WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

MOCอภรด ตนตราภรณ copy'พาณิชย์'สุดปลื้ม FTA ไทย-ออสซีพาณิชย์วาดฝันการค้าเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว

    บ้านเมือง : 'พาณิชย์' ปลื้ม FTA ไทย-ออสเตรเลีย 11 ปี ดันการค้าเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว ระบุเตรียมนัดจับเข่าคุยระดับรัฐมนตรี หาทางขยายการค้า การลงทุนเพิ่ม ขณะที่สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย คาดส่งออกปี 59 ขยายตัว 15% หลังต่ำสุดรอบ 5 ปี

       นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ประเมินผลการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ซึ่งเป็นความตกลง FTA ฉบับแรกที่ไทยทำกับต่างประเทศพบว่า หลังจากบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2548 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 11 ปี ได้ส่งผลช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น โดยมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว จากมูลค่าการค้าเฉลี่ย 3 ปี (2545-2547) ก่อนที่จะทำ FTA มีมูลค่าเฉลี่ย 3,842.9 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เมื่อทำ FTA แล้วมูลค่าการค้าเฉลี่ย 3 ปี (2556-2558) เพิ่มขึ้นเป็น 14,845.1 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ามาโดยตลอด

     ทั้งนี้ ในด้านการค้าสินค้า ออสเตรเลียได้ลดภาษีสินค้าทุกรายการเป็น 0% หมดแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.58 ซึ่งเป็นโอกาสที่ผู้ส่งออกของไทยจะส่งออกสินค้าต่างๆ ไปยังตลาดออสเตรเลียโดยปราศจากภาษี ส่วนไทยได้ลดภาษีสินค้าจำนวน 98.99% ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมดเป็น 0% แล้ว คงเหลือสินค้าบางรายการ เช่น สินค้าปศุสัตว์ (เนื้อวัว เนื้อหมู นม เนย) ชา และกาแฟ ที่ไทยขอเวลาปรับตัว 15 ปี โดยจะทยอยลดภาษีและเปิดเสรีในปี 2563 โดยสินค้าส่งออกของไทยที่ใช้สิทธิประโยชน์จากการลดภาษีมาก เช่น ยานยนต์และอุปกรณ์ เม็ดพลาสติก อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องปรับอากาศและอุปกรณ์

     ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ และในด้านการนำเข้า ไทยได้ใช้สิทธิประโยชน์นำเข้าสินค้าหลายรายการเพื่อใช้ในกระบวนการผลิต เช่น น้ำมันดิบ ถ่านหิน สินแร่โลหะ ก๊าซธรรมชาติ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น

  นอกจากนี้ ภาคบริการและการลงทุนของไทยในออสเตรเลียยังมีโอกาสขยายตัวได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจบริการที่มีศักยภาพสูง ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ภัตตาคารไทย สุขภาพ ธุรกิจรักษาพยาบาลที่มีการพำนักระยะยาว เสริมความงาม ประดับยนต์ การออกแบบและก่อสร้าง เป็นต้น ซึ่งเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะขยายตลาดไปสู่ออสเตรเลีย นอกเหนือจากธุรกิจด้านพลังงานและอาหารไทย ที่ถือว่าไทยประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในปัจจุบัน

  อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การขยายการค้าและการลงทุนของไทยกับออสเตรเลียเพิ่มมากขึ้น กระทรวงฯ ได้กำหนดจัดให้มีการประชุมในระดับรัฐมนตรีร่วมกับออสเตรเลียในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการประสานงานนัดหมาย

  สำหรับ ออสเตรเลียเป็นคู่ค้าลำดับที่ 7 ของไทย ในปี 2558 มีมูลค่าการค้า 13,978 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อนหน้า เป็นตลาดส่งออกสำคัญลำดับ 6 มีมูลค่าการส่งออก 9,768 ล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นแหล่งนำเข้าลำดับที่ 13 ด้วยมูลค่าการนำเข้า 4,210 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ารวม 5,558 ล้านเหรียญสหรัฐ

    นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมการส่งออกอุตสาหกรรมทูน่าไทยในปี 2558 ที่ผ่านมา ต่ำสุดในรอบ 5 ปี มีมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 75,000-78,000 ล้านบาท เป็นผลจากราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาปลาทูน่าที่ตกต่ำ รวมถึงความต้องการในหลายประเทศลดลง แต่ทั้งนี้พบว่าหลายบริษัทของไทยยังมีกำไรจากการสร้างมูลค่าเพิ่มในการส่งออก ขณะนี้ภาพรวมของอุตสาหกรรมทูน่าไทยในปี 2559 คาดว่าการส่งออกจะเติบโตขึ้น 15% จากปีก่อน มีมูลค่าอยู่ที่ 85,000-90,000 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันที่ผ่านจุดต่ำสุดแล้วจากระดับ 30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ราคาวัตถุดิบปลาทูน่าปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 1,500 เหรียญสหรัฐต่อตัน จาก 1,000 เหรียญสหรัฐต่อตัน

      ทั้งนี้ ความต้องการสินค้าทูน่าทั่วโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 3% ต่อปี ขณะที่ปริมาณวัตถุดิบปลาทูน่าของโลกที่จับมีจำกัดปีละประมาณ 5 ล้านตัน ดังนั้นทุกประเทศทั่วโลกจะต้องมีมาตรการชัดเจนในการสนับสนุนการทำประมงอย่างยั่งยืน

     นายชนินทร์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหา IUU-Fishing ของไทย มาตรการของภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ มีความคืบหน้าที่ชัดเจนและมีนโยบายที่ถูกต้อง โดยภาคเอกชนเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนร่วมกันสนับสนุนให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวตามหลักสากล ซึ่งทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันปรับตัว ส่งเสริมความรู้ เทคโนโลยี บุคลากร จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!