WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ต่างประเทศลง 1.3 หมื่นล. พาณิชย์แจงดัชนีเชื่อมั่น มิ.ย.สูงสุดรอบ 12 เดือน

   บ้านเมือง : พาณิชย์ เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค มิ.ย.57 ที่ 38.4 สูงสุดรอบ 12 เดือน ก.ค.57 แต่ยังไม่เชื่อมั่นเศรษฐกิจมากนัก ยังใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง ด้าน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยการอนุญาตต่างด้าวลงทุนในไทยแล้ว 39 ราย เงินลงทุน 5.6 พันล้าน ขณะที่ 7 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.) อนุญาตต่างด้าวประกอบธุรกิจในไทยแล้ว 225 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 13,049 ล้านบาท

    นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนย.) กระทรวงพาณิชย์ เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย.57 เท่ากับ 38.4 สูงสุดในรอบ 12 เดือนนับจากเดือน มิ.ย.56 ขณะที่ดัชนีฯ เดือน พ.ค.57 อยู่ที่ 28.5 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ปัจจุบันเท่ากับ 30.4 เพิ่มจาก 21.0 ในเดือน พ.ค.57 และดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคตเท่ากับ 43.7 เพิ่มจาก 33.6 ทั้งนี้ ศูนย์ดัชนีและพยากรณ์เศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้สำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกจังหวัดทั่วประเทศจากประชาชนตัวอย่าง 3,381 ราย เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ รายได้และโอกาสหางานทำในปัจจุบัน และในอีก 3 เดือนข้างหน้า

    "ค่าดัชนียังต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งเป็นระดับปกติ สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจมากนักจึงยังระมัดระวังการใช้จ่าย แต่เริ่มมีทิศทางดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บริหารประเทศ ทำให้ปัญหาทางการเมืองคลี่คลาย บ้านเมืองมีความสงบ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีความชัดเจนมากขึ้น" นางอัมพวัน กล่าว

   ส่วนความคาดหวังของผู้บริโภคที่มีต่อรายได้ในอีก 3 เดือนข้างหน้า และการวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ และซื้อรถยนต์ในช่วง 6 เดือนข้างหน้ามีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่ไม่มีความเชื่อมั่นมากนัก เพราะแม้สถานการณ์ทางการเมืองจะคลี่คลาย ประชาชนรู้สึกปลอดภัย ชาวนาได้รับเงินจากโครงการจำนำ ซึ่งตามข้อเท็จจริงต้องส่งผลทางจิตวิทยาให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น แต่ยังมีการรอดูท่าทีก่อน โดยเฉพาะชาวนาที่ต้องนำเงินส่วนใหญ่ไปชำระหนี้

   นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมาตั้งแต่ปี 43 และเคยแถลงข่าวในช่วงปี 55 อยู่ระยะหนึ่ง โดยการคำนวณค่าดัชนีได้ใช้ค่าดัชนีระหว่าง 0-100 โดยระดับปกติอยู่ที่ 50 ขณะที่ของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ใช้ค่าดัชนีระหว่าง 0-200 โดยระดับปกติอยู่ที่ 100 ซึ่งผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของทั้ง 2 หน่วยงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น หลังจาก คสช. บริหารประเทศ

   ด้าน น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจในไทยจำนวน 39 ราย คิดเป็นเม็ดเงินที่นำมาลงทุน 5,676 ล้านบาท และมีการจ้างงานคนไทย 527 คน โดยจำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้น 11% จากเดือนมิ.ย.57 และเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 431% ทั้งนี้หากเปรียบเทียบกับเดือน ก.ค.56 พบว่าจำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้น 50% และเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 475% เพราะในเดือน ก.ค.57 มีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง

   สำหรับธุรกิจที่ได้รับอนุญาตในเดือน ก.ค.57 ได้แก่ ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม และบริษัทคู่ค้า 21 ราย มีเงินลงทุน 4,605 ล้านบาท ได้แก่ การให้กู้ยืมเงิน รับค้ำประกันหนี้ให้คำปรึกษาแนะนำ และให้เช่าแม่พิมพ์ เป็นต้น ประเทศที่ได้รับอนุญาตได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สาธารณรัฐประชาชนจีน มาเลเซีย ออสเตรเลีย และเนเธอร์แลนด์, ธุรกิจคู่สัญญาภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจ 9 ราย มีเงินลงทุน 1,011 ล้านบาท ประเทศที่ได้รับอนุญาตได้แก่ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น จีน เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี

   นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจสำนักงานผู้แทน/ภูมิภาค 6 ราย มีเงินลงทุน 21 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการรายงานความเคลื่อนไหวทางธุรกิจเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจ การผลิต การตลาด การลงทุน ตลอดจนความต้องการใช้สินค้าและบริการต่างๆ ในไทยให้สำนักงานใหญ่ทราบ รองลงมาเป็นการให้คำแนะนำในด้านต่างๆ เกี่ยวกับสินค้าของสำนักงานใหญ่ที่จำหน่ายให้แก่ตัวแทนจำหน่ายหรือผู้ใช้สินค้าในไทย ประเทศที่ได้รับอนุญาต ได้แก่ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สิงคโปร์ และสเปน

   รวมถึงธุรกิจค้าส่ง 2 ราย มีเงินลงทุน 34 ล้านบาท ได้แก่ การค้าส่งสายพานลำเลียงที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ และค้าส่งสุขภัณฑ์ อุปกรณ์ในห้องน้ำ ระบบสปา ให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้าและผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ประเทศที่ได้รับอนุญาตได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ และฮ่องกง และธุรกิจค้าปลีก 1 ราย มีเงินลงทุน 5 ล้านบาท ได้แก่ การค้าปลีกแม่พิมพ์ ชิ้นส่วนแม่พิมพ์ที่ใช้ในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ ประเทศที่ได้รับอนุญาตคือ ญี่ปุ่น

   ส่วนในช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.) คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจในไทยแล้ว 225 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 13,049 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่าจำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้น 10% และเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 13%

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!