WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Cวษณ เครองามเดินหน้ายึดทรัพย์'ยิ่งลักษณ์'จำนำข้าวกรมบังคับคดีชูดาบ ม.44 คำสั่งปกครอง

     บ้านเมือง : นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการเรียกค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง จากนั้นจะส่งให้ รมว.คลัง และส่งเรื่องต่อมายังนายกฯ ขออนุมัติให้มีการลงนามในคำสั่งทางปกครอง เพื่อให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์รับผิด เมื่อนายกฯ ให้ดำเนินการต่อจะส่งไปที่ผู้มีอำนาจลงนามคำสั่ง โดยกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์มี 2 คนคือ นายกฯ กับ รมว.คลัง ซึ่งในส่วนของนายกฯ นั้นสามารถมอบอำนาจให้ รมว.คลัง ลงนามแทนได้ เหมือนกับกรณีการเรียกค่าเสียหายการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่มอบอำนาจให้ รมว.พาณิชย์ ลงนามแทน ถ้า รมว.คลังลงนามแทนนายกฯ แล้ว จะลงนามในส่วนของตนเองอีกได้ หรือมอบหมายให้คนอื่นลงนามแทนตนเองก็ได้ แล้วส่งไปให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ทราบ หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ดำเนินการอุทธรณ์ภายในเวลาที่กำหนด จะดำเนินการยึดทรัพย์ได้เลย แต่หากมีการร้องศาลปกครองจะต้องมาดูว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ขอให้คุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ ถ้าศาลปกครองมีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราวการยึดทรัพย์จะยังไม่เกิดขึ้น โดยขั้นตอนการยึดทรัพย์จะเป็นของกรมบังคับคดี โดยอาจจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุน

    นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงคำสั่งหัวหน้า คสช. เรื่องการคุ้มครองการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในการดูแลของรัฐและการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิด ที่ให้กรมบังคับคดีมีอำนาจบังคับคดีตามกฎหมายคดีที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าวเปลือก โครงการแทรกแซงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และโครงการแทรกแซงมันสำปะหลังปีการผลิต ว่า กรมบังคับคดีจะเข้าไปดำเนินการใช้มาตรการทางประมวลกฎหมาย วิ.แพ่งในการยึดทรัพย์ โดยหน่วยงานต้นสังกัดจะแจ้งคำสั่งมายังกรมบังคับคดี ให้ดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความเสียหายให้กับหน่วยงานของรัฐในเรื่องดังกล่าว ต้องชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของ เจ้าหน้าที่รัฐ 2539 โดยกระทรวงพาณิชย์ต้องออกเป็นคำสั่งมายังกรมบังคับคดี จากนั้นจะดำเนินการตามขั้นตอนคือการแจ้งไปยังผู้เกี่ยวข้องให้ชดใช้ค่าเสียหาย หากยังไม่ชดใช้ค่าเสียหายก็ต้องนำให้หน่วยงานต้นสังกัด นำกรมบังคับคดีไปสืบทรัพย์สินว่ามีทรัพย์ที่ใดบ้าง จากนั้นกรมบังคับคดีถึงจะออกคำสั่งยึดทรัพย์มาชดใช้ค่าเสียหาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ถูกกล่าวหาสามารถฟ้องร้องทางปกครองได้

    ด้าน น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวว่า กรมบังคับคดีต้องแจ้งคำสั่งไปยังผู้ชดใช้ให้ชำระค่าเสียหาย หากยังไม่ชดใช้จะแจ้งเตือน หากไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งจริง กรมบังคับคดีจึงเข้าไปดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่ง อย่างไรก็ตามคงต้องหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อติดตามการดำเนินการตามคำสั่ง ซึ่งการกำหนดให้กรมบังคับคดีเข้าไปยึดทรัพย์ แต่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดฯ ผู้ได้รับคำสั่งมีสิทธิ์ทางปกครองที่จะอุทธรณ์คำสั่งในทางปกครองได้เช่นกัน ดังนั้นต้องรอการดำเนินของส่วนราชการและศาลด้วย ทุกอย่างขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง

รมว.พาณิชย์ เผยเซ็นคำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายขายข้าวจีทูจีแล้ว

      นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ได้ลงนามในคำสั่งทางปกครองเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากนักการเมืองและข้าราชการ 6 ราย กรณีทุจริตขายข้าวในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) รวม 4 สัญญา ปริมาณ 6.2 ล้านตัน มูลค่าความเสียหาย 20,000 ล้านบาทตามที่ได้มอบอำนาจจากนายกรัฐมนตรีแล้ว และได้มอบอำนาจให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ลงนามแทนในฐานะ รมว.พาณิชย์

    สำหรับ ขั้นตอนหลังจาก รมว.พาณิชย์ หรือผู้แทนลงนามในหนังสือแล้ว ฝ่ายกฎหมายจะส่งเรื่องไปให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 6 รายได้รับทราบ โดยมีกำหนดเวลาให้ตอบรับหรือหากจะโต้แย้งก็ต้องดำเนินการภายใน 30 วัน หากเพิกเฉยจะส่งหนังสือแจ้งเตือนรอบที่ 2 โดยให้เวลาตอบกลับภายใน 15 วัน หากยังเพิกเฉยอีกจะส่งเรื่องไปยังกรมบังคับคดีเพื่อดำเนินการยึดทรัพย์ต่อไป

     ด้าน น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า รมว.พาณิชย์ ได้หารือเรื่องการมอบอำนาจให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ลงนามแทนในหนังสือแล้ว ซึ่งตนเองจะต้องลงนามด้วย ส่วน รมว.พาณิชย์ จะลงนามแทนนายกรัฐมนตรี แต่ รมว.พาณิชย์ ต้องทำหนังสือมอบอำนาจมาให้ตนเองก่อนจึงจะลงนามแทนได้ ซึ่งเรื่องนี้สามารถดำเนินการได้ตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และเพื่อให้งานต่อเนื่อง เพราะตนเองทำเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น

    "พร้อมจะลงนามร่วมกับท่านรัฐมนตรี เพื่อให้เรื่องนี้จบลงโดยเร็ว เพราะนายกรัฐมนตรีได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ลงนามแทนในหนังสือบังคับทางปกครองตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่จนถึงขณะนี้ กระทรวงฯ ยังไม่ได้ส่งหนังสือดังกล่าวไปยังผู้ที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหาย และนายกรัฐมนตรีได้ทวงถามมาโดยตลอด เพราะคดีจะหมดอายุความเดือนกุมภาพันธ์ 2560" น.ส.ชุติมา กล่าว

หัวหน้า คสช.ใช้ ม.44 ให้กรมบังคับคดียึดทรัพย์ผู้ทำผิดรับจำนำข้าว-มัน-ข้าวโพด

     พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการออกคำสั่ง คสช. ที่ 56/2559  เรื่อง การคุ้มครองการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในการดูแลของรัฐ และการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิดว่า เป็นการให้อำนาจกรมบังคับคดีไปดำเนินการ แต่อย่างไรก็ตามต้องมีคำสั่งทางปกครองหรือคำพิพากษาของศาลออกมาก่อน พร้อมยืนยันว่าไม่ได้เป็นการให้อำนาจกระทรวงพาณิชย์ไปยึดทรัพย์โดยทันที

   ส่วนกระบวนการพิจารณาในโครงการทุจริตจำนำข้าว ยืนยันว่าจะดำเนินเสร็จในเดือนก.พ.นี้ทันก่อนหมดอายุความแน่นอน โดยขณะนี้คดีความอยู่ระหว่างการพิจารณาของทางอัยการ และหากได้ข้อสรุปออกมาจะต้องดำเนินการปฎิบัติตามระเบียบอยู่แล้ว

     เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่ง คสช. ที่ 56/2559 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ระบุว่า เมื่อได้มีคำสั่งทางปกครองของหน่วยงานของรัฐหรือคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลแล้วแต่กรณี ให้มีการบังคับทางปกครองต่อผู้ต้องรับผิดตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐ ตั้งแต่ปีการผลิต 2548/2549 จนถึงปีการผลิต 2556/2557 โครงการแทรกแซงมันสำปะหลังของรัฐตั้งแต่ปีการผลิต 2551/2552 จนถึงปีการผลิต 2555/2556 หรือโครงการแทรกแซงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2551/2552 ให้กรมบังคับคดีมีอำนาจหน้าที่ในการใช้มาตรการบังคับทางปกครอง ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามคำสั่งหรือคำพิพากษาดังกล่าว และให้ได้รับความคุ้มครองด้วย

    ก่อนหน้านี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมายอมรับว่า จะใช้ช่องทางดังกล่าวให้อำนาจกรมบังคับคดียึดทรัพย์จากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องตามคำสั่งทางปกครอง นอกเหนือจากการทำหน้าที่ยึดทรัพย์ตามคำสั่งศาล เนื่องจากเกิดการทุจริตที่มีมูลค่าความเสียหายสูงมากเกินกว่าที่เจ้าของหน่วยงานจะดำเนินการได้เอง

    อินโฟเควสท์ 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!