- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 15 October 2016 22:37
- Hits: 5286
ไทยลุ้นแชมป์ส่งออกข้าวปีนี้ หลัง 8 เดือนเป็นรองแค่อินเดีย คงเป้าทั้งปี 9.5 ล้านตัน, ห่วงผลผลิตออกมากกดราคา
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ทั้งปีนี้ประเมินว่าไทยจะส่งออกได้ 9.4-9.5 ล้านตัน โดยตั้งแต่ 1 ม.ค.-6 ก.ย.59 ไทยส่งออกได้ 6.4 ล้านตัน รองจากอินเดียที่ส่งออกได้ 6.9 ล้านตัน และเวียดนามที่ 3.2 ล้านตัน ปากีสถาน 2.5 ล้านตัน และสหรัฐฯ 2.3 ล้านตัน ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าจะสามารถแซงอินเดียกลับมาเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกได้หรือไม่
นายชูเกียรติ กล่าวถึงแนวทางการเพิ่มรายได้ให้ชาวนา ตามที่นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ จะมีการหารือกับผู้ประกอบการข้าวทุกกลุ่ม ทั้งผู้ส่งออก โรงสี และเกษตรกร โดยอาจออกมาตรการดูแลราคาข้าวเพิ่มเติม เพราะรัฐบาลเป็นห่วงราคาอาจตกต่ำในช่วงที่ผลผลิตออกมากตั้งแต่เดือนพ.ย. ที่มีการคาดการณ์ว่าผลผลิตข้าวเปลือกปี 59/60 จะออกมามากถึง 30-31 ล้านตันข้าวเปลือก เกินกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดปริมาณเพาะปลูกไม่เกิน 27.7 ล้านตันข้าวเปลือก เพราะน้ำฝนดีขึ้น ทำให้ทั่วโลกผลผลิตมากขึ้นว่า รัฐบาลควรจะจ่ายเงินตรงให้กับชาวนาตันละ 2,000 บาท เพื่อเพิ่มอำนาจซื้อ โดยที่ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับกลไกตลาดข้าว โดยรัฐอาจช่วยเหลือชาวนาที่มีพื้นที่ปลูกข้าวไม่เกิน 20 ไร่/ครัวเรือน ซึ่งมีประมาณ 3 ล้านครัวเรือน และรัฐบาลอาจต้องใช้งบประมาณราว 30,000-40,000 ล้านบาท
ด้าน ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การดึงราคาข้าวในประเทศให้สูงขึ้น วิธีที่ดีที่สุดคือ การเร่งระบายข้าวออกจากสต๊อกรัฐบาลให้เร็วที่สุด เพราะเป็นแรงกดดันให้ข้าวราคาข้าวไทยลดลงมาก โดยเฉพาะในช่วงที่ผลผลิตข้าวเปลือกฤดูกาลใหม่ จะออกมากตั้งแต่เดือนพ.ย.-ธ.ค.นี้ เพราะทำให้ตลาดไม่ซื้อข้าวใหม่ แต่จะรอการระบายข้าวราคาถูกของรัฐบาล แม้การเร่งระบายจะทำให้ราคาข้าวไทยลดลง แต่จำเป็นต้องทำ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ หากยิ่งเก็บไว้นาน ราคาจะยิ่งลดลงมากกว่านี้
นอกจากนี้ ยังมีอีกวิธีหนึ่งคือ การจ่ายเงินโดยตรงให้กับเกษตรกร แต่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และนำเงินไปใช้จ่ายหมุนเวียนให้ระบบเศรษฐกิจเดินหน้าได้บ้าง แต่ไม่ได้ช่วยทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น ส่วนถ้ารัฐจะตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวเปลือกตรงจากเกษตรกร โดยกำหนดปริมาณเป้าหมายบางส่วน คงเป็นไปได้ยาก รัฐบาลนี้ไม่ทำอยู่แล้ว เพราะจะเพิ่มภาระในการจัดเก็บของรัฐบาล เหมือนการรับจำนำข้าว
อินโฟเควสท์
ราคาส่งออกข้าวต่ำสุดยุคคสช.พาณิชย์หามาตรการรับมือผลผลิตใหม่
ไทยโพสต์ : นนทบุรี * ราคาข้าวส่งออกของไทยรูดมาอยู่ระดับต่ำสุดรอบ 2 ปี ในยุค คสช. ข้าวขาว 5% เหลือตันละ 360 เหรียญ ขณะที่หอมมะลิต่ำสุดใน 5 ปี หลังตลาดผู้ซื้อชะลอ ทำให้ผู้ขายต้องตัดราคา พาณิชย์ดิ้นถกรายกลุ่มหาทางแก้ไข หวั่นกระทบราคาข้าวเปลือกนาปีที่กำลังทยอยออก พ.ย.นี้
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาส่งออกข้าวขาว 5% ของไทยเสนอขายที่ตันละ 360-365 เหรียญสหรัฐ ต่ำสุดในรอบ 2 ปี หรือนับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ ส่วนข้าวหอมมะลิราคาส่งออกอยู่ที่ตันละ 650 เหรียญสหรัฐ ต่ำสุดในรอบ 5 ปี
สาเหตุที่ราคาส่งออกข้าวไทยปรับลดลงอย่างหนัก โดยเฉพาะข้าวขาว 5% ซึ่งมีหลายประเทศที่มีข้าวชนิดเดียวกันแข่งขันกันส่งออก เนื่องจากตลาดไม่มีคำสั่งซื้อเข้ามา ทำให้หลายประเทศต่างลดราคาแข่ง ขันกัน โดยราคาส่งออกข้าวขาว 5% ของเวียดนามเหลือตันละ 325 เหรียญสหรัฐ ต่ำกว่าราคาข้าวชนิดเดียวกันของไทยถึงตันละ 40 เหรียญสหรัฐ ส่วนปากีสถานลดราคาขายข้าวชนิด เดียวกันลงเหลือตันละ 315-320 เหรียญสหรัฐ (ซีไอเอฟ) เมื่อทอนกลับมาเป็นราคาเอฟโอบีจะต่ำกว่าตันละ 300 เหรียญสหรัฐ
"ตลาดที่คาดว่าจะซื้อข้าวหลายแห่ง ขณะนี้เริ่มมีผล ผลิตข้าวในประเทศดีขึ้น อย่างฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียที่คาดว่าจะนำเข้าข้าวช่วงปลายปี ประ เมินว่าจะนำเข้าในปริมาณลดน้อยลงกว่าที่เคยนำเข้าเมื่อปีที่ผ่านมา ส่วนจีนที่ไทยมีสัญญาซื้อขายข้าว 1 ล้านตันในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ยังอยู่ระหว่างการต่อรองราคาข้าว 1 แสนตันแรก แต่มีการต่อราคาข้าวถูกมาก ซึ่งไม่รู้ว่ารัฐบาลจะขายได้หรือไม่ เพราะผลผลิตข้าวในจีนดีขึ้น และมีข้าวจากปากีสถานในราคาถูกกว่าเข้าไปทำตลาดอีก" นายชูเกียรติกล่าว
นายชูเกียรติ กล่าวว่า เท่าที่ประเมินสถานการณ์ขณะนี้ ยังไม่เห็นถึงแนวทางที่จะกระตุ้นตลาดข้าวไทยให้มีการส่งออกมากขึ้นได้ เพราะความต้องการซื้อลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยคาดว่าจะส่งผลต่อการเป้าหมายการส่งออกข้าวไทยในภาพรวมที่ตั้งเป้าไว้ 9.5 ล้านตัน ซึ่งทั้งปีอาจส่งออกได้แค่ 9.2 ล้านตัน เพราะในช่วง 4 เดือนที่เหลือ การส่งออกข้าวไทยมีปริมาณลดต่ำลง โดยเฉพาะต่อเดือนเหลือการส่งออกแค่ 6.5 แสนตันเท่านั้น เพราะหากจะได้ตามเป้าหมายต้องส่งออกให้ได้ 7 แสนตัน/เดือนขึ้นไป
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ภายในสัปดาห์นี้ กระทรวงฯ จะเรียกผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับด้านข้าวทั้งหมดมาหารือ เพื่อประเมินสถานการณ์ตลาดข้าวในปัจจุบัน เพราะมีความเป็นห่วงราคาข้าวที่ตกต่ำลง ซึ่งอาจส่งผลต่อราคาข้าวเปลือกนาปี ฤดูกาล 2559/60 ที่จะทยอยออกมาในเดือน พ.ย.นี้
โดยจะแบ่งการหารือทั้งภายในประเทศและส่งออก โดยกรมการค้าต่างประเทศและกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จะเรียกตัวแทนสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยมาหารือถึงการผลักดันส่งออกข้าวไปตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น ส่วนกรมการค้าภายในจะเรียกตัวแทนจากสมาคมโรงสีข้าวไทยมาหารือถึงสถานการณ์ราคาข้าวภายในประเทศ
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เรียกทุกฝ่ายมาหารือและได้ข้อสรุปในเรื่องของมาตรการและแนวทางที่จะผลักดันราคาข้าวไทยแล้ว จะมีการเชิญประชุมใหญ่ร่วมกับนางอภิรดี ตันตรา ภรณ์ รมว.พาณิชย์ และตัวแทนภาคเอกชนในการร่วมกันผลักดันราคาข้าวไทยต่อไป.
สั่งพณ.จังหวัดดูแลราคาข้าว โยน 'ชุติมา' เซ็นเรียกค่าเสียหายข้าวจีทูจีเก๊ 2 หมื่นล.
บ้านเมือง : นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายการทำงานให้กับพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ โดยหลังจากการรวมหน่วยงานและภารกิจของกระทรวงพาณิชย์ในภูมิภาคมาอยู่ภายใต้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเพียงแห่งเดียวตามนโยบาย One Roof แล้ว สำนักงานพาณิชย์จังหวัดจะเป็นกลไกสำคั ในการเดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าในภูมิภาคสอดคล้องกับนโยบายพาณิชย์ 4.0 เน้นการทำงานในทุกมิติทั้งเชิงภารกิจ เชิงพื้นที่และเชิงนโยบาย พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ประชาชน ภาคธุรกิจ และเกษตรกร โดยก่อนหน้านี้ได้สั่งการให้พาณิชย์จังหวัดจัดทำ Workshop กำหนดแนวทางการดำเนินงานในภูมิภาค รวมทั้งจัดทำแผนยุทธศาสตร์การค้ากลุ่มจังหวัด 18 กลุ่ม พ.ศ. 2560 - 2564 ที่สอดคล้องกับศักยภาพและตำแหน่งของพื้นที่แล้ว
โดยหลังจากมีการปรับโครงสร้างกระทรวงพาณิชย์ในภูมิภาคมาอยู่ภายใต้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเพียงแห่งเดียวตามนโยบาย One Roof เพื่อให้มีการประสานงานและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ทำให้การทำงานปีที่ผ่านมามีความคล่องตัวมากขึ้นโดยเฉพาะการช่วยเหลือเกษตรกรรับมือต่อปัญหาภัยแล้ง
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณหน้ายังคงเน้นย้ำให้ช่วยเหลือเกษตรกร โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลางที่ผลผลิตข้าวกำลังจะออกสู่ตลาด โดยให้รายงานข้อมูลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทันที ช่วยพยุงราคาข้าวให้กับเกษตรกร และยังเน้นย้ำให้พาณิชย์จังหวัดพื้นที่ชายแดนปรับการทำงานให้ใกล้ชิดกับภาคธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อผลักดันการค้าผ่านแดน การค้าข้ามแดน เพื่อส่งออกไปยังประเทศที่ 3 ได้เพิ่มขึ้น.
นางอภิรดี กล่าวว่า บทบาทสำคั ของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดในการส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก ภายใต้ Local Economy มุ่งส่งเสริมพัฒนาเกษตรกรไทยไปสู่เกษตรกร 4.0 ตั้งเป้าผลักดันให้เป็น Smart Farmer เพื่อยกระดับเกษตรกรให้มีความรู้ ความสามารถ มีความเข้มแข็ง และศักยภาพในการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มและนวัตกรรม รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาระบบกลไกตลาดเพื่อรองรับการเชื่อมโยงสินค้าจากตลาดชุมชนไปยังตลาดกลางสู่ศูนย์กระจายสินค้าเพื่อเชื่อมโยงสินค้าเกษตรกรไทยสู่ตลาดเพื่อนบ้าน (CLMV หรือ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม) และตลาดโลก ส่งเสริม SMEs การสร้างและพัฒนา Startup ให้เป็น Smart Entrepreneur สร้างความตระหนักรู้และสนับสนุนให้มีการขึ้นทะเบียนตราสั ลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) และการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ส่งเสริมการสร้างแบรนด์และให้ความสำคั กับการออกแบบ รวมทั้งส่งเสริมและผลักดันธุรกิจบริการให้เป็นรายได้ใหม่ของประเทศ
สำนักงานพาณิชย์จังหวัดต้องปรับบทบาทเป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมและพัฒนาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม เพื่อให้เศรษฐกิจภูมิภาคให้เข้มแข็ง โดยจัดทำแผนเศรษฐกิจ 4.0 และนำจุดเด่นของแต่ละจังหวัด, กลุ่มจังหวัด 18 กลุ่ม มาปรับปรุงพัฒนาให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะเป็นส่วนสำคั ในการขับเคลื่อนไปสู่ประเทศไทย 4.0 พาณิชย์จังหวัดจะต้องปรับการทำงานให้เข้าถึงประชาชน บริหารจัดการเศรษฐกิจ การค้า และผู้ประกอบการให้มีความรู้ความสามารถ ส่งเสริมกระบวนการคิดแบบสร้างสรรค์ พัฒนาตลาดทั้งในมิติของตลาดชุมชน และตลาดยุคใหม่
นางอภิรดี กล่าวถึงความคืบหน้าการเรียกร้องความเสียหายกรณีข้าวจีทูจี 4 สัญญา จำนวน 6.2 ล้านตัน มูลค่าความเสียหายกว่า 20,000 ล้านบาท จากผู้เกี่ยวข้องทั้งนักการเมืองและข้าราชการ รวม 6 ราย ล่าสุดได้รับหนังสือตอบกลับจากนายกรัฐมนตรีให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มอบอำนาจให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ลงนามคำสั่งทางปกครองในการเรียกค่าเสียหายดังกล่าว โดยกระทรวงพาณิชย์ดูแลในส่วนกรณีเรียกร้องค่าเสียหายทุจริตจีทูจี
ทั้งนี้ หากมีการลงนามในคำสั่งเรียกค่าเสียหายแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะต้องแจ้งไปยังผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 6 รายรับทราบและภายใน 30 วัน หากผู้ถูกกล่าวหายังเพิกเฉยหรือไม่มีการโต้แย้งจะส่งหนังสือแจ้งเตือนรอบที่ 2 ซึ่งมีระยะเวลา 15 วัน ต่อจากนั้นจะส่งสรุปไปยังกรมบังคับคดี เพื่อดำเนินการยึดทรัพย์ แต่ยืนยันว่าการเรียกค่าเสียหายดังกล่าวจะทันก่อนหมดอายุความเดือน ก.พ.2560 แน่นอน
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้ในกระทรวงพาณิชย์มีทีมกฎหมายดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ หลังจากปลัดกระทรวงพาณิชย์ลงนามฝ่ายกฎหมายจะทำหนังสือถึงนักการเมืองและข้าราชการทั้ง 6 รายรับทราบ หากมีข้อโต้แย้งผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 6 ราย ต้องยื่นเรื่องไปที่ศาลปกครองและเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย
น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า แม้ว่าตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป จะเข้ารับตำแหน่ง แต่เรื่องการฟ้องร้องค่าเสียหายข้าวจีทูจีไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการมาตั้งแต่ต้น จึงไม่ได้รับรู้รายละเอียด ดังนั้น หากต้องเข้าไปดูแลคงต้องเข้าไปดูในรายละเอียดในช่วงที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร และขั้นตอนของการทำงาน ซึ่งที่ผ่านมาปลัดกระทรวงพาณิชย์คนปัจจุบันและทีมงาน
อภิรดี' ไม่กังวลขู่ฟ้อง เผยการดำเนินการทุกอย่างตามขั้นตอนรอบคอบ
บ้านเมือง : นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตร มว.พาณิชย์ ได้โพสต์ลงเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า จะฟ้องกลับทั้งทางอาญาและทางแพ่งกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ที่มีส่วนในการลงนามหนังสือบังคับทางปกครองเรียกค่าเสียหายจากการขายข้าวในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ว่า ไม่กังวล และไม่หนักใจ เพราะมั่นใจว่าการดำเนินการที่ผ่านมาทั้งหมด ได้ตามขั้นตอนที่ถูกต้องและรอบคอบแล้ว หากนายบุญทรงจะฟ้องร้องดำเนินคดี ก็สามารถทำได้
โดยในขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการเพื่อ ส่งหนังสือแจ้งไปยังผู้ที่ถูกเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหายทั้ง 6 ราย และตามขั้นตอน ต้องชดใช้ค่าเสียหายภายใน 30 วัน หากครบ 30 วันแล้ว ยังเพิกเฉย ก็จะส่งหนังสือแจ้งเตือนอีก 15 วัน หากยังไม่จ่ายอีก ก็จะส่งเรื่องเข้าสู่ขั้นตอนการบังคับคดีต่อไป โดยมีกรมบังคับคดีที่จะไปดำเนินการอายัดทรัพย์ตามกฎหมาย
เมื่อถามว่า มีการเตรียมพร้อมกรณีถูกฟ้องกลับอย่างไร นางอภิรดีกล่าวว่า มีฝ่ายกฎหมายเตรียมไว้อยู่แล้ว และไม่ตอบคำถามใดๆ ต่อจากนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา นางอภิรดี ได้ลงนามในหนังสือบังคับทางปกครองแทนนายกรัฐมนตรี และมีปลัดกระทรวงพาณิชย์ลงนามแทน รมว.พาณิชย์ เพื่อให้นักการเมืองและข้าราชการ 6 ราย ชดใช้ความเสียหายจากการขายข้าวจีทูจีจำนวน 2 หมื่นล้านบาท และในวันเดียวกันนั้น นายบุญทรง ได้โพสต์ เฟซบุ๊ค โดยระบุว่า มีการใช้ ม.44 กลั่นแกล้ง และจะต่อสู้คดีในทุกศาล ต่อมาวันที่ 20 ก.ย.59 นายบุญทรง ได้โพสต์ เฟซบุ๊คอีกครั้งว่า จะฟ้องกลับทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงนามในคดีข้าวจีทูจี
ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคม ผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า มาตรการที่จะเสนอรมช.พาณิชย์หากมีการเรียกเข้าไปหารือ โดยจะเสนอให้มีการจ่ายเงินทางตรงให้กับชาวนาประมาณตันละ 2,000 บาท ซึ่งเป็นการเพิ่มอำนาจการซื้อให้กับชาวนาทางตรงโดยที่ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับกลไกตลาดข้าว ทั้งนี้ประเมินว่าชาวนาที่จะได้รับการช่วยเหลือจากการจ่ายเงินทางตรง ซึ่งเป็นชาวนาที่มีพื้นที่ปลูกข้าวไม่เกิน 20 ไร่/ครัวเรือน มีอยู่ประมาณ 3 ล้านครัวเรือน รัฐบาลอาจต้องใช้งบประมาณมาจ่ายเงินทางตรงประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาทน่าจะเพียงพอ
"เป็นห่วงว่าผลผลิตข้าวเปลือกฤดูกาล 2559/60 คาดว่าจะออกมามาก เกินกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลประเมินว่าจะมีข้าวเปลือกออกมา 27.7 ล้านตันข้าวเปลือก โดยอาจจะออกมาประมาณ 30-31 ล้านตันข้าวเปลือก แบ่งเป็นผลผลิตข้าวเปลือกนาปี 2559/60 23-24 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตนาปรัง 2560 ประมาณ 8-9 ล้านตันข้าวเปลือก เนื่องจากสถานการณ์น้ำฝนดีขึ้น และไม่ใช่ไทยประเทศเดียวที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น แต่ทั่วโลกทั้งอินเดีย และเวียดนามก็ผลมากขึ้นเช่นกัน ทำให้การผลักดันทางด้านราคาทำได้ลำบาก" นายชูเกียรติ กล่าว
อย่างไรก็ตาม แนวทางการหาตลาดรองรับข้าวเปลือกด้วยการผลักดันส่งออกไปตลาดต่างประเทศ ต้องยอมรับว่าผลผลิตข้าวที่มากขึ้น ขณะที่ความต้องการซื้อไม่ได้เพิ่มขึ้น ตามจากปัญหาภาวะเศรษฐกิจโลก ทำให้การผลักดันส่งออกไปตลาดต่างประเทศอาจไม่เพียงพอต่อปริมาณผลผลิตที่ออกมา และปี 2560 ประเทศผู้ส่งออกข้าวทั่วโลกจะเกิดการแข่งขันทางด้านราคาอย่างรุนแรง เพราะทุกประเทศก็ต้องการขายข้าวออกไป
นายชูเกียรติ กล่าวว่า ส่วนสถิติการส่งออกข้าวตั้งแต่ วันที่ 1 ม.ค.-6 ก.ย.59 พบว่าอินเดียส่งออกข้าวได้แล้ว 6.9 ล้านตัน มากสุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก รองลงมาคือไทยส่งออกข้าวได้ที่ 6.4 ล้านตัน เวียดนามส่งออกข้าว 3.2 ล้านตัน ปากีสถานส่งออกข้าว 2.5 ล้านตัน และสหรัฐส่งออกข้าว 2.3 ล้านตัน ซึ่งสมาคมฯ ยังคงประเมินว่าการส่งออกข้าวทั้งปีของไทยจะอยู่ที่ 9.4-9.5 ล้านตัน แต่จะแซงอินเดียกลับมาเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งหรือไม่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ด้านนายมานัส กิจประเสริฐ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ในวันที่ 24 ก.ย.นี้ สมาคมฯ จะมีการประชุมสมาชิกโรงสีที่ จ.สุรินทร์ ซึ่งจะประเมินผลผลิตข้าวเปลือกนาปี ฤดูกาล 2559/60 ที่ทยอยออกมา โดยคาดว่าจะมีผลผลิตข้าวเปลือกออกมาพร้อมกันในช่วงเดือนพ.ย. 13.79 ล้านตัน ซึ่งมาตรการที่ภาครัฐดำเนินการออกมา 17 มาตรการ เช่น รับจำนำข้าวหอมมะลิยุ้งฉาง และจ่ายชดเชยดอกเบี้ย 3% ให้กับโรงสีซื้อข้าวมาเก็บสต๊อก อาจช่วยดูดซับปริมาณผลผลิตเพื่อพยุงราคาข้าวได้เพียงบางส่วนเท่านั้น โดยในการประชุมกับสมาชิกโรงสีอาจมีมาตรการดูแลราคาข้าวมาเสนอกับกระทรวงพาณิชย์เพิ่มเติม
นบข.สั่งระงับระบายข้าวรัฐ
บ้านเมือง : พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 5/2559 ภายหลังการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเผยว่า การประชุมเพื่อทราบมาตรการต่างๆ ที่เราได้ช่วยเหลือไปแล้วเป็นการติดตามในส่วนของเกษตรกรและโครงการต่างๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิต ทั้งมาตรการดูแลการใช้เครื่องจักรเครื่องมือในส่วนที่หาให้ได้ การดึงภาคเอกชนเข้าร่วมในโครงการ ซึ่งทั้งหมดเราต้องแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทางการผลิต ดูว่าลดต้นทุนการผลิตได้อย่างไร เพราะมีหลายกิจกรรมด้วยกัน ขณะเดียวกันต้องดูแลด้านการแปรรูปนวัตกรรมของผู้ประกอบการพนักงาน ต้องดูแลเขาบ้างและส่วนที่สุดท้ายคือการเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรเพื่อไม่ให้ออกในท้องตลาดจนมากเกินไป ซึ่งต้องมีมาตรการดูแลด้วยเราจะต้องปลดเรื่องภาระที่รัฐต้องเสียค่าเก็บเหล่านี้ของเราเองซึ่งจะไปอยู่กับทางเอกชน ประชาชน และเกษตรกรโดยตรง
สำหรับ เรื่องของการระบายข้าว มีมติให้ระงับไปก่อน เพื่อรองรับผลการผลิตการระบายข้าวในฤดูกาลใหม่ในเดือน พ.ย.เป็นต้นไป ต้องดูสถานการณ์ ไม่ว่าข้าวที่คงเหลือในคลังจะโครงการอะไรก็แล้วแต่ ทั้งหมดคือปัญหาถ้าเราปล่อยราคาท้องตลาดก็ตกลง ราคาตลาดโลกลดลงฉะนั้นต้องดูหลายมิติด้วยกันแต่ข้อสำคัญทำอย่างไรเราจะไปทำความเข้าใจเกษตรกรให้ได้มากที่สุดเนื่องจาก งบประมาณมีจำกัด ซึ่งภาระในเรื่องนี้ยังมีอยู่มากหนี้สินที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
นายกฯ กล่าวว่า ส่วนประเด็นสำคัญที่สังคมกำลังติดตามในเรื่องคดีความขอให้เป็นเรื่องของทางคดี กระบวนการยุติธรรมอย่าเพิ่งโทษกันไปกันมาก่อนมันจะเป็นผลเสียต่อการตรวจสอบทางกระบวนการยุติธรรม ในส่วนของรัฐบาลก็มีหน้าที่ ในการ ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้นมา 2 คณะ ซึ่งเป็นคนละหน้าที่กันคือฝ่ายหนึ่งตรวจสอบทางบัญชี ประเมินล่วงหน้าในแต่ละปีและอีกส่วนคือคณะกรรมการตรวจสอบความผิดทางละเมิด ซึ่งมีกฎหมายของมันอยู่ต้องไปดูว่าเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคตอย่าพึ่งไปพูดตอนนี้มันเสียหาย
น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบแผนรองรับการผลิตข้าวนาปีฤดูกาลผลิตปี 2559/2560 เนื่องจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดการณ์ว่าปริมาณข้าวปีนี้เพิ่มจาก 22 ล้านตัน เป็น 23.55 ล้านตัน โดยเป็นข้าวหอมมะลิ 9.55 ล้านตัน ข้าวเปลือกเหนียว 5.29 ล้านตัน ข้าวหอมปทุมธานี 1.14 ล้านตัน และข้าวเปลือกเจ้า 6.27 ล้านตัน จึงได้ออกมาตรการรองรับการเก็บเกี่ยวข้าวที่จะออกสู่ระบบมากสุดในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2559 จึงต้องจัดทำคลังข้อมูลข้าวครบวงจร รวมทั้งการจัดโกดังเก็บรวมข้าว การจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ ควบคุมจำนวนเกษตรกรแต่ละพื้นที่เพาะปลูก
ทั้งนี้ เพื่อรองรับการเก็บเกี่ยวข้าวจำนวนมากพร้อมกันหลายพื้นที่ นบข.จึงให้จัดหารถเกี่ยวข้าวพร้อมผ่านการจัดแอพพลิเคชั่น รวบรวมข้อมูลรถเกี่ยวข้าวหลายจังหวัด เช่น ภาคเหนือ ภาคกลาง รองรับการเกี่ยวข้าว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงต้องใช้ระบบไอทีมาใช้จองคิวเกี่ยวข้าวล่วงหน้า และเพื่อป้องกันปัญหาความชื้นจากการเกี่ยวข้าวจมน้ำหรือเกี่ยวข้าวเร็ว จึงต้องเชื่อมโยง โรงสีหลายจังหวัดช่วยอบข้าวให้รวดเร็ว เพราะขณะนี้ไซโลสมัยใหม่มีโรงอบทันสมัย และยังส่งเสริมให้โรงสีข้าวช่วยรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บข้าวไว้ในสตอก โดยสมาคมธนาคารไทยพร้อมปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หากเก็บข้าวไว้ในโกดัง 3 เดือนแรก รัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 และหากจัดเก็บข้าวไว้โกดังนาน 4-6 เดือน ชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 4 กำหนดเป้าหมายให้โรงสีรับซื้อ 8 ล้านตัน โดยปีนี้ต้องใช้เงินเพิ่มอีก 360 ล้านบาท จึงต้องเสนอ ครม.พิจารณา
ส่วนการดูแลเกษตรกร ยังคงนโยบายการให้เกษตรกรจัดเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางจำนวน 2 ล้านตัน ปีนี้ได้ปรับรูปแบบ จากเดิมรัฐบาลจ่ายเงินค่าฝากข้าวไว้ในยุ้งฉาง จ่ายเงินเมื่อมีการระบายข้าวออกไปในระยะเวลากำหนด 1,500 บาท แต่ปีนี้รัฐบาลพร้อมจ่ายเงินให้ทันทีเมื่อเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง 1,000 บาทต่อตัน ส่วนที่เหลือ 500 บาท จ่ายเมื่อระบายข้าวออกไป นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการลดพื้นที่ปลูกข้าวรอบ 2 (ข้าวนาปรัง) เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นแทน เช่น การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากโรงงานอาหารสัตว์มีความต้องการข้าวโพด 7-8 ล้านตัน แต่ผลิตได้เพียง 4 ล้านตัน จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหาตลาดรองรับการปลูกข้าวโพด สำหรับการส่งออกข้าวปีนี้กำหนดเป้าหมาย 9.5 ล้านตัน ปัจจุบันส่งออกได้แล้ว 6.57 ล้านตัน คาดว่าเวลาที่เหลือ 3 เดือนจะดำเนินการได้
ผ่าประเด็นร้อน: ช่องโหว่ยึดทรัพย์คดีจำนำข้าวจับตาปูกับพวกยักย้ายสมบัติหนี
แนวหน้า : ทีมข่าวการเมือง
จากผลกรรมพิษคดีโครงการรับจำนำข้าวที่นับถอยหลังไปสู่ประตูคุก และการชดใช้ค่าเสียหายคืนแก่ แผ่นดินงวดเข้าไปทุกขณะทำเอา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ หุ่นเชิด และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ ซึ่งเป็นจำเลย คนสำคัญถึงกับดิ้นพล่านเพื่อเอาตัวรอดด้วยการอ้างสารพัดเหตุผลแบบน้ำขุ่นๆ ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่เปิดทางให้กรมบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์จำเลยในคดีโครงการรับจำนำข้าวที่ สร้างความล่มจมให้ประเทศ ครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์
ทั้งๆ ที่ความจริงแม้จะใช้มาตรา 44 แต่คดีโครงการรับจำนำข้าวก็ยังอยู่บนเส้นทางตามกระบวนการยุติธรรมปกติทุกประการ โดยกรมบังคับคดีเพียงมีหน้าที่ในการยึดทรัพย์เพราะมีความเชี่ยวชาญอีกทั้งเป็น คดีใหญ่ที่มีมูลค่าความเสียหายสูงมาก ขณะที่ฝ่ายจำเลยยังมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลปกครอง และที่สำคัญถึงที่สุดแล้วถูกผิดอย่างไรทุกอย่างจะไปจบลงที่ คำตัดสินของศาลสถิตยุติธรรม
คดีโครงการรับจำนำข้าวแยกเป็นสองส่วนคือ คดีทางอาญาซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งกว่าจะมีคำตัดสินว่าใครที่ต้องติดคุกบ้างก็คงจะเป็นราวกลางปีหน้า
ส่วนทางแพ่งการฟ้องทางปกครองให้จำเลยชดใช้ความเสียหายแก่แผ่นดินแยกเป็นสองคดีคือการฟ้องทางปกครองให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐในกรณีซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจีเก๊เป็นมูลค่าราว 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งมี นายบุญทรง และพวกรวม 6 คน เป็นจำเลย ซึ่งขณะนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และปลัดกระทรวงพาณิชย์ได้ลงนามแทนนายกรัฐมนตรีในคำสั่งฟ้องเรียบร้อยแล้ว ส่วนอีกคดีหนึ่งก็คือกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ขณะนี้กำลังรอการสรุปตัวเลขความเสียหายที่จะต้องชดใช้โดยคณะกรรมการความรับผิดทางแพ่งซึ่งมี นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นประธาน โดยมีข่าวว่าตัวเลขที่คณะกรรมการเคาะล่าสุดคือให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชดใช้ความเสียหายมูลค่าเพียง 35,717 ล้านบาท ทั้งๆ ที่คณะกรรมการ ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่สำนักนายกฯตั้งขึ้นเคยสรุปตัวเลขความเสียหาย จากโครงการรับจำนำข้าวมีมูลค่าสูงถึง 286,639 ล้านบาท
แต่ประเด็นปัญหาที่สังคมกำลังเฝ้าจับตาสำหรับการตามยึดทรัพย์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายบุญทรง และพวกก็คือเมื่อมีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้ยึดทรัพย์จะสามารถยึดทรัพย์ได้จริงมากน้อยแค่ไหน เพราะคาดว่าจะต้องมีการยักย้ายถ่ายเทซุกซ่อนทรัพย์สิน ไปก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา และ กรณีหากทรัพย์สินของจำเลยที่เหลืออยู่ น้อยกว่ามูลค่าทรัพย์สินที่จะถูกยึดอย่างมากก็ถูกสั่งฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลาย ซึ่งนี่คือช่องโหว่ของ กฎหมายที่น่าจะมีการอุดช่องโหว่แก้กฎหมายให้ทันเล่ห์ศรีธนญชัย ของเหล่านักการเมืองโกงชาติปล้น แผ่นดินหรือสร้างความล่มจมให้ ประเทศด้วยการกำหนดให้แปร มูลค่าทรัพย์สินที่จำเลยเจตนา หลีกเลี่ยงไม่ชดใช้แก่แผ่นดินให้เป็นโทษจำคุกแทน