WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

MOC Somkiatอัตราเงินเฟ้อมิ.ย.เพิ่ม 0.38%สูงขึ้นต่อเนื่องเดือนที่ 3 พาณิชย์ปรับเป้าส.ค.นี้
      ไทยโพสต์ : พาณิชย์ * เงินเฟ้อเร่งสปีด เดือน มิ.ย.สูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เพิ่มขึ้น 0.38% แต่ครึ่งปีแรกยังติดลบ 0.09% "พาณิชย์" คาดครึ่งปีหลังยังเป็นขาขึ้น เหตุราคาน้ำมันยังเคลื่อนไหวในกรอบใกล้เคียงปีก่อน เตรียมปรับประมาณการทั้งปีอีกครั้งในเดือน ส.ค.นี้
นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน มิ.ย.2559 เท่ากับ 107.05 สูงขึ้น 0.38% เทียบกับ มิ.ย.2558 เป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเดือนที่ 3 นับจากเดือน เม.ย.2559 และเมื่อเทียบกับ พ.ค.2559 เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.03% แต่เฉลี่ยครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ยังลดลง 0.09% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน
       สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.38% เป็นผลจากดัชนีหมวด อาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอ ฮอล์เพิ่มขึ้น 2.80% สินค้าที่ราคาแพงขึ้น เช่น เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ เพิ่ม 3.03% ไข่และผลิตภัณฑ์นมเพิ่ม 3.07% ผักและผลไม้เพิ่ม 12.31% อา หารบริโภคในบ้านเพิ่ม 1.34% หมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลง 0.94% สินค้าที่ราคาลดลง เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงลด 9.10% ค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าหอพักลด 1.41% ส่วนสินค้าที่ราคาแพงขึ้น เช่น หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์เพิ่ม 13.07%
     สำหรับ แนวโน้มเงินเฟ้อในไตรมาส 3 คาดว่ายังคงเป็น ขาขึ้น เพราะยังไม่มีปัจจัยอะไรที่ทำให้เงินเฟ้อปรับตัวลดลง โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเริ่มทรงตัว ทำให้ฐานปีนี้ใกล้เคียงกับปีก่อน โดยจะมีการปรับคาดการณ์เงินเฟ้อ 2559 อีกครั้งในช่วงเดือน ส.ค. นี้
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังคงยืนยันคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ ทั้งปีที่ระดับเดิม คือ ขยายตัว 0.0-1.0% ภายใต้สมมติฐานคือ เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.8-3.8% ราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบเฉลี่ยราคา 30-40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 36-38 บาท/เหรียญสหรัฐ โดยขณะนี้ราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบเดือน มิ.ย.เฉลี่ยอยู่ที่ 46.25 บาท/เหรียญสหรัฐ และอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 35.31 บาท/เหรียญสหรัฐ
     "ปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือ คือสถานการณ์ภัยแล้ง ส่งผลกระทบต่อราคาพืชผลเกษตร และการลงประชามติในกลุ่มสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิต) ซึ่งมีผลต่อค่าเงินให้ผันผวน เชื่อว่าไม่น่าจะกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในการนำเข้าวัตถุดิบสินค้าเท่าใดนัก แต่อาจกระทบต่อภาคการส่งออกที่ผู้ส่งออกต้องตั้งราคาขาย ซึ่งค่าเงินที่ผันผวนทำให้การตั้งราคาขายทำได้ยากขึ้น" นายสมเกียรติกล่าว
สำหรับ ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (เงินเฟ้อพื้นฐาน) หักสินค้ากลุ่มอาหารและพลังงานออกไป พบว่าในเดือน มิ.ย.2559 เงินเฟ้อพื้นฐานเท่ากับ 106.67 สูงขึ้น 0.80% เทียบกับ มิ.ย.2559 และสูงขึ้น 0.08% เทียบกับ พ.ค.2559 ส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยครึ่งปีแรก 2559 สูงขึ้น 0.73% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา.
พาณิชย์ เผย CPI เดือน มิ.ย.59 ขยายตัว 0.38%, Core CPI ขยายตัว 0.8%
      กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือน มิ.ย.59 อยู่ที่ 107.05 ขยายตัว 0.38% เมื่อเทียบกับ มิ.ย.58 (จากตลาดคาด 0.5%) เป็นผลมาจากราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ปรับสูงขึ้นอาทิ ผัก สดและผลไม้สด เนื้อสุกร ไข่ไก่ และอาหารสำเร็จรูป เนื่องจากอุปทานในตลาดลดลง ในขณะเดียวกัน ถึงแม้ว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ผลกระทบสะสมของราคาน้ำมันและพลังงานในหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร และค่ากระแสไฟฟ้าในหมวดเคหสถานยังคงเป็นปัจจัยกดดันให้อัตราเงินเฟ้อขยายตัวในระดับต่ำ
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เดือนมิ.ย.59 สูงขึ้น จากการสูงขึ้นของ 1) หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ 0.99% ปัจจัยสำคัญมาจาก 1) ผักสด อาทิ พริกสด กะหล่ำปลี หัวหอมแดง 2) อาหารบริโภคในบ้าน อาทิ กับข้าวสำเร็จรูป อาหารโทรสั่ง 3) เนื้อสุกร 4) ไข่ไก่ (ผลกระทบ 0.36%, 0.13%, 0.06%, และ 0.06% ตามลำดับ) 2) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ จากผลสะสมของปรับอัตราค่าแสตมป์ยาสูบตามมูลค่าเมื่อเดือนก.พ.59 ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ 0.17% 3) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล จาก 1) ค่าเบี้ยประกันชีวิต (ผลกระทบ 0.01%) 2) ค่าบริการส่วนบุคคลเพื่อความสวยงาม อาทิ ค่าแต่งผมชาย ค่าแต่งผมสตรี (ผลกระทบ 0.02%) 3) ค่าตรวจโรคคลินิกเอกชน (ผลกระทบ 0.01%)
     ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อยังคงได้รับแรงกดดันจาก 1) หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกภายในประเทศ โดยเฉพาะน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 95 น้ำมันดีเซล และก๊าชยานพาหนะ (LPG) ส่งผลกระทบทางลบต่ออัตราเงินเฟ้อ -0.58% ลดลงจากระยะ 2 – 3 เดือนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพในช่วงครึ่งปีหลัง รวมทั้งค่ากระแสไฟฟ้าและก๊าซหุงต้ม 2) หมวดเคหสถาน อาทิ ค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง -0.35%
      เมื่อเทียบเดือนพฤษภาคม 2559 อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นเท่ากับ 0.03% (MoM) โดยได้รับอิทธิพลสำคัญมาจาก 1) หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร (ผลกระทบ 0.06%) อาทิ น้ำมันดีเซล 2) หมวดเคหสถาน (ผลกระทบ 0.01%) อาทิ ค่าเช่าบ้าน ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด 3) หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษา และการศาสนา (ผลกระทบ 0.01%) เนื่องมาจากเป็นช่วงเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2559 ในขณะที่ หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ราคาโดยรวมปรับลดลง อาทิ ข้าวสารเจ้า ผักสด (ถั่วฝักยาว มะนาว มะเขือ) ไก่สด และส่งผลกระทบทางลบต่ออัตราเงินเฟ้อ (MoM) -0.03%
     ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน มิ.ย.59 อยู่ที่ 106.67 ขยายตัว 0.80% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.58 และขยายตัว 0.08% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ Core CPI ช่วง 6 เดือนแรกปี 59 ขยายตัว 0.73%
ดัชนี ราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เดือน มิ.ย.59 อยู่ที่ 117.13 หดตัว 0.07% เทียบกับเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 2.80% เทียบกับเดือน มิ.ย.58 ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 101.72 ขยายตัว 0.10% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่ลดลง 0.94% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.58
     ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.59) เฉลี่ยอยู่ที่ -0.09% และมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้จ่ายของครัวเรือน สำหรับทั้งปียังคงคาดการณ์กรอบเงินเฟ้อที่ 0.0-1.0% ตามเดิม ภายใต้สมมติฐานที่ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปีนี้เติบโตได้ 2.8-3.8% อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ระดับ 36-38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ระดับ 30-40 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
     นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มจะเป็นบวก หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ได้ปรับตัวเป็นบวกต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 3 ในเดือนมิ.ย.นี้ ซึ่งจากสถานการณ์ในปัจจุบันยังมองไม่เห็นว่าจะมีปัจจัยใดที่จะมาฉุดให้อัตราเงินเฟัอกลับไปติดลบได้อีก และระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกก็เริ่มทรงตัวดีขึ้น ยกเว้นว่าจะเกิดภาวะปั่นป่วนขึ้นกับเศรษฐกิจโลก
      "มองว่าครึ่งปีหลังเงินเฟ้อจะเป็นบวก เพราะระดับราคาตอนนี้เทียบกับปีก่อนก็สูงกว่าอยู่แล้ว เว้นแต่จะมีปัจจัยอะไรมาดึงให้กลับไปเป็นลบ ซึ่งถ้าไม่มีปัจจัยอะไรแนวโน้มเงินเฟ้อก็น่าจะเป็นบวก ตอนนี้ยังมองไม่เห็นว่าจะมีปัจจัยใดที่จะมาทำให้เงินเฟ้อกลับไปติดลบ เว้นแต่จะเกิดกรณีเศรษฐกิจโลกปั่นปวน และราคาน้ำมันปรับลดลงไปอีก ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น คงต้องมาดูกันอีกที" นายสมเกียรติ กล่าว
โดยก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ว่าอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 3/59 จะเพิ่มขึ้น 1% และในไตรมาส 4/59 จะเพิ่มขึ้น 2%
พร้อมระบุว่า อัตราเงินเฟ้อที่เป็นบวกเล็กๆ เช่นปัจจุบันนี้ถือว่าดี เพราะทำให้เห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจมีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นได้ ซึ่งหากเงินเฟ้อยังติดลบต่อไปอีกเรื่อยๆ ก็อาจจะไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ
    อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์จะมีการทบทวนคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสำหรับปีนี้ใหม่อีกครั้งในเดือน ส.ค.59
อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!