- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 23 September 2016 23:01
- Hits: 7484
ก.พาณิชย์ยกระดับโลจิสติกส์ไทยสู่ 4.0 ดึงกลยุทธ์จัดงานใหญ่ สัมมนาโดยกูรูระดับโลก พร้อมมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ถือเป็น 1 ใน 10 ยุทธศาสตร์ของชาติ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ซึ่งมุ่งขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น’ประเทศไทย 4.0’ตามวิสัยทัศน์และนโยบาย ‘ประชารัฐ’ อันมีสาระสำคัญ คือ การวางรากฐานการพัฒนาประเทศระยะยาวในรูปแบบ’Value - Added Economy’ เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ
“หากมีการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ที่ดีจะสามารถลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ ส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันและมีความพร้อมที่จะช่วงชิงโอกาสทางธุรกิจได้มากกว่าคู่แข่ง เนื่องจากโลจิสติกส์เป็นต้นทุนแฝงที่อยู่ในทุกขั้นตอนของการดำเนินธุรกิจ ไม่เพียงแค่การขนส่งเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการจัดเก็บ การเคลื่อนย้าย การกระจายสินค้า การสั่งซื้อวัตถุดิบ และระบบสารสนเทศ ตั้งแต่ซัพพลายเออร์มายังผู้ผลิต ผู้ขาย ไปจนถึงมือผู้บริโภค”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว
ภาพรวมสถานการณ์โลจิสติกส์การค้าของไทยปรากฏว่า ในปี 2557 ต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 1,800 พันล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับร้อยละ 14.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม ในประเทศ ลดลงจากร้อยละ 14.2 ต่อ GDP ในปี 2556 โดยโครงสร้างต้นทุนโลจิสติกส์ มีต้นทุนค่าขนส่งสินค้าเป็นองค์ประกอบใหญ่ที่สุด รองลงมาคือ ต้นทุนการเก็บรักษาสินค้าคงคลัง และต้นทุนการบริหารจัดการตามลำดับ ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ให้บริการโลจิสติกส์กว่า 20,000 ราย กว่าร้อยละ 70 เป็นผู้ให้บริการขนส่งทางบกและระบบท่อลำเลียง ร้อยละ 13 เป็นตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้า ร้อยละ 5 เป็นผู้ให้บริการ การบริหารจัดการเกี่ยวกับสินค้า ส่วนผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยที่ให้บริการด้านอื่นๆ ได้แก่ ผู้ให้บริการขนถ่ายสินค้า คลังสินค้า การขนส่งทางน้ำ และการขนส่งทางอากาศ
หากเปรียบเทียบความสามารถในการแข่งขันโลจิสติกส์กับในประเทศอาเซียน ไทยจะอยู่เป็นอันดับ ที่ 3 รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ขณะที่ต้นทุนโลจิสติกส์ไทยกับประเทศใกล้เคียง อาทิ มาเลเซีย และสิงคโปร์ ปรากฏว่า ต้นทุนด้านโลจิสติกส์อยู่ที่ร้อยละ 18 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ขณะที่มาเลเซียและสิงคโปร์อยู่ที่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ ในภูมิภาคและดึงดูดใจนักลงทุนต่างชาติ นอกจากภาคเอกชนจะบริหารจัดการต้นทุนกระบวนการภายในให้ถูกลง และสามารถส่งสินค้าและบริการถึงมือผู้บริโภคได้เร็วขึ้น ภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามาช่วยในการปรับลดต้นทุนโลจิสติกส์ ซึ่งจะส่งผลต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าและบริการไทย ตลอดจนเพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับภูมิภาค
กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเตรียมความพร้อมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ไทย จึงได้ดำเนินกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อส่งเสริมการสร้างเครือข่ายธุรกิจ ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโลจิสติกส์ ทางการค้า ส่งเสริม Best Practice และยกระดับผู้ให้บริการโลจิสติกส์สู่สากล ตลอดจนต่อยอดเทคโนโลยี ที่สำคัญ สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจ อันจะนำไปสู่การแข่งขันในเวทีการค้าระดับภูมิภาคและระดับโลกได้ ในระยะยาวหนึ่งในกลยุทธ์หลักคือ การจัดงาน TILOG-LOGISTIX ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี งานดังกล่าวเป็นงานแสดงเทคโนโลยี นวัตกรรม และโซลูชั่น พร้อมธุรกิจบริการด้านโลจิสติกส์ที่ครบครัน โดยในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 – 23 กันยายน 2559 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค มีผู้เข้าร่วมแสดงสินค้าในงาน 400 แบรนด์ จาก 25 ประเทศ คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานประมาณ 10,000 ราย จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก และเกิดมูลค่าการซื้อขายใน 1 ปีถึง 435 ล้านบาท
อีกกลยุทธ์สำคัญที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีคือ การจัดสัมมนาระดับนานาชาติ หรือ Symposium ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นในวันที่ 22 กันยายน 2559 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ภายใต้หัวข้อ Symposium 2016: Logistics 4.0 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโลจิสติกส์ 4.0 ให้แก่ผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์และผู้ประกอบการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยการสัมมนานี้ถือเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการไทยจะได้ฟังมุมมองความคิดและเรียนรู้ประสบการณ์ตรงจากวิทยากรด้านโลจิสติกส์การค้าที่มาร่วมให้ข้อมูลเชิงลึกจากนานาประเทศ
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติและส่งเสริมให้ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนามาตรฐานในการบริหารองค์กร รวมถึงการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดโครงการประกวดรางวัล Excellent Logistics Management หรือ ELMA ขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 รางวัล ELMA นับเป็นรางวัลอันทรงเกียรติ ที่ช่วยตอกย้ำความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์ให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัล โดยบริษัทที่ผ่านเกณฑ์ การพิจารณาและได้รับรางวัล ELMA 2016 ได้แก่ บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ จำกัด
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในตอนท้ายว่า ธุรกิจโลจิสติกส์ว่าเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ การพัฒนาสู่ยุคโลจิสติกส์ 4.0 กำลังได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ประกอบการในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจ ซึ่งได้ปรับแนวคิดการดำเนินธุรกิจโดย ใช้เทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการทั้งอุปสงค์และอุปทานอย่างเป็นระบบ แม่นยำ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ถือเป็นจุดสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยต้องศึกษาข้อมูลเพื่อนำไปพัฒนาการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงของโลกการค้าในปัจจุบัน
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย