- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 13 November 2016 14:58
- Hits: 17863
พาณิชย์ เผย EU ปรับปรุงกฎระเบียบอาหารใหม่ Novel Foods เริ่มมีผล 1 ม.ค.61
นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สหภาพยุโรป (EU)ได้ปรับปรุงกฎระเบียบอาหารใหม่ (Novel Foods) แทนกฎระเบียบเดิมที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2540 (ค.ศ. 1997) เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร ซึ่งกฎหมายฉบับใหม่จะประกาศบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป
EU ได้นิยาม Novel Foods หมายถึง อาหารหรือส่วนประกอบของอาหารที่ไม่มีประวัติการบริโภคภายใน EU ก่อนวันที่ 15 พฤษภาคม 2540 โดย EU ได้แบ่ง Novel Foods ออกเป็น 4 ประเภทคือ 1.อาหารที่สกัด/พัฒนาด้วยนวัตกรรมใหม่ (New Substance) 2.อาหารที่ผลิตจากแหล่งโภชนาการใหม่ (New Source) 3.อาหารที่ผลิตจากกรรมวิธีรูปแบบใหม่ (New Technique) และ 4.อาหารแบบดั้งเดิมที่มีการบริโภคโดยทั่วไปนอกกลุ่ม EU (Traditional Food in 3rd Countries)
โดยสาระสำคัญของการปรับปรุงกฎระเบียบฯ ครั้งนี้ คือ 1.ลดขั้นตอนกระบวนการขออนุญาตโดยให้คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปมีอำนาจดำเนินกระบวนการเกี่ยวกับคำร้องขออนุญาตและพิจารณาอนุญาตทั้งหมด 2.กำหนดให้หน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรปเป็นผู้รับผิดชอบประเมินผลความปลอดภัยอาหารใหม่ 3.กำหนดให้ขึ้นบัญชีรายชื่ออาหารใหม่ไว้กับคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปก่อน จึงจะสามารถวางจำหน่ายใน EU ได้ 4.กำหนดช่วงระยะเวลาการประเมินความปลอดภัยอาหารใหม่ที่ชัดเจนมากขึ้น
5.อำนวยความสะดวกในการประเมินผลความปลอดภัยที่รวดเร็วสำหรับอาหารแบบดั้งเดิมที่มีการบริโภคนอก EU ที่มีประวัติว่าสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย 6.ให้การคุ้มครองและรักษาความลับของข้อมูลแก่อาหารใหม่ที่ผลิตจากเทคโนโลยีใหม่ที่ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและเกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค 7.ดำเนินการค้นหารายชื่ออาหารใหม่ที่ได้รับอนุญาตได้โดยง่ายในเว็บไซต์ของคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป และ 8.กำหนดให้ฉลากอาหารใหม่อยู่ภายใต้ข้อบังคับของกฎระเบียบ EU เลขที่ 1169 / 2011 ซึ่งกำหนดกฎระเบียบเกี่ยวกับฉลากทั่วไป
นางดวงพร กล่าวเสริมว่า ในส่วนของไทย กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 376) พ.ศ. 2559 เรื่อง อาหารใหม่ (Novel Foods) ซึ่งได้มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2559 โดยมีสาระสำคัญใกล้เคียงกับกฎระเบียบอาหารใหม่ของ EU ซึ่งอาหารที่ไม่มีประวัติการใช้บริโภคเป็นอาหาร หรือที่ผลิตขึ้นด้วยนวัตกรรมใหม่จะได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นอาหารในประเทศไทยได้ ต้องไม่มีผลกระทบ และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ รวมทั้งต้องสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค โดยที่ Novel Foods ต้องได้รับการประเมินผลความปลอดภัยทางวิทยาศาสตร์จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข หรือสถาบันโภชนาการแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล หรือสถาบันอาหาร สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมเท่านั้น จึงจะได้รับอนุญาตให้จำหน่ายหรือนำเข้ามาจำหน่ายได้
อินโฟเควสท์