- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Wednesday, 05 October 2016 08:37
- Hits: 3022
ก.พาณิชย์ เผยเร่งขับเคลื่อนพัฒนาธุรกิจภาคบริการ เพื่อยกระดับให้มีมูลค่าสูงตามห่วงโซ่มูลค่า ระบุเป็นเครื่องจักรใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้า
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งพัฒนาการค้าภาคบริการทุกรูปแบบ ทั้งสร้างองค์ความรู้ พัฒนาประสิทธิภาพและส่งเสริมตลาด เพื่อยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่ม
กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งพัฒนาการค้าภาคบริการ (Trade in Services) ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่ทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นเป็นลำดับนอกเหนือจากการค้าสินค้าทั่วไป เพื่อยกระดับการพัฒนาธุรกิจภาคบริการและสินค้าต่อเนื่องให้มีมูลค่าสูงตามห่วงโซ่มูลค่า เป็นเครื่องจักรใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้า ที่สำคัญอาทิ ธุรกิจด้านค้าส่งค้าปลีก ธุรกิจแฟรนไชส์ ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ ธุรกิจท่องเที่ยว (ร้านอาหาร ภัตตาคาร และสถานที่พัก) ธุรกิจสุขภาพ (สปาและการดูแลผู้สูงอายุ) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (บริหารทรัพย์สิน ก่อสร้างและวิศวกรรม) บันเทิงและคอนเทนท์ไทย ธุรกิจสิ่งพิมพ์ และธุรกิจซอฟแวร์ โดยการสร้างองค์ความรู้ที่สำคัญด้านต่างๆ โดยเฉพาะการบริหารจัดการและการนำเทคโนโลยีซอฟแวร์มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพผ่านกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ การอบรมเชิงปฏิบัติการ การเรียนผ่านสื่อออนไลน์ (e-learning) และให้คำปรึกษาผ่านช่องทางสื่อสารต่างๆ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ซึ่งในห้วง 1 ปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการ สถาบันการศึกษา สมาคมการค้าให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวรวมกว่า 1,700 ราย
จะเห็นได้ว่า ในช่วงที่สินค้าของโลกอยู่ในภาวะซบเซา แต่การค้าภาคบริการกลับขยายตัวสูง สอดคล้องกับการคาดการณ์ของ IMF ที่ระบุว่าในปี 2559 มูลค่าการค้าบริการโลกจะขายตัวร้อยละ 2.5 ในปี 2558 ที่ผ่านมา การส่งออกบริการของไทยขยายสูงถึงร้อยละ 10.4 อีกทั้งภาคบริการของประเทศยังมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 60.8 ของ GDP อีกด้วย โดยบริการที่กระทรวงพาณิชย์มุ่งเน้นจะมี 3 กลุ่ม คือ กลุ่มบริการ สนับสนุน (Value Creation Service อาทิ บริการธุรกิจ วิศวกร สถาปนิค การวิจัยและพัฒนาโลจิสติกส์) เป็นบริการที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการในภาคการผลิต กลุ่มบริการที่ก่อให้เกิดรายได้ (Pure Income Generating Service อาทิ การท่องเที่ยว การนันทนาการ ก่อสร้าง สุขภาพ) เป็นบริการที่ต้องการสนับสนุนจากธุรกิจกลุ่มอื่นๆ กลุ่มบริการยุคใหม่ (Next Generation Service อาทิ Startup Digital Content) เป็นบริการที่นำเทคโนโลยีและวัฒนธรรมมาสรรค์สร้างคุณภาพและการค้าสินค้าและบริการ
ด้านการพัฒนาส่งเสริมการตลาด กระทรวงพาณิชย์ได้พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ โดยนำผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจบริการและโลจิสติกส์เข้าร่วมงานแสดงสินค้าด้านธุรกิจบริการในต่างประเทศและนำคณะผู้แทนการค้าไปเจรจาธุรกิจ เกิดมูลค่าสั่งซื้อรวมกว่า 5,500 ล้านบาท โดยเป็นการร่วมงานแสดงสินค้ารวม 11 งาน มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 170 ราย เกิดมูลค่าการสั่งซื้อใน 1 ปีประมาณ 1,500 ล้านบาท อาทิ ธุรกิจโรงแรมและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจบันเทิง (เทศกาลภาพยนตร์ ) และคอนเทนท์ไทย (เกมส์ แอมมิเนชั่น) ธุรกิจสิ่งพิมพ์ฯลฯ และการนำคณะผู้แทนการค้าเจรจาธุรกิจ จำนวน 5 คณะ รวม 70 ราย ประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจออกแบบสินค้า ธุรกิจเกมส์ กลุ่มบริหารโรงแรม กลุ่มบริการโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมการพิมพ์ ซึ่งผลจากการดำเนินงานส่งผลให้ธุรกิจบริการนอกจากจะสามารถสร้างยอดสั่งซื้อในเบื้องต้นแล้ว ยังเป็นการประชาสัมพันธ์ธุรกิจบริการของไทยให้เป็นที่รู้จัก เกิดเครือข่ายพันธมิตรทางการค้าที่จะส่งผลต่อการสั่งซื้อในอนาคตต่อไป
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย