- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 21 May 2016 10:58
- Hits: 1563
ก.พาณิชย์เผย แฟรนไชส์ไทยประเภทอาหารและเครื่องดื่มสุดฮอต เตรียมเจรจาธุรกิจฟิลิปปินส์ปลายเดือนกรกฎาคมนี้
ก.พาณิชย์เผย แฟรนไชส์ไทยประเภทอาหารและเครี่องดื่ม ‘สุดฮอต’ ขยายตลาดโกอินเตอร์แล้วกว่า 12 บริษัท 19 ประเทศ ล่าสุดพาไปเจรจาธุรกิจที่เมียนมาประสบความสำเร็จอย่างดี มีนักธุรกิจเมียนมาสนใจเข้าร่วมเจรจาธุรกิจกว่า 300 ราย ไม่รอช้า!!! เตรียมต่อยอดพาบินลัดฟ้าไปแสดงธุรกิจและเจรจาธุรกิจที่ฟิลลิปปินส์ปลายเดือนกรกฎาคม ‘59 นี้
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ขณะนี้ ธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยกำลังได้รับความนิยมจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะธุรกิจประเภทอาหารและเครื่องดื่มที่สามารถขยายธุรกิจไปต่างประเทศได้แล้วกว่า 12 บริษัท 19 ประเทศ ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในระดับที่สูง ได้แก่ Black Canyon, Chester Grill, Mango Tree, Neo Suki, The Coffee Maker, The Pizza Company, ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยแม่ศรีวรรณ, โชคดีติ่มซำ, อีซี่ส์ EZ’s, เดอะวอฟเฟิล, เย็นตาโฟทรงเครื่องมัลลิกา และ เอ็น แอนด์ บี พิซซ่าเครป ซึ่งทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยเป็นที่รู้จักในระดับสากล และเป็นการปูพื้นฐานให้ธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยประเภทอื่นๆ สามารถขยายตลาดไปยังต่างประเทศได้”
ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ ได้พาผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ไทย จำนวน 21 ราย ในจำนวนนี้เป็นธุรกิจแฟรนไชส์ไทยประเภทอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 11 ราย ที่อยู่ในการส่งเสริมของกระทรวงฯ ร่วมงานเจรจาธุรกิจ ณ กรุงย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ระหว่างวันที่ 11 - 13 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา โดยเมื่อจบงานปรากฏว่ามีนักธุรกิจชาวเมียนมา เข้าร่วมเจรจาธุรกิจกว่า 300 ราย และมีโครงการการร่วมมือกันดำเนินธุรกิจในอนาคตอันใกล้
“นอกจากนี้ กระทรวงฯ เตรียมพาผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ไทย จำนวน 12 ราย ในจำนวนนี้เป็นธุรกิจแฟรนไชส์ไทยประเภทอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 7 ราย เข้าร่วมงานแสดงธุรกิจและเจรจาธุรกิจ ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 22 - 24 กรกฎาคม 2559 เพื่อเจรจาซื้อ-ขายและขยายเครือข่ายธุรกิจแฟรนไชส์ไทยสู่ประเทศในภูมิภาคอาเซียน”
ทั้งนี้ การนำธุรกิจแฟรนไชส์ไทยไปขยายธุรกิจในต่างประเทศเป็นนโยบายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก รัฐมนตรีกล่าว “ยิ่งเศรษฐกิจมีการพัฒนามากขึ้นเท่าไหร่ ภาคบริการจะมีความสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับ ในประเทศพัฒนาแล้วภาคบริการมักจะมีสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ธุรกิจแฟรนไชส์ก็เช่นกัน เนื่องจากธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยมีศักยภาพเทียบเท่าระดับสากล มีคุณภาพดีเป็นที่ต้องการของตลาดทั่วโลก และมีโอกาสที่จะสามารถขยายตลาดไปต่างประเทศได้ นับเป็นการสร้างรายได้เข้าประเทศอีกทางหนึ่ง ซึ่งจนถึงปัจจุบันมีธุรกิจแฟรนไชส์ไทยที่อยู่ในการส่งเสริมและพัฒนาจากกระทรวงพาณิชย์ จำนวน 22 กิจการ 5 ประเภทธุรกิจ ได้แก่ อาหาร/เครื่องดื่ม (12 กิจการ) บริการ (1 กิจการ) การศึกษา (3 กิจการ) ความงาม/สปา (2 กิจการ) และ ค้าปลีก (4 กิจการ) สามารถขยายเครือข่ายธุรกิจไปได้แล้วกว่า 37 ประเทศทั่วโลก”
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย