WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

MOCอภรด ตนตราภรณ copyก.พาณิชย์เผยแผนพัฒนา SMEs ธุรกิจรูปแบบใหม่ และธุรกิจ Startup สู่การเป็น Smart Enterprise หวังให้เป็นเครื่องยนต์ใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยยุค 4.0

    นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญแก่ธุรกิจ SMEs ธุรกิจรูปแบบใหม่ และธุรกิจ Startup กระทรวงพาณิชย์มีเป้าหมายที่จะพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs เพื่อมุ่งสู่การเป็น Smart Enterprise โดยการสร้าง New Business Model ที่มีนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยี โดยจะนำร่องใน 2 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจแฟรนไชส์ และธุรกิจบนพื้นฐานนวัตกรรมและการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value base enterprise) รวมทั้งสร้างระบบนิเวศน์ทางการค้า (Trade Ecosystem) เพื่อให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของ Startup อาทิ การออกกฎหมายฉบับใหม่ที่ให้บุคคลคนเดียวสามารถจดทะเบียนนิติบุคคลได้ ทั้งนี้ การพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs และ Startup จะเป็นการทำงานร่วมกันของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อลดความซ้ำซ้อนและเพิ่มประสิทธิภาพ

     สำหรับ ธุรกิจแฟรนไชส์ นั้น กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะปรับแนวทางใหม่ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์เป็นรายสาขา อาทิ ธุรกิจอาหาร ธุรกิจเครื่องดื่ม เพื่อสร้าง Business Format มีการบริหารจัดการที่เต็มรูปแบบ และเตรียมความพร้อมที่จะขายรูปแบบธุรกิจมากกว่าการขายเฉพาะสินค้า ก่อนขยายสู่ตลาดต่างประเทศ โดยจะเป็นการทำงานเชื่อมโยงระหว่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งจะเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการโดยนำเทคโนโลยีของธุรกิจ Startup ที่เกี่ยวข้องทั้งด้านการเงิน บัญชี โลจิสติกส์ สินค้าคงคลัง และการตลาดมาใช้เป็นเครื่องมือให้ธุรกิจแฟรนไชส์

   ในส่วนของ ธุรกิจบนพื้นฐานนวัตกรรมและการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value base enterprise) มุ่งเน้นการสร้าง Global Brand โดยแบ่งแนวทางการพัฒนาออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่

    ระดับที่ 1 การขยายตลาดและใช้ตลาดเป็นตัวนำ (Demand-Driven & Market Expansion) โดย จะเน้นการสร้างแรงบันดาลใจ (inspiration) และปรับวิธีคิดของผู้ประกอบการ (Entrepreneur Mindset) มุ่งเน้นการใช้ตลาดเป็นตัวนำ (Demand driven) และเสริมทักษะการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value creation) ของสินค้า/บริการ

  ระดับที่ 2 แนวคิดการออกแบบและกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ (Branding Strategy & Design Thinking) โดยการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ (New business model) และการดำเนินธุรกิจด้วยความคิดสร้างสรรค์ ใน 4 กลุ่ม ได้แก่ สินค้าเกษตรและอาหาร (Food & Agriculture) สุขภาพและความงาม (Health & Wellness ธุรกิจบริการ (Hospitality & Service) และ สินค้าไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Product) โดยนำแนวคิดการออกแบบในกระบวนการธุรกิจ เพื่อสร้างความแตกต่าง

    ระดับที่ 3 การพัฒนาสินค้าเฉพาะกลุ่มและแบรนด์ที่เป็นฮีโร่ (Customization & Thai Brand Heroes) โดยการเสริมความเข้มแข็งสู่ตลาดต่างประเทศเป้าหมาย โดยมีการ Customize สินค้า/บริการให้เหมาะสมกับพฤติกรรมผู้บริโภคและความต้องการของแต่ละตลาด พร้อมทั้งสร้าง Thai Brand Heroes

  ระดับที่ 4 การสร้างที่ยืนในตลาดโลกและการสร้างแบรนด์ร่วมกับพันธมิตรที่มีชื่อเสียงในเวทีโลก(Global Presence & Co-Brand with Champions) โดยจะสนับสนุนการแสวงหาพันธมิตรในต่างประเทศให้แก่ผู้ประกอบการ อาทิ การสร้างแบรนด์ผ่านสื่อชั้นนำ ดีไซเนอร์ที่มีชื่อเสียง และแบรนด์ชั้นนำ เน้นการต่อยอดให้เกิดการสร้างแบรนด์ร่วมกัน (Co-Branding) และการสร้างเครือข่ายพันธมิตรในกลุ่มผู้ประกอบการและ Startup

   นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จะเป็น Platform กลางในการนำธุรกิจ Startup ที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการ การขนส่ง การตลาด มาให้ผู้ประกอบการ SMEs ใช้เป็นเครื่องมือในการยกระดับและพัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพระดับสากล

   ในเร็วๆ นี้ กระทรวงพาณิชย์จะจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ บนพื้นฐานนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อเป็นเวทีแสดงผลงานและเจรจาธุรกิจให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการนวัตกรรม และกลุ่ม Startup ในงาน Thailand Innovation and Design Expo 2015 หรือ 'T.I.D.E. 2016' ระหว่างวันที่ 15 – 18 กันยายน 2559 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และ งานแสดงสินค้าของขวัญและงานแสดงสินค้าของใช้ในบ้าน ครั้งที่ 42 หรือ งาน BIG+BIH Oct 2016  ณ ศูนย์แสดงสินค้าไบเทค บางนา

  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่า แนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs และธุรกิจรูปแบบใหม่ จะเสริมสร้างผู้ประกอบการไทยให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ การสร้างแบรนด์ การปรับการตลาดรูปแบบใหม่ และการพัฒนาขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมทั้งสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างเข็มแข็งและก้าวสู่ตลาดโลกต่อไปได้อย่างมั่นคงในอนาคต

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย 

ก.พาณิชย์จังหวัดขานรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ใช้กลไกประชารัฐเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น

    นางอภิรดี ตันตราภรณ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า พาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศขานรับนโยบายการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 นำกลไกประชารัฐมาแก้ไขปัญหาและสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจท้องถิ่น ซึ่งขณะนี้ หลายจังหวัดได้เริ่มดำเนินการนำร่องแล้ว ได้แก่ เพชรบูรณ์ นนทบุรี ขอนแก่น และน่าน

     รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า การทำงานในรูปแบบ'ทีมประชารัฐ'ระดับจังหวัด โดยให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เริ่มตั้งแต่การแบ่งหน้าที่ พื้นที่รับผิดชอบ ตลอดจนบูรณาการตามข้อตกลงร่วมกันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนและเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เจริญเติบโตอย่างเข้มแข็ง สมดุล และยั่งยืน  โดยขณะนี้ได้รับรายงานว่า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดหลายแห่งได้เริ่มดำเนินการขับเคลื่อนโครงการตามแนวทางประชารัฐแล้ว อาทิ

     'โครงการ กรีนมาร์เก็ต'จังหวัดเพชรบูรณ์ เกิดการรวมตัวเป็นกลุ่มการบริหารจัดการในรูปสหกรณ์ เพื่อการมีส่วนร่วมภายในชุมชน ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายจากพ่อค้าคนกลาง สร้างความเข้มแข็งในการเจรจาต่อรองกับผู้รับซื้อทั้งตลาดกลางหรือตลาดทุกระดับเพื่อให้ได้ราคาที่เป็นธรรม อีกทั้งสามารถจำหน่ายผลผลิตให้ถึงมือผู้บริโภคโดยตรง ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าจะได้รับสินค้าที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม ซึ่งโครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้ค้าปลีกชั้นนำของประเทศหลายราย ได้แก่ กลุ่มบริษัทค้าปลีกในเครือเซ็นทรัล เครือเดอะมอลล์กรุ๊ป บริษัทไร่กำนันจุล รวมทั้งได้รับการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนปลอดดอกเบี้ย และ วัสดุอุปกรณ์ จากหน่วยงานภาคเอกชนในพื้นที่ โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเพชรบูรณ์ได้มีส่วนร่วมส่งเสริมและสนับสนุนในการเชื่อมโยงภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน/ภาคประชาสังคมในท้องถิ่น รวมทั้งผลักดันให้เกิดวิสาหกิจชุมชน ยกระดับเกษตรกร/กลุ่มเกษตรกรให้มีความรู้ความสามารถและศักยภาพในการวางแผนผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม (Value Creation) ตั้งแต่กระบวนการผลิต การแปรรูป การบรรจุภัณฑ์ และได้รับการสนับสนุนจากคณะเจ้าหน้าที่จากบริษัท กสท. จำกัด (มหาชน) ในการจัดทำ QR Code ให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ

    นอกจากนี้ ยังได้มีการนำแนวทางประชารัฐมาสนับสนุนการจัดงานแสดงสินค้าในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ อาทิ งาน "ประชารัฐนนทบุรีร่วมใจ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย" ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดนนทบุรี กลุ่มผู้ประกอบการ และผู้ประกอบการศูนย์การค้าเดอะมอลล์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ OTOP กลุ่มผู้ผลิตสินค้าเกษตร สินค้าชุมชน ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดใกล้เคียง อาทิ กลุ่มอาหาร กลุ่มสมุนไพร กลุ่มเสื้อผ้า และกลุ่มของใช้  มาวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าซึ่งเป็นแหล่งรวมผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง ทำให้สามารถจำหน่ายสินค้าได้ปริมาณมาก กระจายรายได้สู่ชุมชนได้โดยตรง และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับฐานรากของ โดยมีกำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 26 กันยายน - 5 ตุลาคม 2559 ณ ชั้น 4 ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ สาขางามวงศ์วาน

     'ตลาดน้ำประชารัฐ'โครงการที่เกิดจากความร่วมมือของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดขอนแก่นร่วมกับศูนย์การค้าอู้ฟู่ เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ OTOP/SME/Biz Club ของกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธ์ โดยมีศูนย์การค้าอู้ฟู่ และพันธมิตรเอกชนสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดงาน ระหว่างวันที่ 30 กันยายน - 2 ตุลาคม 2559 โดยรูปแบบการจัดงานเป็นบรรยากาศของตลาดน้ำริมคลองจำลองขนาดย่อม ภายในงานมีเรือจำลองสาหรับวางผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรพร้อมทั้งบ้านริมคลอง รวมถึงการสาธิตเกี่ยวกับการเกษตร การจัดแสดงและจำหน่ายสินค้า ของผู้ประกอบการ OTOP SMEs สมาชิกเครือข่ายธุรกิจ Biz Club และ กลุ่มเกษตรกร Smart Farmer ของจังหวัดขอนแก่น และกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์ ทั้งนี้ ภายในงานกำหนดจัดกิจกรรมต่างๆบนเวทีทุกวัน อาทิ เวทีเสวนาในหัวข้อเกษตรอินทรีย์/การเกษตรเชิงท่องเที่ยว และกิจกรรมร่วมสนุกด้วยการเล่นเกมส์และชิงรางวัล

     สำนักงานพาณิชย์จังหวัดน่าน ได้ริเริ่มจัด งานกาแฟน่าน ครั้งที่ 1 'มีน้ำ..มีป่า...มีชีวิต...กาแฟน่าน'โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)ผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชนในพื้นที่ และหอการค้าจังหวัดน่าน เพื่อส่งเสริมเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มควบคู่กับการปลูกป่า อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาผู้ประกอบการภาคธุรกิจกาแฟ ประกอบด้วย กลุ่มปลูก กลุ่มแปรรูป และกลุ่มร้านชงกลุ่มโรงคั่ว เพื่อรองรับกระบวนการผลิตและการตลาดตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ทั้งนี้ ในงานดังกล่าว บริษัทปตท.ได้ลงนามซื้อกาแฟน่านจำนวน 70 ตัน ด้วย

    นางอภิรดี กล่าวด้วยว่า “กิจกรรมเหล่านี้นับเป็นผลสำเร็จจากความร่วมมือร่วมใจของภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร นับเป็นความภาคภูมิใจของรัฐบาลที่ได้นำกลไกประชารัฐมาใช้แก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร และผู้ประกอบการท้องถิ่น เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการค้าและการลงทุนของท้องถิ่นให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน”

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

รมช.พาณิชย์ แสดงปาฐกถาพิเศษ ‘ประเทศไทย 4.0 กับโอกาสด้านโลจิสติกส์การค้า’ฉลองครบรอบ 10 ปี รางวัล ELMA

     กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดงานฉลองครบรอบ 10 ปี รางวัล Excellent Logistics Management Award (ELMA) หรือ'รางวัลผู้ประกอบการที่มีความเป็นเลิศด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์' เพื่อประกาศเกียรติคุณผู้ส่งออกและผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย22 บริษัทที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ตั้งแต่ปีแรกถึงปีนี้

     ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานพร้อมแสดงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ Thailand 4.0: Building Value-based Economy with Excellent Logistics Management' หรือ ประเทศไทย 4.0 โดยมีคณะผู้บริหารและข้าราชการระดับสูงจากกระทรวงพาณิชย์ และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนผู้บริหารและตัวแทนสมาคมด้านโลจิสติกส์ พร้อมผู้บริหารบริษัทผู้ได้รับรางวัล ELMA ในรอบ 10 ปี

     รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวระหว่างเปิดงานว่า “ปัจจุบันธุรกิจบริการด้านโลจิสติกส์มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเพราะเป็นหัวใจสำคัญสำหรับผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้ส่งออก เสมือนหัวใจในการส่งมอบสินค้าให้ไปถึงปลายทางด้วยความถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมการผลิตให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงขยายฐานการส่งออกให้กว้างขวางกว่าเดิม”

    “อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในการดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์ได้ทวีความเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันกับบริษัทโลจิสติกส์ข้ามชาติขนาดใหญ่ที่เข้ามาให้บริการในประเทศไทย รวมถึงในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้น ผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ของไทยจึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถ การบริหารจัดการ และการบริการให้ได้มาตรฐานทัดเทียมระดับสากล เพื่อสร้างความได้เปรียบและพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จึงได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ไทยให้ก้าวไปสู่ความเป็นผู้นำระดับสากล สร้างความแข็งแกร่งบนเวทีการค้าอาเซียน และการค้าโลก โดยสนับสนุนและกระตุ้นให้ผู้ประกอบการมีการพัฒนาระบบการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพผ่านการจัดประกวดรางวัล ELMA”

 ดร.สุวิทย์ กล่าวทิ้งท้ายและแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัล ELMA ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันว่า “ตลอดระยะเวลา 10 ปี มีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่สามารถพัฒนาตนเองให้มีการบริหารจัดการองค์กร และการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านกระบวนการพิจารณาตัดสินรางวัล ELMA ที่เข้มข้น ซึ่งผู้ที่ผ่านการพิจารณาและได้รับรางวัล ELMA ก็คงจะมีความภูมิใจเป็นอย่างมาก รางวัล ELMA จึงถือเป็นรางวัลแห่งความภาคภูมิใจสำหรับผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ ที่แสดงถึงคุณภาพมาตรฐานความเป็นเลิศด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์ของท่าน ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับสากล และเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสร้างความแตกต่างและความได้เปรียบทางการแข่งขัน ผู้ที่ได้รับรางวัล ELMA ทุกองค์กรถือว่าท่านเป็นหนึ่งในแนวหน้าของธุรกิจโลจิสติกส์ไทยที่มีมาตรฐานการบริหารจัดการและการให้บริการทัดเทียมมาตรฐานสากล”

 งานดังกล่าวเป็นงานเลี้ยงอาหารค่ำซึ่งจัดขึ้นในค่ำวันนี้ (พุธที่ 21 กันยายน 2559) ณ ห้องเกรทรูม โรงแรม ดับเบิ้ลยู กรุงเทพ

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

ก.พาณิชย์ไทย-จีน เดินหน้าต่ออายุแผนพัฒนาศก.ระยะ 5 ปี พร้อมจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางศก. เน้นร่วมมือในสาขาศก.หลัก

    กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จัดการประชุมคณะอนุกรรมาธิการว่าด้วยการค้าและการลงทุน ไทย-จีน ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 26 – 27 กันยายน 2559 ณ โรงแรม Royal Orchid Sheraton โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสุวิทย์ เมษินทรีย์) เป็นประธานร่วมกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน (นางเกา เยี่ยน) เพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และเพื่อเป็นการเตรียมการสำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (ระดับรองนายกรัฐมนตรี) ที่จีนจะเป็นเจ้าภาพในช่วงปลายปี 2559

     นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การหารือเป็นไปด้วยบรรยากาศที่เป็นมิตร โดยเป็นการต่อยอดผลการหารือระหว่างรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) กับรองนายกรัฐมนตรีจีน (นายจาง เกาลี่) และ มนตรีแห่งรัฐ (นายหวัง หย่ง) เมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ในการนี้ ไทยและจีนได้ตกลงที่จะต่ออายุแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะ 5 ปี ฉบับเดิม ที่จะหมดอายุในปี 2559 ออกไปอีก 5 ปี (พ.ศ. 2560-2564) ซึ่งมีสาระครอบคลุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ 14 สาขา[1] โดยจะจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ โดยในระยะ 1 - 2 ปีแรก จะเน้นนวัตกรรมของความร่วมมือในสาขาที่สองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน และให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ ได้แก่ 1) โครงสร้างพื้นฐาน 2) อุตสาหกรรม 3) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 4) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ 5) พลังงาน และให้มีการหารือสาขาความร่วมมือด้านอื่นๆ ในปีถัดไป ซึ่งแนวทางการจัดทำหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจนี้ จะเน้นความร่วมมือด้านนวัตกรรมที่จะสอดรับกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน และยุทธศาสตร์ “ไทยแลนด์ 4.0” ของไทย

    ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะเร่งหารือรายละเอียดโครงการ และกิจกรรมความร่วมมือต่างๆ ทั้งความร่วมมือระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล และความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจไทย-จีน ภายใต้แผนปฏิบัติการดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้สามารถนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ครั้งที่ 5 (ระดับรองนายกรัฐมนตรี) ในเดือนธันวาคม 2559 ต่อไป

    นายสุวิทย์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ สองฝ่ายได้หารือเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยไทยขอให้จีนเร่งรัดการนำเข้าค้าสินค้าเกษตร อาทิ ข้าว และยางพารา ภายใต้ MOU ความร่วมมือการค้าสินค้าเกษตร รวมทั้งขอให้ทั้งสองฝ่ายเร่งประสานการดำเนินงาน เพื่อให้สามารถส่งออกรังนกไทยไปจีนได้โดยเร็ว นอกจากนี้ ยังมีการหารือเพื่อลดอุปสรรคของนักลงทุนไทยในจีน และอุปสรรคของนักลงทุนจีนในไทย ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนให้กันและกันต่อไป นอกจากนี้ ฝ่ายจีนได้แสดงความสนใจในการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรือ Special Economic Zone (SEZ) และ เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) ของไทยอีกด้วย

    ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยโดยจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 และเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ในขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าลำดับที่ 13 ของจีนโดยเป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 12 และแหล่งนำเข้าลำดับที่ 10 ของจีน ในปี 2558 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่ารวม 65 พันล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับปี 2559 (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยกับจีน 36 พันล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น ในขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ และผลิตภัณฑ์เหล็ก เป็นต้น

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

พาณิชย์หนุนธุรกิจโลจิสติกส์ไทยเร่งพัฒนาขีดความสามารถเพื่อช่วยขับเคลื่อนศก.ประเทศ

     นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "ประเทศไทย 4.0 กับโอกาสด้านโลจิสติกส์การค้า" โดยระบุว่า ปัจจุบันธุรกิจบริการด้านโลจิสติกส์มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเป็นหัวใจสำคัญสำหรับผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้ส่งออก เสมือนหัวใจในการส่งมอบสินค้าให้ไปถึงปลายทางด้วยความถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมการผลิตให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงขยายฐานการส่งออกให้กว้างขวางกว่าเดิม

     อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในการดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์ได้ทวีความเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันกับบริษัทโลจิสติกส์ข้ามชาติขนาดใหญ่ที่เข้ามาให้บริการในประเทศไทย รวมถึงในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้น ผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ของไทยจึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถ การบริหารจัดการ และการบริการให้ได้มาตรฐานทัดเทียมระดับสากล เพื่อสร้างความได้เปรียบ และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่จะเกิดขึ้น

     ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ไทยให้ก้าวไปสู่ความเป็นผู้นำระดับสากล สร้างความแข็งแกร่งบนเวทีการค้าอาเซียน และการค้าโลก โดยสนับสนุนและกระตุ้นให้ผู้ประกอบการมีการพัฒนาระบบการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพผ่านการจัดประกวดรางวัล ELMA

    อนึ่ง กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดงานฉลองครบรอบ 10 ปี รางวัล Excellent Logistics Management Award (ELMA) หรือรางวัลผู้ประกอบการที่มีความเป็นเลิศด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์ เพื่อประกาศเกียรติคุณผู้ส่งออกและผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย 22 บริษัทที่ได้รับรางวัลตั้งแต่ปีแรกถึงปีนี้

      รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 10 ปี มีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่สามารถพัฒนาตนเองให้มีการบริหารจัดการองค์กร และการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านกระบวนการพิจารณาตัดสินรางวัล ELMA ที่เข้มข้น ซึ่งผู้ที่ผ่านการพิจารณาและได้รับรางวัล ELMA ก็คงจะมีความภูมิใจเป็นอย่างมาก

   "รางวัล ELMA จึงถือเป็นรางวัลแห่งความภาคภูมิใจสำหรับผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ ที่แสดงถึงคุณภาพมาตรฐานความเป็นเลิศด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์ของท่าน ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับสากล และเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสร้างความแตกต่างและความได้เปรียบทางการแข่งขัน ผู้ที่ได้รับรางวัล ELMA ทุกองค์กรถือว่าท่านเป็นหนึ่งในแนวหน้าของธุรกิจโลจิสติกส์ไทยที่มีมาตรฐานการบริหารจัดการ และการให้บริการทัดเทียมมาตรฐานสากล" นายสุวิทย์ ระบุ

อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!