- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Monday, 28 November 2016 19:50
- Hits: 10657
ภาครัฐ จับมือเอกชน ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสู่ยุค 4.0 ยกระดับทักษะแรงงาน จัดตั้งประชารัฐคณะ 14 สานงานต่อเนื่อง
ภาครัฐและเอกชน ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่ยุค 4.0 เน้นยกระดับแรงงานทักษะสูง พร้อมจัดตั้งประชารัฐคณะ 14 สานงานต่อไม่สะดุดแม้เปลี่ยนรัฐบาล คาดมีความชัดเจนภายในสิ้นปีนี้
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา ‘F.T.I. Outlook 2017’ ภายใต้หัวข้อ ‘อุตสาหกรรม 4.0 จุดเปลี่ยนประเทศไทย’ว่า กระทรวงแรงงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงศึกษาธิการ อยู่ระหว่างหารือบูรณาการทำงานร่วมกับภาคเอกชน ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าไทย จัดตั้งคณะทำงานประชารัฐ คณะที่ 14 เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่ยุค 4.0 โดยจะเน้นการยกระดับแรงงานให้มีทักษะสูง สามารถทำงานได้ในยุคที่ต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นพื้นฐานการผลิต จากปัจจุบันแรงงานไทย 60% อยู่อุตสาหกรรม 1.0 แรงงาน 30% อยู่ในระดับ 2.0 และแรงงาน 10% อยู่ในระดับ 3.0 เพื่อผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสู่มือผู้บริโภค ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติงบประมาณบูรณาการปี 2560-2561 ดำเนินแผนงานดังกล่าวแล้ว
"แม้ในอนาคตจะมีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่คณะทำงานประชารัฐที่จัดตั้งขึ้นก็จะช่วยให้สามารถดำเนินงานต่อไปได้อย่างไม่สะดุด โดยล่าสุด นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เห็นชอบในหลักการแล้ว น่าจะมีความชัดเจนภายในสิ้นปีนี้ พร้อมมอบหมายให้ตนเองและส.อ.ท.เป็นตัวแทนในการจัดตั้ง โดยงบประมาณส่วนใหญ่จะมาจากภาคเอกชน ขณะที่ภาครัฐจะสนับสนุนเรื่องสิทธิประโยชน์แก่อุตสาหกรรม 4.0 ที่จะเข้ามาลงทุน"นายสุวิทย์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยต้องรับว่าหากอุตสาหกรรมไม่ปรับตัว ภายในปี 2563 จะมีแรงงานใน 15 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก หายไปจากระบบถึง 7 ล้านราย ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องเร่งผลิตบุคลากรตอบโจทย์อุตสาหกรรมยุคใหม่ใน 3-5 ปี จากปัจจุบันที่ไทยติดอยู่ใน 3 กับดัก คือ กับดักรายได้ปานกลาง ไม่สามารถสร้างความร่ำรวยได้มากกว่าที่เป็นอยู่ กับดักของความเหลื่อมล้ำ ที่มีผู้รายได้สูงอยู่ในลักษณะกระจุกตัว และกับดักของความไม่สมดุล ที่ไม่สามารถสร้างความร่ำรวยอย่างยั่งยืนได้
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าส.อ.ท.วางเป้าหมายในการยกระดับภาคอุตสาหกรรม 2.0 เป็นอุตสาหกรรม 3.0 ภายใน 5 ปี โดยส.อ.ท.จะดึง 30 บริษัทที่มีความพร้อมและสมัครใจนำร่องศึกษาความเป็นไปได้ในการยกระดับอุตสาหกรรม เพื่อคัดเลือกให้เหลือ 10 บริษัทที่มีศักยภาพสูงสุดหรือนำร่อง 5 ภูมิภาคก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ในปี 2568 และยังร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมจัดทำยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอุตสาหกรรม (ไทยแลนด์ อินดัสทรี 2025) รองรับการพัฒนาประเทศในอีก 10 ปีข้างหน้า
นางสุทธาภา อมรวิวัฒน์ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณชิย์ กล่าวว่าศูนย์มองอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2559 โต 3.2% เนื่องจากการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้าเห็นได้จากไตรมาส 3/2559 ขยายตัวได้เล็กน้อย 0.4% การลงทุนภาคเอกชนหดตัว 0.5% และการใช้จ่ายภาครัฐหดตัว 3.1% หลังจากภาครัฐเร่งเบิกจ่ายมาแล้วก่อนหน้านี้ ทำให้เศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายของปีนี้แผ่วลง
"แต่จากแนวโน้มการใช้จ่ายภาคเอกชนที่เริ่มฟื้นตัวโดยเฉพาะการขยายการลงทุนในกลุ่มธุรกิจภาคบริการ และอานิสงส์โครงการลงทุนพื้นฐานขนาดใหญ่ภาครัฐในช่วงที่ผ่านมามีความชัดเจนขึ้น และการส่งออกที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นแรงส่งไปยังเศรษฐกิจที่หน้าให้ขยายตัวต่อเนื่องได้ โดยไออีซีคาดเศรษฐกิจไทยปี 2560 จะสามารถขยายตัวเร่งขึ้นได้ที่ 3.3%"นางสุทธาภา กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย