- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 22 July 2014 17:33
- Hits: 3247
เศรษฐกิจชาติคู่ค้าฟื้นคำสั่งซื้อสินค้าเพิ่ม เอกชนมั่นใจส่งออกกระเตื้อง
แนวหน้า : สนย. เผยผลสำรวจความคิดเห็นผู้ส่งออก ส่วนใหญ่เชื่อไตรมาส 3 ฟื้น ตามเศรษฐกิจชาติคู่ค้า ทั้งสหภาพยุโรปและสหรัฐ แต่พาณิชย์ยังไม่วายห่วงปัญหาอิรัก กดดันราคาน้ำมัน กระทบต้นทุนสินค้า ต้องเกาะติดใกล้ชิด แต่ยังมั่นใจส่งออกทั้งปีโต 3.5% บจ.หลายแห่งเร่งระดมทุนขยายกำลังการผลิต หลังการเมืองนิ่ง เศรษฐกิจขยายตัว
นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนย.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าจากการออกสำรวจความคิดเห็นของผู้ส่งออกจำนวน 205 ราย เกี่ยวกับภาวะธุรกิจส่งออกในไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน 2557) พบว่าส่วนใหญ่มองว่าการส่งออกมีทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าการส่งออกของไทยในไตรมาส 3 จะดีขึ้น 48.3% ไม่เปลี่ยนแปลง 44.2% และลดลง 7.5% ส่งผลทำให้ค่าดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจส่งออกมีค่าเท่ากับ 70.4 ซึ่งสูงกว่าค่าปกติที่ 50 และผลการสำรวจสอดคล้องกับการคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ ที่คาดว่าการส่งออกจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งตามสัญญาณเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญที่เริ่มดีขึ้น
“จากสหภาพยุโรปที่ฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย และสหรัฐ ที่เพิ่งผ่านพ้นวิกฤตการณ์ความหนาวเย็นยาวนานจากช่วงครึ่งปีแรก ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกกลับมาขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้มูลค่าการส่งออกของไทยกลับมาขยายตัวได้มากขึ้น”
สินค้าสำคัญที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผัก ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งกระป๋องและแปรรูป ยางพารา และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศโดยเฉพาะชาติคู่ค้า สถานการณ์ในอิรักที่อาจจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในตลาดโลก ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ก็ยังเชื่อมั่นว่าการส่งออกของไทยจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นมากตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 3 เป็นต้นไป และเป้าหมายมูลค่าการส่งออกของประเทศขยายตัวได้ตามเป้าที่ 3.5% อย่างแน่นอน
นอกจากนี้ สนย.ยังได้วิเคราะห์การนำเข้า โดยในช่วง 5 เดือนของปี 2557 (มกราคม-พฤษภาคม) การนำเข้าในรูปเงินเหรียญสหรัฐ มีมูลค่า 94,418.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 14% ในรูปเงินบาทมีมูลค่า 3,078,850.6 ล้านบาท ลดลง 6% เป็นการลดลงในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ทองคำ สินแร่โลหะ ปุ๋ย เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น ทั้งนี้คาดว่าการนำเข้าจะมีแนวโน้มขยับสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการส่งออกของไทย ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกทำให้มูลค่านำเข้าในช่วงครึ่งปีหลังสูงขึ้น
“สาเหตุที่ทำให้การนำเข้าลดลง เนื่องจากราคานำเข้าสินค้าหลักหลายรายการปรับลดลงตามราคาตลาดโลก ทำให้ราคาสินค้านำเข้าลดลง เช่น ทองคำ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ปุ๋ย และธัญพืช และยังเกิดจากการชะลอการลงทุนในประเทศและการอ่อนของค่าเงินบาท ทำให้มีการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อมาผลิตสินค้าน้อยลง”
ด้านนางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีรภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย กล่าวถึงการระดมทุนของบริษัทจดทะเบียน(บจ.) ในช่วงครึ่งปีหลังว่ามีแนวโน้มดีขึ้น ภายหลังเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา จากสถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มมีความชัดเจน รวมถึงสภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ โดยช่วง 1-2 เดือนหลังจากนี้ จะมีบจ.ขนาดกลาง และขนาดเล็กเพิ่มทุนจำนวนมาก ซึ่งหลังจากนั้นจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยจะเป็นการระดมทุนของบจ.ขนาดใหญ่
บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตจะมีความต้องการระดมทุนมากที่สุดเพราะต้องนำเงินไปใช้ในการเพิ่มกำลังการผลิตรวมถึงขยายธุรกิจของบริษัท เพราะในช่วงที่ผ่านมาไม่สามารถระดมทุนได้ เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่ชัดเจน
“หลังจากนี้เชื่อว่าบจ.ทั้งไซต์ใหญ่ กลาง เล็ก จะระดมทุนจำนวนมากเพื่อนำเงินไปใช้ในการขยายธุรกิจและเพิ่มกำลังการผลิต โดยเฉพาะบริษัทในภาคอุตสาหกรรมการผลิต อาทิ ยานยนต์ ที่คาดว่าจะมีการระดมทุนสูงสุด หลังจากช่วงที่ผ่านมาต้องชะลอเอาไว้ก่อนเพื่อรอดูความชัดเจนทางการเมือง นอกจากนี้ดัชนีที่ขึ้นสูงในช่วงที่ผ่าน และมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยังเป็นแรงจูงใจให้บจ.เพิ่มทุนมากขึ้น เนื่องจากจะได้รับผลตอบแทนตามมูลค่าของบริษัท อย่างไรก็ตามคงต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุนด้วย” นางภัทธีรา กล่าว