WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

MOCพมพชนก วอนขอพรพาณิชย์ เผยส่งออก ต.ค.59 ติดลบ 4.2% ส่วน 10 เดือนปี 59 ติดลบ 1.0% คาดทั้งปีกลับมาเป็นบวก

     พาณิชย์ เผยส่งออก ต.ค.59 ติดลบ 4.2% ส่วน 10 เดือนปี 59 ติดลบ 1.0% พบทั้งสินค้ากลุ่มเกษตร -อุตสาหกรรมชะลอตัว แม้ศก.สหรัฐฯเริ่มฟื้น แต่ตลาดญี่ปุ่น - ยุโรปยังซบเซา แต่พบการส่งออกของไทยยังดีกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่หดตัว 4.1% พร้อมคาดทั้งปีกลับมาเป็นบวก  หลังสินค้าเกษตร - น้ำมันเริ่มฟื้น แถมเงินบาทอ่อนค่าช่วยหนุน ส่วนนำเข้า ต.ค.ขยายตัว 6.5% ส่วน 10 เดือนปี 59 ติดลบ 5.9% ขณะที่ดุลการค้า ต.ค. เกินดุล 248 ล้านเหรียญ 10 เดือนยอดเกินดุลการค้า 1.82 หมื่นล้านเหรียญ

   นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือน ต.ค.2559  มีมูลค่า 1.78 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 4.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนการนำเข้าในเดือน ต.ค. มีมูลค่า 1.75 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 6.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้าประมาณ 0.25 พันล้านดอลลาร์                  

    ขณะที่ช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกลดลง 1.0% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่การนำเข้า ลดลง 5.9% ส่งผลให้มียอดเกินดุลการค้า 1.82 หมื่นล้านดอลลาร์

      "การส่งออกที่ลดลง เพราะการค้าโลกที่ขยายตัวต่ำ ราคาน้ำมัน - ทองคำก็ยังมีผล และมีเรื่องของฐานที่สูงในปีที่แล้ว แต่คาดว่าการส่งออกทั้งปี 59 จะยังเป็นบวกได้เล็กน้อยจากปีก่อน " นางสาวพิมพ์ชนก  กล่าว

     จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่แม้จะมีสัญญาณบวกที่ดี  จากการจ้างงานและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจในภาพรวมยังคง ซบเซา และสหภาพยุโรปที่ยังฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า รวมถึงกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและลาตินอเมริกาที่กำลังซื้อชะลอตัวจากผลของราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน 

     การส่งออกที่ลดลงเป็นการลดลงของทั้งกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและเกษตรสำคัญ   การลดลงของสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ รถยนต์และส่วนประกอบ ทองคำ และเหล็ก ส่วนหนึ่งเป็นผล มาจากฐานมูลค่าการส่งออกที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การลดลงของสินค้าเกษตรสำคัญ โดยเฉพาะ น้ำตาลทราย ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และยางพารา เป็นผลจากการลดลงของปริมาณเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การส่งออกของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศส่วนใหญ่ ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและสอดคล้องกับ  ภาวะเศรษฐกิจโลก โดยส่วนแบ่งตลาดของไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นในเกือบทุกตลาด และการส่งออกไปยังตลาดสำคัญ อาทิ ญี่ปุ่น จีน เอเชียใต้ และ CLMV ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

     ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ การส่งออกของโลก พบว่า การส่งออกของไทยอยู่ในสถานะที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยของโลก โดยการส่งออกโลกเฉลี่ยหดตัวร้อยละ 4.1 ขณะที่การส่งออกไทยเฉลี่ยหดตัวที่ร้อยละ 1.0 เท่านั้น

    สำหรับ แนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี คาดว่าจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นและมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนสุดท้าย โดยมีปัจจัยสำคัญจากแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรสำคัญ และราคาน้ำมันดิบที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงทิศทางค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่า ส่งผลให้การส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่ยังช้ากว่าที่คาด อีกทั้งความไม่ชัดเจนของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยกดดันต่อการค้าโลกในระยะต่อไป

   ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์การส่งออกปี2559 ไว้ที่ ร้อยละ (-1.0) ถึง (0.0) เช่นเดิม

   ด้านมูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท เดือนตุลาคม การส่งออกมีมูลค่า 614,152 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 7.1   เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 613,120 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.4 ส่งผลให้การค้าเกินดุล 1,032 ล้านบาท รวม 10 เดือนแรก การส่งออกมีมูลค่า 6,250,926 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9) การนำเข้ามีมูลค่า 5,678,773 ล้านบาท (หดตัวร้อยละ 1.2) และการค้าเกินดุล 572,153 ล้านบาท

   มูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์ สรอ.เดือนตุลาคม การส่งออกมีมูลค่า 17,783 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 17,535 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ร้อยละ 6.5 ส่งผลให้การค้าเกินดุล 248 ล้านดอลลาร์ สรอ.  ซึ่งเป็นการเกินดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 ติดต่อกัน รวม 10 เดือนแรก การส่งออกมีมูลค่า 178,251 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หดตัวร้อยละ 1.0) การนำเข้ามีมูลค่า 160,073 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หดตัวร้อยละ 5.9) และการค้าเกินดุล 18,178 ล้านดอลลาร์ สรอ.

    อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร กลับมาหดตัวอีกครั้งหลังจากขยายตัวสูงสุดในรอบ 2 ปีเมื่อเดือนที่ผ่านมา โดยหดตัวร้อยละ 8.1 (YoY) เป็นผลจากการลดลงของปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ น้ำตาลทราย (ส่งออกไปตลาดเวียดนาม อินโดนีเซีย และกัมพูชา) ข้าว (ส่งออกไปตลาดเบนิน สหรัฐฯ และจีน) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (ส่งออกไปตลาดจีน อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น) และยางพารา (ส่งออกไปตลาดจีน มาเลเซีย และญี่ปุ่น) โดยลดลงร้อยละ 52.6 24.4 22.9 และร้อยละ 5.0 ตามลำดับ

     ด้านสินค้าที่ยังขยายตัวดีต่อเนื่อง ได้แก่ ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป  กุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6 10.0 12.5 และร้อยละ 9.5 ตามลำดับ รวม 10 เดือนแรก การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวร้อยละ 5.4

    ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงครั้งแรกในรอบ 3 เดือน โดยลดลงร้อยละ 2.7 (YoY) เป็นผลจากการหดตัวของ น้ำมันสำเร็จรูป คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ทองคำ รถยนต์และส่วนประกอบ เหล็ก และวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ (หดตัวร้อยละ 27.6 9.3 40.0 5.8 52.4 และร้อยละ 24.5 ตามลำดับ) อย่างไรก็ดี สินค้าสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ เคมีภัณฑ์ (ส่งออกไปตลาดจีน อินโดนีเซีย และอินเดีย) อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์/ไดโอด (ส่งออกไปตลาด สหรัฐฯ ฮ่องกง และมาเลเซีย) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (ส่งออกไป จีน ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย) เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ส่งออกไปตลาดอินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ และอาร์เจนตินา) และโทรศัพท์และอุปกรณ์ (ส่งออกไปตลาด ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสิงคโปร์) โดยขยายตัวร้อยละ 17.1  87.0  10.0  19.7  และร้อยละ 26.2 ตามลำดับ รวม 10 เดือนแรก การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 0.9

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!