- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 05 August 2014 22:12
- Hits: 2684
‘พาณิชย์’แนะบุกตลาด‘ลิทัวเนีย’
แนวหน้า : นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยรายงานสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโคเปนเฮเกน ว่า กลุ่มประเทศบอลติก (ลัตเวีย, เอสโตเนีย, ลิทัวเนีย) ถือเป็นตลาดที่ศักยภาพแห่งหนึ่ง โดยลิทัวเนียได้รับการอนุมัติเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ในลำดับที่ 19 และกำลังจะเปลี่ยนมาใช้สกุลเงินยูโรในเดือนมกราคม 2558 ทำให้สกุลเงินยูโรครอบคลุมประชากรกว่า 330 ล้านคน ซึ่งกลุ่มประเทศบอลติกแยกตัวจากสหภาพโซเวียต เมื่อปี 2534 หลังผ่านพ้นวิกฤติทางเศรษฐกิจยุโรป เมื่อปี 2552 เศรษฐกิจได้พัฒนาและเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันการเติบโตทางเศรษฐกิจกลับขึ้นมาผงาดอยู่ในอันดับสูงของอียู โดยเฉพาะในลัตเวีย และลิทัวเนีย
ทั้งนี้ เศรษฐกิจของลิทัวเนียมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 24 ของอียู มีประชากร 3.55 ล้านคน ในปี 2557 คาดว่าอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ 2.7% รายได้เฉลี่ยต่อหัว 13,850 เหรียญสหรัฐ ธนาคารโลกจัดอันดับให้ลิทัวเนียมีความน่าลงทุนมากที่สุดอันดับที่ 17 ของโลก ในปี 2558 คาดว่ากลุ่มประเทศบอลติจะมีอัตรการเติบโตที่ดีขึ้น คือ ลัตเวีย 3.2% ลิทัวเนีย 3.8% และเอสโตเนีย 2.3% เนื่องจากภาคการส่งออกที่คาดว่าจะบวกเพิ่มขึ้น การเข้าเป็นสมาชิกอียูในปี 2558 คาดว่าจะกระตุ้นภาคการลงทุนมากขึ้น
นางสุจิตรา ถนอมทรัพย์ สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก กล่าวว่า ปัจจุบันไทย ยังไม่ค่อยให้ความสนใจในตลาดลิทัวเนียมากนัก เนื่องจากเป็นตลาดเล็ก แต่สินค้าและบริการหลายประเภทมีโอกาสในตลาดนี้ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร ผัก ผลไม้ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น อุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพที่สามารถเข้าไปลงทุนในลิทัวเนียได้ อาทิ อุตสาหกรรมการผลิต ICT วิทยาศาสตร์การแพทย์ การบริการด้านการขนส่ง ร้านอาหารไทย สปา และนวดแผนไทย
โดยแนวโน้มตลาดและความต้องการสินค้าและบริการของกลุ่มประเทศบอลติกนั้น ประชาชนมีความนิยมแบบประเทศตะวันตกมากขึ้น จึงมีความนิยมสินค้าแบรนด์ดังต่างๆ จากทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น และกลุ่มวัยทำงาน รวมถึงวัยกลางคน ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องศึกษาความต้องการของตลาดให้ดี ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกปี 2557 สินค้าที่ส่งออกได้มาก อาทิ เคมีภัณฑ์ มูลค่า 10.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ผลิตภัณฑ์ยาง 8.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป 6 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น