- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 17 November 2016 12:16
- Hits: 5893
ก.พาณิชย์ ผลักดันโครงการหนึ่งจังหวัดหนึ่งสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หวังเป็นเครื่องมือทางการค้าเพิ่มมูลค่า กระจายรายได้สู่ชุมชน
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าในปี 2560 กระทรวงพาณิชย์จะจัดทำโครงการส่งเสริมหนึ่งจังหวัดหนึ่งสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ โดยจะจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกสำรวจสินค้า และให้คำแนะนำ เพื่อให้มีการขึ้นทะเบียน สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และเพื่อทราบปัญหาในการขึ้นทะเบียน นอกจากนี้ยังจะจัดทำข้อกำหนดมาตรฐานของสินค้า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ การควบคุมคุณภาพของสินค้า ทั้งนี้โดยหวังว่าจะเป็นเครื่องมือทางการค้าเพื่อเพิ่มมูลค่า และเป็นการสร้างความแตกต่าง เพื่อเพิ่ม ขีดความสามารถในการแข่งขัน
โดยประโยชน์ของการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ได้แก่
- คุ้มครองผู้ผลิต เพื่อป้องกันมิให้มีการอ้างชื่อหรือเครื่องหมายแสดงแหล่งผลิตสินค้าโดยมิชอบ
- เพิ่มมูลค่าของสินค้าให้ผู้ผลิต
- ส่งเสริมอุตสาหกรรมท้องถิ่นด้วยการช่วยกระจายรายได้สู่ชนบท
- สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน
- รักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น คุ้มครองผู้บริโภค ป้องกันไม่ให้ประชาชนสับสนหรือหลงผิดในแหล่งภูมิศาสตร์ของสินค้า
สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ GI ช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าไทย กล่าวคือ ทำให้กลุ่มผู้บริโภคได้รับรู้ถึงคุณภาพอันมีเอกลักษณ์พิเศษที่เชื่อมโยงกับแหล่งภูมิศาสตร์ พื้นที่ขอบเขตการผลิตที่มีจำกัดส่งผลให้กำลังการผลิตสินค้าที่ได้ ในแต่ละปีมีจำกัด เมื่อความต้องการของผู้บริโภคมีเพิ่มมากขึ้น แต่อุปทาน (Supply) มีจำกัดส่งผลให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นตามกลไกตลาด นอกจากนี้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งที่มา ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ถึงคุณภาพที่จะได้รับส่งผลให้ผู้บริโภคยินดีที่จะจ่ายให้ในราคาที่สูงขึ้นกว่าสินค้าทั่วไป
ปัจจุบันมีสินค้าของไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียน รวม 71 รายการจาก 51 จังหวัด และสินค้าต่างประเทศ ที่ขึ้นทะเบียนในไทย 12 รายการ จาก 7 ประเทศ และกรุงเทพฯ มีสินค้าที่เตรียมจะขึ้นทะเบียน 2 รายการคือ ส้มบางมด และลิ้นจี่บางขุนเทียน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาการขึ้นทะเบียน โดยส้มบางมด ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นส้มที่มีรสชาติอร่อยที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทย มีรสชาติที่หวานแหลมอร่อยไม่เหมือนส้มเขียวหวานทั่วไป ซึ่งส้มบางมดแท้ๆ จะสังเกตได้จากผลจะกลมแป้น และผิวจะมีลายเหมือนสีหมากสุก ผิวจะมีสีเขียวอมเหลืองถึงเหลืองเข้ม ถ้าแก่จัดๆ จะมีสีออกส้มแดง เปลือกจะบางนิ่ม ไม่แข็ง รสชาติจะหวานจัดอมเปรี้ยวเล็กๆ
ถือเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นที่เหนือกว่าส้มเขียวหวานจากที่อื่นทั่วไป และแม้ว่าจะมีการนำกิ่งพันธุ์ส้มบางมดไปปลูกยังพื้นที่อื่นๆ กันมาก แต่ก็ไม่ได้รสชาติที่หวานเป็นเอกลักษณ์เหมือนส้มบางมด ส่วนลิ้นจี่ย่านบางขุนเทียน มีรสชาติไม่เหมือนที่อื่น มีขนาดกลางไม่ใหญ่มากผิวสีแดงคล้ำออกไหม้ รสหวานเม็ดเล็กเรียกว่า ‘เม็ดตาย’ เวลาแกะเปลือกออกจะมีเยื่อสีชมพูหุ้มเนื้อเอาไว้อีกชั้นหนึ่ง เนื้อไม่ฉ่ำน้ำ พันธ์ลิ้นจี่ที่ว่านี้เรียกว่า’ใบยาว’รสชาติอร่อยกว่าพันธุ์อื่นและขายดีที่สุด ปัจจุบันสินค้า ทั้ง 2 รายการนี้ นิยมบริโภคในประเทศและมีปริมาณไม่มาก ราคาสูง รสชาติดีทำให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค หากส่งเสริมให้มีการปลูกมากขึ้นเชื่อว่าจะสามารถขยายช่องทางการตลาดได้ทั้งในประเทศและในประเทศเพื่อนบ้าน
รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ยังกล่าวอีกว่า มีสินค้าของไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนในต่างประเทศแล้ว จำนวน 6 รายการ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ กาแฟดอยช้าง กาแฟดอยตุง ข้าวสังหยดเมืองพัทลุง จดทะเบียนที่ สหภาพยุโรป เส้นไหมพื้นบ้านอีสาน จดทะเบียนที่เวียดนาม และผ้าไหมยกดอกลำพูน จดทะเบียนที่อินโดนีเซีย ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นที่รู้จักของต่างประเทศ ขายได้ในราคาที่สูงกว่าราคาปกติ 2-3 เท่า และยังสร้างชื่อเสียงให้กับไทยอีกด้วย
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย