- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 23 December 2016 23:13
- Hits: 17717
กรมการค้าต่างประเทศ เผยญี่ปุ่นจ่อตัดสิทธิ GSP สินค้าไทย เริ่ม 1 เม.ย.62 ระบุไม่กระทบผู้ประกอบการ มีแค่ 14 สินค้าที่ถูกตัดรายการ
กรมการค้าต่างประเทศ เผยญี่ปุ่นจ่อตัดสิทธิ GSP สินค้าไทย ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.62 ยันไม่กระทบผู้ประกอบการ เหตุสินค้าที่ถูกตัดมีเพียง 14 รายการ เตรียมแก้เกมนำสินค้าที่ถูกตัดทั้งหมดเข้าเจรจาลดภาษีภายใต้ JTEPA ที่จะเริ่มมีการทบทวนตั้งแต่ปี 60
นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นได้ทำการปรับเกณฑ์และเงื่อนไขใหม่ในการพิจารณาตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ที่ให้กับประเทศกำลังพัฒนา โดยญี่ปุ่นจะตัดสิทธิ GSP ที่ให้กับสินค้าไทยตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2562 มีสินค้าที่จะถูกตัดสิทธิจำนวน 14 รายการ มูลค่า 15.79 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นข้อมูล ณ วันที่ 30 พ.ย.2559 และในจำนวนนี้ มีสินค้าเพียง 6 รายการที่จะได้รับผลกรทะบจากการตัดสิทธิดังกล่าว คือ ซอร์บิทอล, กาแฟคั่วที่แยกคาเฟอีนออกแล้ว, เอทิลแอลกอฮอล์ที่ไม่ได้แปลงสภาพอื่นๆ, ไม้อัดพลายวูดอื่นๆ, ไม้ลามิเนต และไม้บล็อคบอร์ด
โดยในการติดตามแก้ไขปัญหาและเตรียมรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้น กรมฯ ได้เชิญผู้ประกอบการไทยที่มีการส่งออกสินค้าที่ขอใช้สิทธิ GSP ไปยังตลาดญี่ปุ่นจำนวน 24 รายมาหารือและแสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการพิจารณาสิทธิ GSP ของญี่ปุ่นแล้ว ซึ่งพบว่ามีผู้ประกอบการเพียง 1 ราย คือ ผู้ที่ส่งออกซอร์บิทอลไปยังญี่ปุ่น ส่วนรายอื่นๆ ไม่ได้รับผลกระทบ
“กรมฯ ได้ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการแล้วว่า กระทรวงพาณิชย์กำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ โดยกำหนดแนวทางการผลักดันการเจรจารายการสินค้าที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวไว้ในการทบทวนทั่วไปภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ที่จะมีขึ้นในปี 2560 และหากสามารถผลักดันให้เกิดการลดภาษีได้ก่อน 1 เม.ย.2562 ไทยก็จะไม่ได้รับผลกระทบเลยจากการตัดสิทธิ GSP ของญี่ปุ่น”นางดวงพรกล่าว
สำหรับ กลุ่มสินค้าที่จะนำขึ้นไปเจรจาในการทบทวนข้อตกลง JTEPA นั้น ประกอบด้วย กลุ่มรายการสินค้าที่จะนำมาเจรจาอีกครั้ง (R-negotiation) และกลุ่มสินค้าที่ได้รับการยกเว้นจากข้อผูกพันทางภาษี (Exclusion) ซึ่งจะรวมถึงกลุ่มสินค้าที่ไทยถูกญี่ปุ่นตัดสิทธิ GSP ด้วย
นางดวงพรกล่าวว่า การตัดสิทธิ GSP ดังกล่าว ไม่มีผลใดๆ ต่อความตกลง JTEPA และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ที่มีอยู่เดิม เพราะความตกลงดังกล่าวเป็นพันธกรณีระหว่างประเทศ ไม่เหมือนระบบ GSP ซึ่งเป็นระบบที่ประเทศพัฒนาแล้วให้กับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุดฝ่ายเดียว ซึ่งกรมฯ ขอให้ผู้ส่งออกวางใจได้ว่า การลดอัตราภาษีภายใต้JTEPA และ AJCEP ยังคงอยู่เหมือนเดิม และจะดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะสินค้าหลายรายการอยู่ในกลุ่มที่มีการทยอยลดภาษีลงทุกปีอยู่แล้ว
ทั้งนี้ ในส่วนของเกณฑ์และเงื่อนไขใหม่ ในการพิจารณาการตัดสิทธิ GSP ญี่ปุ่น ประกอบด้วย 1. เป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (Upper-Middle Income Country) ตามที่ธนาคารโลก (World Bank) กำหนดติดต่อกัน เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยเกณฑ์ในปี 2559 กำหนดให้มีมูลค่ารายได้ประชาชาติ GNI per capita ระหว่าง 4,036–12,475 เหรียญสหรัฐ และ 2.ประเทศนั้น มีสัดส่วนการส่งออกมากกว่าร้อยละ 1 ของปริมาณการส่งออกไปทั่วโลกเป็นระยะเวลาติดต่อกัน 3 ปี ซึ่งจากเกณฑ์ดังกล่าว จะทำให้ไทยไม่ได้สิทธิ GSP ญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2562 เนื่องจากไทยที่มี GNI 5,620 เหรียญสหรัฐ และสัดส่วนการส่งออกไปทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2556-2558 ร้อยละ 1.21 1.20 และ 1.29 ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกหรือผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับ GSP ญี่ปุ่น JTEPA และ AJCEP รวมทั้งติดตามข่าวสารทางการค้า และการจัดสัมมนาได้ที่สายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ 1385 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ โทรศัพท์ 02-547-5098 หรือเว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ http://www.dft.go.th
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย