 57 มีมูลค่าประมาณ 1,265 ล้านบาท ปี 58 มูลค่า 1,211 ล้านบาท สำหรับ 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) ส่งออกราว 1,098 ล้านบาท
ส่วนชมพู่เพชรคลองหาด เป็นชมพู่ที่เกิดจากการผสมพันธุ์ผสานของชมพู่ 5 สายพันธุ์ อาทิ ทูลเกล้าเพชรสามพราน เพชรจินดา เพชรน้ำผึ้ง และมานารากี มีลักษณะโดดเด่น คือ ผลใหญ่ ทรงระฆังคว่ำ เอวคอดในฤดูหนาวผิวชมพู่จะมีสีแดงเลือดนกตลอดผล เนื้อแน่น รสหวาน กรอบ เนื้อในเมื่อผ่าออกมาจะตัน มีสีเขียวอ่อนมีความหวานสูงถึง 12.5 บริกซ์ ผลโต น้ำหนักดี มีการเพาะปลูกครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอจาก 9 อำเภอในสระแก้ว อาทิ คลองหาด เขาฉกรรจ์ วัฒนานคร และอรัญประเทศ
คุณลักษณะเฉพาะนี้ จึงทำให้ชมพู่เพชรคลองหาดได้รับ ความนิยมไม่เฉพาะในประเทศ แต่เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศด้วย อาทิ อินโดนีเซีย จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ไม่น้อยกว่าปีละ 400 ตัน ทั้งนี้ในปี 58 การส่งออกชมพู่รวมทุกสายพันธุ์จากไทยไปต่างประเทศมีมูลค่าราว 128 ล้านบาท โดย 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) ส่งออกราว 107 ล้านบาท
สำหรับ แผนในปี 2560 กรมฯ มีแผนประชุมส่งเสริมการขึ้นทะเบียนหนึ่งจังหวัดหนึ่งสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และลงพื้นที่แหล่งผลิตสินค้าอีก 6 จังหวัด ได้แก่ มะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร, นิลเมืองกาญจน์ จ.กาญจนบุรี, ปลาช่อนแม่ลา จ.สิงห์บุรี, จำปาดะ จ.สตูล, น้ำแร่เมืองนอง จ.ระนอง และหอยชักตีน จ.กระบี่ เป็นต้น โดยกรมฯ ได้ประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดเหล่านี้แล้ว คาดว่าจะจัดประชุมลงพื้นที่ดำเนินการได้แล้วเสร็จอย่างเร็วภายในกลางปี 2560
สินค้าที่ขึ้นทะเบียน GI แล้วมี 51 จังหวัด 71 สินค้า และจังหวัดที่ยังไม่ได้มีการขึ้นทะเบียน GI อีก 26 จังหวัด เช่น สังคโลกสุโขทัย (จ.สุโขทัย) กระท้อนตะลุง (จ.ลพบุรี) ทุเรียนสาลิกาพังงา (จ.พังงา) สับปะรดตราดสีทอง (จ.ตราด) เป็นต้น
อินโฟเควสท์
พาณิชย์ เปิดศูนย์ให้คำปรึกษาธุรกิจรับหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงผู้ประกอบการ SMEs ช่วยหาช่องทางทำเงินสนับสนุนส่งออกสินค้า
แนวหน้า : นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่าในปี 2560 ทิศทางการค้าต่างประเทศของไทยที่มี แนวโน้มดีขึ้นตลาดสำคัญเริ่มฟื้นตัว เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น เริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ยังมีความเสี่ยงจาก หลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นในเศรษฐกิจโลกที่การฟื้นตัว ยังเป็นไปอย่างล่าช้า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้ซื้อ และช่องทางการจำหน่าย ดังนั้นผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมความพร้อม และสร้างศักยภาพทางธุรกิจ หากรายใดมีความสามารถในการแข่งขันก็จะสามารถนำพาธุรกิจออกสู่ตลาดโลกได้
หนึ่งในงานใหญ่ที่กระทรวงพาณิชย์จะดำเนินการ ในปีหน้า คือ การเปิดศูนย์ให้คำปรึกษาทางธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์ หรือ MOC Business Solution Center วัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ และเป็นพี่เลี้ยงให้ผู้ประกอบการ รวมทั้งช่วยแก้ไขปัญหาที่เป็นข้อติดขัด เพื่อให้ทำธุรกิจได้ โดยจะเน้นการบูรณาการ งานในกระทรวงและนอกกระทรวง รวมทั้งนำนโยบายประชารัฐมาช่วยสนับสนุนงาน
เป้าหมายสำคัญ คือ กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ในหลายๆ กลุ่ม เช่น ผู้ประกอบการที่มีความคิดสร้างสรรค์ แต่ไม่มีช่องทาง หรือกลุ่มที่มีความพร้อมแล้วแต่ไม่มีตลาดรองรับ รวมทั้งกลุ่มเกษตรกรที่มีความพร้อมในการทำการตลาด โดยกระทรวงจะเร่งสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการเน้นการให้ความรู้ด้านการตลาด รสนิยม เงื่อนไข และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดทำ Business Module/Business Plan ผู้ประกอบการรายใดขาดเทคโนโลยีหรือเงินลงทุน กระทรวงก็จะช่วยเป็น ผู้เชื่อมโยงกับแหล่งเทคโนโลยีหรือแหล่งเงินทุนให้ รวมทั้งช่วยเป็นพี่เลี้ยงในการทำการค้า on line ซึ่งกระทรวงมี Platform คือ thaitrade.com ที่เชื่อมโยง กับ Website สากลอยู่แล้ว
สำหรับ กลุ่มเกษตรกร กระทรวงพาณิชย์ จะใช้นโยบายการตลาดนำการผลิต เกษตรกร จึงจำเป็นต้องรู้ความต้องการของตลาด แนวโน้มราคาสินค้า พฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อที่จะได้ผลิตสินค้าที่ดีให้กับผู้ส่งออก รวมทั้งหากมีความพร้อมจะขายเองบ้าง ก็ทำได้ ยกตัวอย่างกลุ่มเกษตรกรขายข้าวอินทรีย์ในจังหวัดยโสธร กระทรวงเข้าไปช่วยให้ ความรู้ด้านการตลาด ช่องทางการจำหน่าย การบริหาร จัดการ ที่จำเป็น จนสามารถนำสินค้าข้าวอินทรีย์ขึ้น website thaitrade.com ได้แล้ว
บริการของกระทรวงจะมีความพิเศษ คือ ช่วย ให้ผู้ประกอบการผลิตแล้วขายได้ กระทรวงมีเครือข่าย หน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ 65 ประเทศ ทั่วโลก มีองค์ความรู้ด้านการตลาดสามารถ ช่วยเอกชนจับคู่ทางธุรกิจได้โดยจะเน้น B2B เป็นหลัก ในกิจกรรมทางการค้าต่างๆ ที่กระทรวงจะมีการทำนัดหมายล่วงหน้าและมีการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง
ศูนย์ MOC Business Solution Center นี้จะให้บริการภายใต้ส่วนบริการ One Stop Service ชั้น 1 ของกระทรวงพาณิชย์ เชื่อมั่นว่าศูนย์นี้ จะช่วย ผู้ประกอบการให้ก้าวผ่านปัญหาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค ทางการค้าได้ และขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการ ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมภายใต้โครงการนี้ คือ งาน Start to Smart from Pain to Gain ที่จะ เปิดตัวระหว่างวันที่ 16-18 กุมภาพันธ์ 2560 ที่รอยัล พารากอนฮอลล์ 1-3 ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยจะมีบริการครบวงจรให้ผู้ประกอบการได้ใช้บริการอีกด้วย
พาณิชย์ เผยเกาหลีใต้ออกกม.ให้ยื่นขอรับการแต่งตั้งผู้ออกเครื่องหมายรับรองสินค้าอาหาร เริ่ม 1 ม.ค.60
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยรายงานสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ว่า กระทรวงความปลอดภัยอาหารและยาของสาธารณรัฐเกาหลี (Ministry of Food and Drug Safety หรือ MFDS) ได้ออกกฎหมายให้หน่วยงานที่เป็นผู้ออกเครื่องหมายรับรองสินค้าอาหารและปศุสัตว์ของประเทศผู้ส่งออกไปยังเกาหลีใต้ ต้องทำการยื่นขอรับการแต่งตั้ง (Designate) จาก MFDS โดยจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป ซึ่งเครื่องหมายรับรองฯ ประกอบด้วย HACCP, ISO 22000 และ GMP รวมถึงเครื่องหมาย Halal Kosher และ Vegan
"ขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เร่งประชาสัมพันธ์ไปยังผู้ส่งออกสินค้าอาหารและปศุสัตว์ และประสานงานหน่วยงานต่างๆ ของไทยที่ออกเครื่องหมายรับรองให้กับสินค้าอาหาร ให้เร่งดำเนินการขึ้นทะเบียนขอรับการแต่งตั้งจาก MFDS เพื่อป้องกันการถูกปฏิเสธการนำเข้าสินค้าของเกาหลีใต้ ในเบื้องต้นได้ประสานงานไปยังสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กรมปศุสัตว์ และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยแล้ว" รมว.พาณิชย์กล่าว
ด้านนางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศอยู่ระหว่างติดตามความคืบหน้ากับหน่วยงานต่างๆ ในการยื่นขอรับการแต่งตั้ง (Designate) จาก MFDS ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการส่งออกสินค้าอาหารและปศุสัตว์ไทยควรเตรียมความพร้อมหากมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนฉลากบรรจุภัณฑ์ให้สอดคล้องกับกฎระเบียบดังกล่าวของเกาหลีใต้
นอกจากนี้ ในส่วนของเครื่องหมายหรือตราสัญลักษณ์ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้มอบให้แก่สินค้าอาหาร ได้แก่ Thailand Trust Mark (TTM) Thai Select และ Prime Minister’s Export Award (PM Award) นั้น สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล อยู่ระหว่างประสานงานชี้แจงกับ MFDS ว่า ทั้ง 3 เครื่องหมายนี้เป็นเครื่องหมายประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าไทย เพื่อรับรองว่าสินค้านั้นๆ เป็นสินค้าไทยอย่างแท้จริง มิใช่เป็นการรับรองด้านความปลอดภัยของสินค้าอาหาร โดยอยู่ระหว่างการขออนุญาตจาก MFDS ให้ใช้เครื่องหมายดังกล่าวบนฉลากสินค้าอาหารและปศุสัตว์ไทยได้ต่อไป
ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 (มกราคม – ตุลาคม) ไทยส่งออกสินค้าอาหารไปยังเกาหลีใต้มูลค่า 339.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าอาหารที่ส่งออกอันดับต้นๆ ได้แก่ สินค้าประมง น้ำตาลทราย อาหารทะเลแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ไก่และไก่แปรรูป
อินโฟเควสท์