WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1ThaiGAP

สวทช. ร่วมกับ สภาหอการค้าฯ เปิดตัวผลสำเร็จ 17 เอสเอ็มอีผัก และผลไม้ไทย ที่พร้อมแข่งขันในตลาดเออีซีด้วย ThaiGAP ในงาน THAIFEX2016

    ณ งาน THAIFEX 2016 อิมแพ็ค เมืองทองธานี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดตัวผลสำเร็จการดำเนินโครงการความร่วมมือ 'การยกระดับและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการด้านสินค้าผักและผลไม้ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ AEC ด้วย ThaiGAP'นำเสนอผลงานของผู้ประกอบการจำนวน 17 รายที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อพัฒนาศักยภาพ ส่งเสริม และรับการผลักดันให้ได้รับมาตรฐาน ThaiGAP เพื่อเตรียมความพร้อมสู่มาตรฐาน GlobalGAP และช่วยลดต้นทุน เนื่องจากมาตรฐาน ThaiGAP มีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติและการตรวจรับรองที่ถูกกว่า โดยโครงการเริ่มตั้งแต่ให้ความรู้เรื่องการปลูก การบรรจุ และการขนส่ง สำหรับสินค้าผักและผลไม้ที่ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค และสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดอาเซียนและในตลาดสากล

       นางสาวชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรม ITAP สวทช. กล่าวว่า “จากนโยบายภาครัฐในการสนับสนุน ส่งเสริม และจัดการสินค้าเกษตรสู่สากลในเรื่องของความปลอดภัยด้านอาหาร จึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อผู้บริโภค ประกอบกับสถานการณ์การส่งออกสินค้าเกษตรของไทย พบว่าปัจจุบันประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยได้นำเรื่องมาตรฐานสินค้าเข้ามามีส่วนสำคัญในการนำเข้าสินค้าผักและผลไม้จากไทย อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมา (เดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2557) ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทำการสุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าผักและผลไม้ เพื่อตรวจหาสารเคมีตกค้างจาก 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ สงขลา ขอนแก่น และยโสธร รวม 118 ตัวอย่าง พบว่า สินค้าผักและผลไม้เกินครึ่งหนึ่งที่จำหน่ายอยู่ทั่วไปตามห้างค้าปลีกและตลาดสดภายในประเทศ มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐาน MRL หรือปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่กำหนดในสินค้าเกษตรของไทย มากถึงร้อยละ 46.6 ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการสินค้าผักและผลไม้ของไทยอย่างมาก และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มูลค่าการส่งออกผักและผลไม้ของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศลดลง”

      “เพื่อเป็นการพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการด้านมาตรฐานสินค้าผักและผลไม้ และเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันในกลุ่มอาเซียน ทาง สวทช. จึงได้ร่วมกับ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ดำเนินโครงการความร่วมมือ “การยกระดับและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการด้านสินค้าผักและผลไม้เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ AEC ด้วย ThaiGAP” เพื่อผลักดันมาตรฐาน ThaiGAP ให้เทียบชั้นมาตรฐานสากล เป็นการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของผักผลไม้ไทยเพื่อเตรียมพร้อมพัฒนาผู้ประกอบการเข้าสู่ AEC โดยผู้ประกอบการที่ได้รับรองมาตรฐาน ThaiGAP จะได้รับเครื่องหมายโลโก้ ThaiGAP และมีระบบติดตามพื้นที่การผลิตของเกษตรกรที่เข้าสู่ระบบการขอการรับรองเป็นปัจจุบัน โดยใช้เทคโนโลยี GIS และแผนที่ดิจิตอลแบบ Online ในการทำระบบการติดตามและตรวจสอบย้อนกลับ แบบ QR Code เพื่อใช้ในการป้องกันและบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากปัญหาเรื่องคุณภาพ และความปลอดภัยของสินค้าผักและผลไม้ที่จำหน่าย และใช้เป็นเครื่องมือในการเรียกคืนสินค้าที่มีปัญหากลับอย่างถูกต้องและรวดเร็ว และในอนาคตผู้ประกอบการสามารถพัฒนาระบบประกันภัยความรับผิดชอบจากผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นการประกันภัยสำหรับผู้ประกอบการที่ถูกฟ้องให้ชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจาก ผลิตภัณฑ์ต่างๆ แม้ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะที่กล่าวถึงความรับผิดชอบดังกล่าว แต่แนวโน้มในอนาคตจะมีการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น เพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคเพิ่มขึ้น”นางสาวชนากานต์ สันตยานนท์ กล่าว

      ด้านหนึ่งในผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ คุณฐิติศักดิ์ เติมวารี กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอล ออร์แกนิคส์ ดีเวลลอปเปอร์ จำกัด กล่าวว่า “บริษัทได้ร่วมโครงการการยกระดับและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการด้านสินค้าผักและผลไม้ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ AEC ด้วย ThaiGAP เพราะเชื่อมั่นว่าเป็นมาตรฐานที่มีความน่าเชื่อถือสูง จุดสำคัญที่ได้จากโครงการคือ ข้อแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในโครงการ ที่เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการระบบของการผลิตสินค้าให้เป็นรูปเป็นร่างและได้มาตรฐานยิ่งขึ้น เช่น การใช้สารเคมี การจัดเก็บ การบันทึกการปฏิบัติ เพื่อให้สามารถทวนสอบผลผลิตย้อนกลับได้ว่าขณะที่ปลูกผักและผลไม้  ผู้ปลูกได้ทำอะไรบ้าง โดยชนิดพืชที่ขอการรับรองมาตรฐาน ThaiGAP ได้แก่ มะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์ ซึ่งภายหลังดำเนินการจนได้รับรองมาตรฐาน ThaiGAP พบว่า คุณภาพของมะละกอมีคุณภาพเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน สำหรับด้านการตลาดนั้น เดิมบริษัทฯ จำหน่ายเพียงในประเทศ แต่ปัจจุบันมีลูกค้าจากต่างประเทศให้ความสนใจและติดต่อเข้ามาเพื่อขอซื้อสินค้าจากเราไปแล้วหลายรายการ ทำให้มียอดการส่งออกเพิ่มมากขึ้น คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 5 และคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้”

       ทั้งนี้ ระบบมาตรฐานสินค้าเกษตรไทยหรือ ThaiGAP (Thai Good Agricultural Practice) คือการปฏิบัติที่ถูกต้องในการจัดการผลิตทางการเกษตรตามข้อกำหนด ซึ่งเป็นมาตรฐานเอกชนในการจัดการคุณภาพ การผลิตผักและผลไม้ที่เน้นความปลอดภัยด้านอาหารแก่ผู้บริโภค และเป็นมาตรฐานระบบการผลิตที่คำนึงถึงสวัสดิภาพของผู้ปฏิบัติการและสิ่งแวดล้อมในการผลิต

 

ThaiGAP :  Thai Good  Agricultural Practice             

     ThaiGAP เป็นระบบมาตรฐานของคนไทย ซึ่งเป็นมาตรฐานคุณภาพในการจัดการผักและผลไม้ที่เน้นความปลอดภัย คำนึงถึงสวัสดิการผู้ปฏิบัติงานและสิ่งแวดล้อมในการผลิต  โดยที่ ThaiGAP เป็นมาตรฐานภาคสมัครใจ (การจัดการดำเนินการโดยองค์กรเอกชน) ที่เกิดขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทย ในฐานะที่เป็นประเทศที่มีการส่งออกผักและผลไม้ รวมไปถึงผลผลิตเกษตรต่างๆ ในปริมาณมาก

    ThaiGAP เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับห่วงโซ่อุปทานการผลิต เมื่อผู้ประกอบการต้องการระบบมาตรฐานในการผลิต และจะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ให้กับผู้ซื้อผลิตภัณฑ์ได้ทราบถึงความเข้มแข็งในด้านอาหารปลอดภัย การรักษาสิ่งแวดล้อม และสวัสดิภาพสวัสดิการของผู้ผลิต

 

ThaiGAP  เป็นความร่วมมือผ่านการร่วมลงนาม MOU ระหว่าง 3 หน่วยงาน                

•              สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และมีชื่อภาษาอังกฤษ : The Thai Chamber of Commerce and Board of Trade of Thailand - BOT

•              สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมีชื่อภาษาอังกฤษ : National Science and Technology Development Agency - NSTDA

•              สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.)   และมีชื่อภาษาอังกฤษ: Geo-Informatics and Space Technology Development Agency (Public Organization) - GISTDA 

                และนี่ถือเป็นก้าวแรกในการยกระดับมาตรฐานการผลิตอย่างมีคุณภาพ โดยเริ่มจากเกษตรกร ผ่านกระบวนการตรวจสอบโดยมาตรฐาน ThaiGAP ผนวกกับการใช้เทคโนโลยีคิวอาร์โค้ดเข้ามาช่วยในระบบตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรไทย สามารถแข่งขันได้ในสากล

                จากการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการ “การยกระดับและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการด้านสินค้าผักและผลไม้เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ AEC ด้วย ThaiGAP”  ทาง สวทช. ได้อนุมัติเงินสนับสนุนจำนวนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ประกอบการ SME และสหกรณ์ รวมถึง วิสาหกิจชุมชน เพื่อเชิญชวนให้เกิดการยกระดับภาคการเกษตรของไทยโดยใช้มาตรฐาน ThaiGAP (Thai Good Agricultural Practice) อันเป็นระบบปฏิบัติการที่ถูกต้องในการจัดการผลิตทางการเกษตรตามข้อกำหนด

                ความสำเร็จในการดำเนินโครงการฯ ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2558 - ปัจจุบัน นอกจากความร่วมมืออย่างดีระหว่าง 3 หน่วยงานหลักข้างต้นแล้ว โครงการฯ ยังมีอีกหนึ่งฝ่ายที่สำคัญยิ่งในการเป็นปัจจัยความสำเร็จ ที่ทำให้สามารถดำเนินโครงการได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ นั่นคือ ทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำปรึกษา/แนะนำ/ส่งเสริมผู้ประกอบการ จากศูนย์วิจัยและพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร และคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตกำแพงแสน โดยมี ดร.รุ่งนภา ก่อประดิษฐ์สกุล เป็นหัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญ 17 ราย คือจำนวนผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจากการเข้าร่วมโครงการ โดยมีกลุ่มผู้ค้าปลีกนำร่อง อาทิ เทสโก้ โลตัส, แม็คโคร, ท็อป, ซีพี ออลล์ เป็นผู้รองรับผลผลิตในบางส่วนจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ 

ทั้งนี้ หลังจากเสร็จสิ้นการให้คำปรึกษาโดยทีมผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบการทั้ง 17 ราย ได้รับประโยชน์ทางตรง คือ ได้รับใบรับรองมาตรฐาน ThaiGAP,  มีระบบตามสอบ (Traceability) เพื่อให้สามารถทวนสอบกลับได้ของผลิตภัณฑ์ เพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ค้าและผู้บริโภคว่าผลผลิตมีคุณภาพและปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ ปลอดภัยจากสารเคมี นอกจากนี้ยังได้รับประโยชน์ที่ได้รับทางอ้อม คือ  ได้พัฒนาบุคลากรให้เป็นผู้ตรวจประเมินคุณภาพภายใน (Internal audit) ตามมาตรฐาน ThaiGAP  ซึ่งทั้งหมดนี้คือ ผลความสำเร็จของโครงการฯ ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2558 - ปัจจุบัน

ลำดับ

ชื่อกิจการ          ผลิตภัณฑ์เข้าร่วมโครงการ

1              บจก. 108 เทคโน ฟาร์ม        ผักสลัด, เมล่อน, มะเขือเทศ, คะน้า, กวางตุ้ง

2              บจก.นุชชา ไทยเล่อน             แตงโม

3              บจก.วราฟู้ด แอนด์ ดริ๊ง        ข้าวโพดฝักอ่อน

4              บจก.เอซีเค ฟู้ดเทค                ผักสลัด, ผักสมุนไพร, มะเขือเทศ

5              บจก.ซี.โอ.สวนสระแก้ว         มะละกอ

6              หจก.ช.วาสนา        ส้มโอ

7              บจก.เอส แอนด์ บี ฟู้ดส์ ซัพพลาย        ผักชีลาว, กระชาย, โหระพา, กระเพรา

8              บจก.ผักดอกเตอร์ 1993        กวางตุ้ง, ผักบุ้ง กระเพรา, โหระพา

9              บจก.โกลบอล ออร์แกนิคส์ ดีเวลลอปเปอร์          มะละกอ

10           บจก.คิง อินเตอร์ ฟรุทส์         กล้วยหอมทอง

11           สหกรณ์การเกษตรผสมผสานสกลนคร จำกัด   แตงโม

12           บจก.บ้านสวนผัก   ชะอม, ผักบุ้งไทย, มะเขือยาว, มะเขือ

13           บจก.นันธาวรรณฟูดส์           ส้ม, มะเขือเทศราชินี,พาสลี่ย์,โรสแมรี่

14           บจก.บีบีบี เฟรชฟู้ดส์             ส้ม           

15           บจก.พืชผักอนามัย                เมล่อน

16           บจก.พรานเฟรช     มะนาว, ชะอม, ผักหวานบ้าน, กะเพราะ

17           โครงการชั่งหัวมันในพระราชดำหริ      กระเจี๊ยบเขียว, กวางตุ้ง, กะเพรา

รวมผู้สมัครมาจากการอบรมสัมมนาทั้งสิ้น        17 ราย

และเพื่อขยายการสนับสนุนผู้ประกอบการให้นำมาตรฐาน ThaiGAP มาช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค ในปี 2559-2560 โปรแกรม ITAP ได้เพิ่มงบประมาณเพื่อต่อยอดการสนับสนุนทั้งแก่ SMEs  และสหกรณ์ รวมถึงวิสาหกิจชุมชนด้วย

หากผู้ประกอบการรายใดสนใจเข้าโครงการฯ  สามารถขอรับการสนับสนุนจากโปรแกรม ITAP ซึ่งอยู่ระหว่างการเปิดรับผู้สนใจเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 30 ราย โดยหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ประกอบการของ โปรแกรม ITAP  คือ เป็น SMEs (มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 200 ล้านบาท)  และมีคนไทยถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ จะมีที่ปรึกษาเทคโนโลยี ของโปรแกรม ITAP ช่วยให้การสนับสนุนและแนะนำการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด  เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจกรรมได้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ และได้รับประโยชน์ครบถ้วนทั้งทางตรงและทางอ้อม

 

 

loading...

 

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!