- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 27 October 2016 18:14
- Hits: 11970
ก.พาณิชย์ ร่วมประชุม WEF-Mekong แลกเปลี่ยนแนวทางการรับมือเศรษฐกิจยุคที่ 4 เผยพร้อมขับเคลื่อนด้วยการผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่หลายสาขา
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เข้าร่วมการประชุม World Economic Forum on the Mekong Region (WEF-Mekong) ซึ่งจัดต่อเนื่องกับการประชุม ACMECS Summit ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 24-27 ตุลาคม 2559 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม
ในการประชุม WEF-Mekong ครั้งนี้ ผู้นำทั้งภาครัฐและเอกชนได้แลกเปลี่ยนมุมมองและแนวทางการปรับตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อรองรับความก้าวหน้าของการผลิตยุคที่ 4 (The Fourth Industrial Revolution) ซึ่งจะขับเคลื่อนด้วยการผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่หลายสาขา อาทิ นาโนเทคโนโลยี พันธุวิศวกรรม หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ รวมถึงการเชื่อมอินเตอร์เน็ตเข้ากับทุกสิ่ง ซึ่งจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในสินค้าและบริการ หากประเทศสามารถยกระดับแรงงานและผู้ประกอบการ รวมถึงกฎระเบียบรองรับเทคโนโลยีข้างต้นได้อย่างรวดเร็วก็จะสามารถรักษาบทบาทในห่วงโซ่การผลิตระหว่างประเทศต่อไปได้ และสามารถเข้าถึงระบบการค้าและตลาดในอนาคต รวมทั้งลดความเสี่ยงของการว่างงานซึ่งเกิดจากการมีเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ ตลอดจนลดความเหลื่อมล้ำที่จะเกิดจากความสามารถในการปรับใช้เทคโนโลยีได้แตกต่างกันของประชาชนด้วย
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมอภิปรายในหัวข้อ Inclusive Growth, Innovation, and the Fourth Industrial Revolution ร่วมกับผู้นำภาคเอกชนจากประเทศลุ่มน้ำโขงอีกหลายท่าน โดยได้นำเสนอถึงแนวทางตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งจากภายในอย่างมั่นคง และเชื่อมโยงตลาดทั้งอาเซียนและตลาดโลก เมื่อผู้ประกอบการทุกระดับมีความพร้อมเพียงพอ ก็จะก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมใหม่และเติบโตไปด้วยกันได้โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งไทยมองว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นี้ จะเป็นทั้งโอกาสในการพัฒนาภาคเกษตรให้เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพที่ส่งผลดีต่อรายได้ของเกษตรกรในวงกว้าง และเป็นโอกาสของ SME และวิสาหกิจชุมชนที่จะใช้ระบบดิจิตัลเป็นช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลตลาดและการค้ากับทั่วโลก รวมทั้งโอกาสของภาครัฐเองที่จะพัฒนาการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกทางธุรกิจรวมทั้งระบบสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี ยังเป็นความท้าทายของภาครัฐและเอกชนในประเทศต่างๆ ที่จะต้องร่วมกันเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนระบบการจัดการความเสี่ยงต่างๆ เพื่อรองรับบริบทการค้าในอนาคต ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ไทยได้จัดตั้งสถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรมขึ้น เพื่อแปลงผลงานวิจัยให้เป็นสินค้าที่ตลาดต้องการและเชื่อมต่อห่วงโซ่การผลิตไปสู่เศรษฐกิจฐานราก ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 และได้วางรากฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-curve) โดยตั้งอยู่บนหลักการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป และกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจให้ทั่วถึงและยั่งยืนด้วย
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย