- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 22 July 2014 17:30
- Hits: 3213
ชี้ส่งออกไตรมาส 3 ฟื้นตัวแรง ธปท.ย้ำบาทแข็งรับคสช.จ่ออัพจีดีพี
ไทยโพสต์ * พาณิชย์เผยผลสำรวจภาคเอกชน ระบุการส่งออกไตรมาส 3 ฟื้นตัวแรง หลายสินค้าขายได้เพิ่ม ตลาดหลักทั้งยุโรป สหรัฐสร่างไข้ จับตาปัญหาอิรักดันราคาน้ำมันสูงขึ้น แต่มั่นใจส่งออกทั้งปีโต 3.5% ทำได้แน่ ธปท.ย้ำบาทแข็งค่าตามภูมิภาค รับข่าวดี คสช.เตรียมขยับจีดีพี ลุ้นเกิน 2.5%
นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนย.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ส่งออกจำนวน 205 ราย เกี่ยวกับภาวะธุรกิจส่งออกในไตรมาส 3 (ก.ค.-ก.ย.2557) พบว่า การส่งออกมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยผู้ประกอบการส่งออกคาดว่าการส่งออกของไทยในไตรมาส 3 จะดีขึ้น 48.3% ไม่เปลี่ยนแปลง 44.2% และลดลง 7.5% ส่งผลให้ค่าดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจส่งออกเท่ากับ 70.4 สูงกว่าค่าปกติที่ 50 แสดงให้เห็นว่านักธุรกิจมองว่าการส่งออกมีทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง
สินค้าสำคัญที่คาดว่าจะมีการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผัก ผลไม้สดแช่เย็น-แช่แข็ง-กระป๋องและแปรรูป ยางพารา และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
"ผลสำรวจสอดคล้องกับการคาดการณ์ของกระทรวงพา ณิชย์ที่คาดว่าการส่งออกจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งตามสัญญาณเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญที่เริ่มดีขึ้น ทั้งสหภาพยุโรปที่ฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย และสหรัฐที่เพิ่งผ่านพ้นวิกฤตการณ์ความหนาวเย็นยาวนานจากช่วง ครึ่งปีแรก ทำให้ภาพรวมเศรษฐ กิจโลกกลับมาขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง และจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้มูลค่าการส่งออกของไทยกลับมาขยายตัวได้มากขึ้น"นางอัมพวันกล่าว
นางอัมพวัน กล่าวว่า แม้ทิศทางการส่งออกจะดีขึ้น แต่ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม ทั้งภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศที่จะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย รวมทั้งสถานการณ์ในอิรักที่อาจจะส่งผล กระทบต่อราคาน้ำมันในตลาดโลก อันจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ยังเชื่อมั่นว่าการส่งออกของไทยจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นมากตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 เป็นต้นไป ทำให้ทั้งปีขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 3.5% อย่างแน่นอน
นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แนวโน้มการแข็งค่าเงินบาท การเคลื่อนไหวในวันที่ 21 ก.ค. ที่ระดับ 32.12 -32.00 บาทต่อดอลลาร์ เป็นการเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค นำโดยรูเปียห์อินโดนีเซียที่แข็งค่ามากสุด ขณะที่เงินบาทไทยแข็งค่ารองลงมา
ปัจจัยที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น เนื่องจากนักลงทุนในตลาดการเงินโลกมีความเชื่อมั่นในตลาดเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากผลการเลือกตั้งของอินโดนีเซียมีความชัดเจนมากขึ้น และกรณีที่มีกระแสข่าวว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาจจะปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ใหม่ โดยมองว่าเศรษฐกิจจะเร่งตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ทำให้ทั้งปีมีโอกาสขยายตัวได้สูงกว่า 2.5%.