WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

MOCสวทย เมษนทรย copyพาณิชย์ เผยส่งออก เม.ย. พลิกติดลบ 8% ส่วนนำเข้าติดลบ 14.92% หลัง ศก.โลกยังไม่ฟื้น -กำลังซื้อปท.คู่ค้าหด - ค่าเงินผันผวน

   พาณิชย์ เผยส่งออก เม.ย. พลิกติดลบ 8% ส่วนนำเข้าติดลบ 14.92% จาก ศก.โลกที่ยังไม่ฟื้น กำลังซื้อประเทศคู่ค้าหดตัว ขณะที่ค่าเงินผันผวน ส่วน 4 เดือนแรกปี 59 ส่งออกติดลบ 1.24% นำเข้าติดลบ 12.73%

     นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนเมษายน 2559 กลับมาหดตัว 8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามกระแสการค้าโลกที่ยังมีความเปราะบาง เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกยังไม่มีความชัดเจน ประกอบกับปัจจัยด้านราคาสินค้าเกษตรและน้ำมันที่หดตัวสูงที่เป็นแรงกดดันให้มูลค่าขยายตัวต่ำกว่าปริมาณส่งออกที่เพิ่มขึ้น อีกทั้ง ประเทศคู่ค้าหลายประเทศชะลอการนำเข้าลง และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกเชิงลบที่ส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

    อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยมีสถานการณ์ที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ มาก แสดงว่าไทยยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาด (Market Share) ในตลาดและสินค้าส่งออกสำคัญไว้ได้ สะท้อนให้เห็นว่าความสามารถทางการแข่งขันของไทยยังอยู่ระดับที่ดี

  ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งดำเนินการ เพื่อการขับเคลื่อนการส่งออกของไทย ปี 2559 อย่างต่อเนื่องทั้งในด้านขยายการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน เร่งรัดขยายตลาดส่งออกเชิงรุก แก้ไขปัญหาข้อจำกัดทางการค้าร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน รวมถึงการส่งเสริมการค้าบริการและส่งเสริมผู้ประกอบการไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศเพื่อสร้างโอกาสทางการค้า และความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการ

   มูลค่าการค้าระหว่างประเทศในรูปของเงินบาท การส่งออกเดือนเมษายน 2559 มีมูลค่า 539,841 ล้านบาท หดตัวร้อยละ -1.55 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) และระยะ 4 เดือน (ม.ค. – เม.ย. 59) มีมูลค่า 2,463,635 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.04 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY)

  ในขณะที่การนำเข้าเดือนเมษายน 2559 มีมูลค่า 521,044 ล้านบาท หดตัวร้อยละ -8.95 (YoY) และระยะ 4 เดือน (ม.ค. – เม.ย. 59) มีมูลค่า 2,171,197 ล้านบาท หดตัวร้อยละ -4.61 (YoY) ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศเดือนเมษายน 2559 เกินดุล 18,797 ล้านบาท และระยะ 4 เดือน (ม.ค. – เม.ย. 59) เกินดุล 292,438 ล้านบาท

 มูลค่าการค้าระหว่างประเทศในรูปของเงินเหรียญสหรัฐฯ การส่งออกเดือนเมษายน 2559 มีมูลค่า 15,545 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ -8.00 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) และระยะ 4 เดือน (ม.ค. – เม.ย. 59) มีมูลค่า 69,374 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ -1.24 (YoY) ทั้งนี้หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน และทองคำ มูลค่าส่งออกเดือนเมษายน 2559 จะหดตัวที่ร้อยละ -6.2 (YoY)

   ในขณะที่การนำเข้าเดือนเมษายน 2559 มีมูลค่า 14,824 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ -14.92 (YoY) และระยะ 4 เดือน (ม.ค. – เม.ย. 59) มีมูลค่า 60,464 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ -12.73 (YoY) ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศเดือนเมษายน 2559 ยังคงเกินดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกันมีมูลค่า 721 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และระยะ 4 เดือน (ม.ค. – เม.ย. 59) เกินดุล 8,910 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

   มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรหดตัวต่อเนื่องตามราคาสินค้าเกษตรโลก โดยภาพรวมเดือนเมษายน 2559 มูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ -2.8 (YoY) ตามทิศทางของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนเมษายน 2559 นี้ ข้าวหดตัวถึงร้อยละ –11.5 (YoY) เช่นเดียวกับ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (-18.5) ทูน่ากระป๋อง (-13.7) น้ำตาลทราย (-15.8) หดตัวสูง ซึ่งเป็นผลจากการหดตัวด้านราคาเป็นสำคัญ

   อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในด้านปริมาณส่งออก พบว่าหลายรายการยังมีปริมาณส่งออกที่ดี แต่ด้วยปัจจัยราคาที่ลดลง ทำให้มูลค่าขยายตัวต่ำกว่าด้านปริมาณที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าว ที่ปริมาณส่งออกสินค้ายังคงขยายตัว (+0.3) แต่ด้วยราคาที่อยู่ในระดับต่ำ (-11.7) ทำให้มูลค่าการส่งออกหดตัวลง ในขณะที่ยางพารา มูลค่าส่งออกกลับมาขยายตัวดีร้อยละ 10.5 (YoY) โดยเป็นการขยายตัวด้านปริมาณการส่งออกสูงถึงร้อยละ 23.9 (YoY) แม้ว่าราคาจะยังคงหดตัวต่อเนื่องก็ตาม

   มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม กลับมาหดตัวอีกครั้งจากการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ในขณะที่ราคาน้ำมันที่ลดลงในระดับต่ำ ยังคงเป็นปัจจัยฉุดรั้งมูลค่าส่งออกสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน โดยภาพรวมเดือนเมษายน 2559 มูลค่าการส่งออกหดตัวร้อยละ -7.8 (YoY) ปัจจัยหลักมาจากการหดตัวของมูลค่าส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบ (-9.7) โดยเฉพาะการหดตัวของการส่งออกรถปิ๊กอัพ รถบัสและรถบรรทุก ที่หดตัวต่อเนื่องร้อยละ -54.2 (YoY)ในตลาดออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย เช่นเดียวกับการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ที่หดตัวต่อเนื่องร้อยละ -9.7 (YoY) จากสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (-10.7) เป็นสำคัญ จากการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ จีน และญี่ปุ่น

    ในขณะที่ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดิบหรืออุตสาหกรรมที่มีโครงสร้างการใช้วัตถุดิบซึ่งมาจากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก มีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 9.3 ของมูลค่าส่งออก ยังคงหดตัวสูงต่อเนื่องถึงร้อยละ -24.8 จากปีก่อนหน้า ตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว

    โดยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเดือนเมษายน 2559 ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 39.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกับ มูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทอง กลับมาหดตัว (-13.9) จากการหดตัวของประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างฮ่องกง เยอรมนี และเบลเยียม เครื่องใช้ไฟฟ้าสำคัญอย่างเครื่องรับโทรทัศน์ฯ ก็หดตัวสูง (-16.7) จากปัจจัยการย้ายฐานการผลิต เช่นเดียวกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มูลค่าส่งออกของไทยชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก และการชะลอการนำเข้าของประเทศคู่ค้า  

    ในภาวะที่การค้าไทยเผชิญกับความท้าทาย ภายใต้สถานการณ์การค้าโลกในปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งดำเนินการ เพื่อการขับเคลื่อนการส่งออกของไทย ปี 2559 นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยการกระทรวงพาณิชย์ ยังคงยึดแนวทางการขับเคลื่อนการส่งออกที่สำคัญ 5 ด้าน ดังนี้

   1. ขยายการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะตลาดอินโดจีนหรือ CLMV โดยกระทรวงพาณิชย์ จะใช้โอกาสทางการค้า และความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของไทยซึ่งมีที่ตั้งเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งความเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก

   2. เร่งรัดขยายตลาดส่งออกเชิงรุก โดยใช้ความต้องการตลาดเป็นตัวนำการผลิต (Demand Driven) หรือกำหนดสินค้า/บริการที่จะผลักดันการส่งออก และมีการกำหนดกลยุทธ์เชิงลึกในระดับเมือง (City focus) มุ่งเน้นการเจาะตลาดใหม่ๆ การเจาะกลุ่มตลาดเฉพาะ (Niche Market) และช่องทางการค้าออนไลน์ โดยเฉพาะตลาดอาเซียน ที่จะมุ่งเจาะตลาดเข้าสู่เมืองเศรษฐกิจรองที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเพิ่มความสำคัญของตลาดในเมืองหลวง/เมืองเศรษฐกิจหลัก โดยเน้นสินค้า/บริการแบรนด์ที่มีศักยภาพ

   3. ส่งเสริมการค้าบริการ (Trade in Services) โดยสนับสนุนภาคธุรกิจบริการให้เป็นแรงผลักดันการส่งออกควบคู่ไปกับการส่งออกสินค้า ตามยุทธศาสตร์ที่ได้กำหนดไว้ กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนด 6 กลุ่มธุรกิจบริการเป้าหมาย ได้แก่ ธุรกิจบริการด้านสุขภาพ (Wellness and Medical Services) ธุรกิจอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Economy Industry) ธุรกิจโลจิสติกส์และการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Logistics and Facilitation) ธุรกิจการให้บริการของสถาบัน (Institutional Services and Related) ธุรกิจบริการสนับสนุนการค้า (Trade Supporting Services) และธุรกิจดิจิตอล (Digital Business)

   4. ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสทางการค้าการลงทุน และสร้างความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจ โดยผ่านกลไกภาครัฐร่วมกับภาคเอกชน รวมทั้งการศึกษาข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจและศักยภาพทางเศรษฐกิจเป็นรายเมือง รวมถึงขั้นตอน กฎระเบียบการลงทุน และมาตรการทางภาษี สร้างเครือข่ายกับหน่วยงาน/นักธุรกิจ ในท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่ต้องการขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ

   5. ผลักดันและแก้ปัญหาทางการค้าร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยมีกลไกขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ (พกค.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคการค้าทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นกรรมการ โดย พกค. จะมีบทบาทด้านการกำหนดนโยบาย และมาตรการเกี่ยวกับการพัฒนาและส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาและอุปสรรค เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าของประเทศ

เม.ย.-59                                                 ม.ค. – เม.ย. 59                                                                                          

  สกุลดอลลาร์                         สกุลเงินบาท                           สกุลดอลลาร์                      สกุลเงินบาท                         

                มูลค่า      Growth (%YoY)    มูลค่า      Growth (%YoY)                    มูลค่า      Growth (%YoY)    มูลค่า                      Growth (%YoY)   

                (ล้านเหรียญฯ)                       (ล้านบาท)                                              (ล้านเหรียญฯ)                       (ล้านบาท)                                             

มูลค่าการค้า          30,369   -11.51    1,060,885              -5.33                       129,838 -6.95       4,634,832                              1.72       

ส่งออก   15,545   -8            539,841 -1.55                       69,374   -1.24       2,463,635                              8.04       

นำเข้า     14,824   -14.92    521,044 -8.95                       60,464   -12.73    2,171,197                              -4.61      

ดุลการค้า               721                         18,797                                   8,910                                      292,438                

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!