- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 27 August 2016 17:31
- Hits: 2452
พาณิชย์ ยันค่าเงินสิงคโปร์-ญี่ปุ่นแข็งกว่าไทยยังลุ้นส่งออกทั้งปีเป็นบวก
แนวหน้า : ส่งออก ก.ค.ติดลบ 4.4% ระบุเป็นการ ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 'พาณิชย์'เลิกฝันโต 5% ลุ้นช่วง 5 เดือน ที่เหลือ ส่งออกได้เฉลี่ย 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อเดือน อาจส่งผลให้ส่งออกพลิกกลับมาบวก 1.3% หากต่ำกว่านั้นอาจติดลบนิดๆ ยกเว้นค่าเงินบาทจะแข็งกว่าปัจจุบัน
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ แถลงสถานการณ์ส่งออกของไทยในเดือน ก.ค. 2559 ว่า มีมูลค่า 17,415 ล้านเหรียญ สหรัฐ ลดลง 4.4% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากราคาน้ำมันยังเป็น ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการส่งออกจากเฉลี่ย 46.5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในเดือนมิ.ย. 2559 มาเหลือเฉลี่ย 42.5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในเดือน ก.ค. 2559 รวมการส่งออกยานยนต์ที่ลดลงมา ส่งผลให้ 7 เดือน ตั้งแต่ ม.ค.-ก.ค. 2559 มีมูลค่า 122,553 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ ในเดือนก.ค. สินค้าเกษตร และอุตสาหกรรม การเกษตร มูลค่าการส่งออกลดลง 18.6% โดยสินค้า สำคัญที่ลดลง ได้แก่ ข้าว ยางพารา ผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลัง และน้ำตาล แต่ก็มีสินค้าบางตัวที่ขยายตัวได้ดี เช่น อาหารทะเลแช่แข็ง ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป และเครื่องดื่ม ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม มูลค่าส่งออกลดลง 0.4% ซึ่งลดลงตามการส่งออกที่ลดลงของ รถยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ส่วนสินค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น ทองคำ อุปกรณ์กึ่งตัวนำเทรนซิสเตอร์/ไดโอด เครื่องยนต์สันดาป
ขณะที่การนำเข้าในเดือน ก.ค. มีมูลค่า 16,202 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.2% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า 1,213 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 7 เดือน การนำเข้ามีมูลค่า 108,926 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 9.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า 13,627 ล้านเหรียญสหรัฐ
นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สถานการณ์ส่ง ทั้งปี 2559 มีโอกาสติดลบ แต่จะเป็นการติดลบเพียง เล็กน้อย เพราะเศรษฐกิจโลกยังคงซึมตัว ราคาน้ำมัน ที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน แต่อย่างไรก็ตามหากว่าราคาน้ำมันที่เริ่มปรับขึ้น และมีโอกาสขยับมาอยู่ที่ระดับ 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และค่าเงินบาทไม่แข่งค่ากว่าปัจจุบัน รวมถึงไม่มีสถานการณ์ไม่คาดคิดมากระทบ ก็น่าจะทำให้ส่งออกทั้งปี เป็นบวกได้
"ค่าเงินบาทที่แข็งตอนนี้ มองว่า จะไม่กระทบต่อการส่งออก เพราะยังแข็งค่าน้อยกว่าหลายประเทศ ทั้ง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น แต่อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องของค่าเงิน ที่ต้องดูเรื่องนโยบายทางการเงินของประเทศใหญ่ๆ เช่น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่จะช่วงให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงบ้าง รวมถึงการใช้มาตรการ QE ของหลายประเทศ"
นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมจะมีการประชุมหารือร่วมทูต พาณิชย์ในเดือน ก.ย.นี้ เพื่อประเมินสถานการณ์การส่งออกทั้งปี 2559 อีกครั้ง ว่าจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร โดยในส่วนของเป้าที่ตั้งไว้ 5% ถือเป็นเป้าหมายการทำงาน แต่ในเบื้องต้นประเมินการส่งออกในช่วง 5 เดือนที่เหลือ ซึ่งตามปกติการ ส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง จะดีกว่าครึ่งปีแรก จากสถิติเฉลี่ 3 ปี(พ.ศ. 2556-2558) ช่วง ส.ค.-ธ.ค. มูลค่าส่งออกจะเฉลี่ยที่ 95,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และ คาดว่าปีนี้มูลค่าการส่งออกจะเฉลี่ยใกล้เคียงกัน หาก ได้ตามสถิติจะทำให้มูลค่าส่งออกปี 2559 เท่ากับ 223,460 ล้านเหรียญสหรัฐ ก็จะทำให้ส่งออกเป็นบวก
"ตัวเลขส่งออกในช่วง 5 เดือนที่เหลือ หากเฉลี่ยได้เดือนละ 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ก็อาจทำให้ส่งออกติดลบนิดๆ แต่หากเฉลี่ยได้เดือนละ 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ก็จะทำให้ส่งออกเป็นบวก ประมาณ 1.3%" นางมาลี กล่าว
พณ.ปรับเป้าส่งออก ก.ย.นี้ ลุ้นแนวโน้มช่วงที่เหลือปีนี้-บาทแข็งยังไม่กระทบ
บ้านเมือง : พาณิชย์เล็งทบทวนเป้าส่งออกช่วง ก.ย.รอลุ้นแนวโน้มช่วงที่เหลือปีนี้-บาทแข็งยังไม่กระทบ ระบุยอมรับศก.โลกที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาดการณ์ส่งผลมูลค่าส่งออก ก.ค.ติดลบ 4.4% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แต่หวังระยะ 5 เดือนที่เหลือ หากส่งออกได้กว่า 95,000 ล้านดอลลาร์ ส่งออกปีนี้จะเป็นบวกได้ ขณะที่จ่อถกภาคเอกชนรุกขยายการค้าใน CLMV
นายสุวิทย์ เมษิณทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยมูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนกรกฎาคม 2559 พบว่า มีมูลค่า 17,415 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 4.4% มากกว่าเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ที่ติดลบเพียง 0.07% และติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกลงเหลือ 3.1%
ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัว 0.4% โดยเฉพาะรถยนต์และส่วนประกอบ ติดลบร้อยละ 6.7% น้ำมันสำเร็จรูป หดตัว 40.7% และเม็ดพลาสติก ติดลบ 14.8 และการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรติดลบ 18.6% จากสภาพอากาศที่แปรปรวนทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรลดลง รวมทั้งราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ปรับตัวลดลงเฉลี่ยในเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ 42.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล ส่งผลให้ในระยะ 7 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่าส่งออกรวม 122,553 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 2%
นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า หลังจากนี้จะต้องจับตาปัจจัยจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก เพราะมีผลต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน ซึ่งมีสัดส่วนถึง 10% ของการส่งออกทั้งหมด รวมทั้งค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในขณะนี้ แต่ยังในระดับใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่ง
นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์จะมีการทบทวนเป้าหมายการส่งออกในปีนี้อีกครั้งในช่วงเดือน ก.ย.59 หลังจากมูลค่าการส่งออกยังคงติดลบอย่างต่อเนื่องจากปีก่อน จากเดิมที่ตั้งเป้าเติบโตไว้ราว 5% ในปีนี้ แต่ในช่วงกลางเดือนกันยายนนี้ จะมีการประชุมร่วมกับทูตพาณิชย์ทั่วโลก เพื่อประเมินสถานการณ์การส่งออกในแต่ละตลาดอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม จากมูลค่าส่งออกช่วงเดือน ส.ค.-ธ.ค.ของช่วง 3 ปีก่อนหน้านี้ (ปี 56-59) พบว่าในเดือน ส.ค.จะมีมูลค่าประมาณ 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐ, เดือน ก.ย.เฉลี่ยราว 19,300 ล้านเหรียญสหรัฐ, เดือน ต.ค.ราว 19,300 ล้านเหรียญสหรัฐ, เดือน พ.ย.ราว 18,100 ล้านเหรียญสหรัฐ และเดือน ธ.ค.อยู่ที่ราว 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมแล้วประมาณ 95,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้นหากนำมาเทียบทั้งปีก็คาดว่าการส่งออกในปีนี้น่าจะมีมูลค่าใกล้เคียงกับปีก่อน และได้รับคำยืนยันจากผู้ส่งออกหลายรายว่าน่าจะส่งออกได้มากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
สำหรับ การร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกับนายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เพื่อแลกเปลี่ยนความร่วมมือในการพัฒนา ส่งเสริม และให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการการค้าระหว่างประเทศของไทยในการออกไปดำเนินธุรกรรมการค้าและการลงทุนในต่างประเทศ ตลอดจนได้กำหนดแนวทางการบูรณาการผ่านการตั้งคณะทำงานร่วมกัน ในการกำหนดแผนดำเนินงานและติดตามผลการทำงานเป็นระยะ นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายจะได้แลกเปลี่ยนข่าวประชาสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งจะได้เผยแพร่เข้าถึงผู้ประกอบการในวงกว้างมากขึ้นให้ได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์และได้รับการส่งเสริมการตลาด ขยายช่องทางการค้า เข้าถึงสินเชื่อทางการเงิน และลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นทั้งด้านการค้าและการลงทุนอย่างครบวงจร
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะทำงานด้านการส่งเสริมการส่งออกและการลงทุนในต่างประเทศ (D4) ภายใต้คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ได้นัดประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้ามาตรการผลักดันการส่งออกเร่งด่วนที่จะเน้นการเจาะตลาด CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) โดยได้มอบหมายให้มีคณะทำงานย่อย เพื่อพิจารณารูปแบบและแนวทางการจัดตั้ง AEC Town ที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา และ Viet-Thai Commercial Center ที่นครโฮจิมินห์ เวียดนาม ให้เป็นศูนย์จำหน่ายทั้งส่งและปลีกของสินค้าแบรนด์ไทยคุณภาพสูง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ไทยเข้าสู่ตลาดกัมพูชาและเวียดนาม
ส่วนการเจาะตลาด CLMV ตามนโยบาย CLMV as our home market ของรัฐบาล คณะทำงานได้เน้นการใช้กลยุทธ์ "เพื่อนพาเพื่อน" ไปเจาะตลาดรายประเทศ โดยเมื่อวันที่ 19 ส.ค.59 บริษัท BJC ได้ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์จัดกิจกรรมให้ความรู้เชิงลึกด้านการเจาะตลาดเวียดนามให้กับผู้ประกอบการ SMEs ศักยภาพสูง 51 บริษัท ในกลุ่มอาหาร และสินค้าอุปโภคบริโภค ตลอดจนจับคู่ธุรกิจกับผู้จัดจำหน่ายในเวียดนามโดยตรง โดยจะมีการนำสินค้าไทยเข้าไปวางจำหน่ายในช่องทางค้าปลีกเวียดนามต่อไป
พาณิชย์ ทบทวนเป้าส่งออกช่วง ก.ย.รอลุ้นแนวโน้มช่วงที่เหลือปีนี้-บาทแข็งยังไม่กระทบ
นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์จะมีการทบทวนเป้าหมายการส่งออกในปีนี้อีกครั้งในช่วงเดือน ก.ย.59 หลังจากมูลค่าการส่งออกยังคงติดลบอย่างต่อเนื่องจากปีก่อน จากเดิมที่ตั้งเป้าเติบโตไว้ราว 5% ในปีนี้ ซึ่งเป็นเป้าหมายการทำงานที่ให้ไว้กับทูตพาณิชย์
อย่างไรก็ตาม จากมูลค่าส่งออกช่วงเดือน ส.ค.-ธ.ค.ของช่วง 3 ปีก่อนหน้านี้ (ปี 56-59) พบว่าในเดือน ส.ค.จะมีมูลค่าประมาณ 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ, เดือน ก.ย.เฉลี่ยราว 19,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ , เดือน ต.ค.ราว 19,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ, เดือน พ.ย.ราว 18,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเดือน ธ.ค.อยู่ที่ราว 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รวมแล้วประมาณ 95,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ดังนั้น หากนำมาเทียบทั้งปีก็คาดว่าการส่งออกในปีนี้น่าจะมีมูลค่าใกล้เคียงกับปีก่อน และได้รับคำยืนยันจากผู้ส่งออกหลายรายว่าน่าจะส่งออกได้มากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
ด้านนายสมเกียรติ ศรีรัตน์พันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ยอมรับว่า ตัวเลขการส่งออกในปีนี้คงเป็นบวกได้ยาก แต่ก็จะพยายามไม่ให้แย่ไปกว่าปัจจุบัน
"ผมว่าโอกาสยากมากเลย แต่ถ้าลบก็ลบน้อยๆ ไม่น่าจะลบเยอะ เพราะตอนนี้ก็อยู่ -2% แต่สมมติถ้าสถานการณ์ดีขึ้นปลายปีก็จะทำให้ลบได้น้อยกว่านี้ พยายามไม่ให้แย่กว่านี้"นายสมเกียรติ กล่าว
สำหรับ ปัจจัยที่จะส่งผลต่อการส่งออกในช่วงเวลา 5 เดือนที่เหลือของปีนี้ มองว่าเป็นเรื่องของราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อสินค้าเกี่ยวเนื่องทั้งน้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก ซึ่งสินค้าทั้ง 3 ตัวรวมกันมีสัดส่วนราว 10% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย ซึ่งตามหลักการแล้วปกติในช่วงไตรมาสสุดท้ายเข้าสู่ฤดูหนาวราคาน้ำมันมีทิศทางที่จะปรับตัวสูงขึ้นอีก
ส่วนปัจจัยเรื่องค่าเงินขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละประเทศ เช่นกรณีของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อาจแข็งค่าขึ้นหากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และจะกระทบต่อค่าเงินของประเทศอื่น ๆ ให้อ่อนลง และอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยได้ และปัจจัยสภาวะเศรษฐกิจโลก เชื่อว่าจะยังไม่ปรับตัวดีขึ้นมากนักในปีนี้
"ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกมากนัก เพราะค่าเงินบาทยังแข็งค่าขึ้นยังน้อยกว่าเมื่อเทียบกับค่าเงินประเทศเพื่อนบ้านทั้งสิงค์โปร์ มาเลเซีย หรือญี่ปุ่น แต่ต้องติดตามนโยบายจากประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐฯจะมีการเดินหน้าเรื่อง QE หรือไม่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกได้" นายสมเกียรติ กล่าว
พาณิชย์ เผยส่งออก ก.ค.หดตัว -4.4% นำเข้าหดตัว -7.2% เกินดุล 1,213 ล้านดอลล์
กระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศในเดือน ก.ค.59 การส่งออกมีมูลค่า 17,415 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -4.4% ขณะที่ตลาดคาดส่งออก หดตัว-2.0 ถึง -2.25%
ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 16,202 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -7.2% ส่งผลให้ดุลการค้าเดือน ก.ค.59 เกินดุล 1,213 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการเกินดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 ติดต่อกัน
"สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาดการณ์ ราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ และผลผลิตภาคเกษตรที่หดตัวในระดับสูงจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนกรกฎาคมยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ 4.4%" นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าว
โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ตามการลดลงของปริมาณการส่งออก เนื่องจากความผันแปรของปัจจัยการนำเข้าในตลาดคู่ค้าสำคัญ รวมทั้งปัจจัยภายในประเทศจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ขณะที่ราคาส่งออกปรับตัวตามกลไกตลาด โดยภาพรวมเดือน ก.ค.59 มูลค่าการส่งออกสินคักลุ่มนี้ลดลง 18.6% ได้แก่ ข้าว ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และน้ำตาล ซึ่งลดลง 35.1% 34.8% 28.4% และ 33.8% ตามลำดับ ขณะเดียวกันมีสินค้าบางรายการที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ อาหารทะเลแช่แข็งโดยเฉพาะกุ้ง ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป รวม 7 เดือนแรกของปีนี้หดตัว -6.2%
ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือน ก.ค.59 หดตัว -0.4% ตามการลดลงของการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ ขณะที่สินค้าที่ยังขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ทองคำขยายตัว 457.1% อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์/ไดโอดขยายตัว 104.0% รวม 7 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัว 0.2%
ทั้งนี้ ส่งผลให้การส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.59) มีมูลค่ารวม 122,553 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -2.0% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่ารวม 108,926 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 9.8% โดยการค้าเกินดุลทั้งสิ้น 13,626 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
อินโฟเควสท์