- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 21 May 2016 09:33
- Hits: 1118
กรมการค้าต่างประเทศแนะผู้ส่งออกไทยปรับกลยุทธ์การตลาด หลังชาวแคนาดาเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เน้นคุ้มค่าและประหยัด
นางสาวดาววิภา ลี้กำจร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโตรอนโต ประเทศแคนาดา เปิดเผยรายงานจากผลการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคล่าสุดในแคนาดา โดยศูนย์วิจัย Angus Reid Institute พบว่า ชาวแคนาดากว่า 57% รู้สึกว่าสินค้าทุกวันนี้มีราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมีแผนที่จะลดการจับจ่าย โดยผู้บริโภคในกลุ่มรายได้สูงที่มีรายได้เฉลี่ย 100,000 เหรียญแคนาดาต่อปี (ประมาณ 2.8 ล้านบาท/ปี) ยังรู้สึกว่าสินค้าแพงขึ้นจนต้องเปลี่ยนพฤติกรรม และกว่า 58% ของกลุ่มรายได้ 50,000-99,000 เหรียญแคนาดา (ประมาณ 1.4 ล้าน – 2.7 ล้านบาท/ปี) โดยเฉพาะกลุ่มครอบครัวที่มีลูกและเด็กเล็ก รู้สึกว่ากว่า 2 ใน 3 ของสินค้าอาหารปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ และพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งศูนย์วิจัย Angus Reid มองว่าชาวแคนาดาต้องลดมาตรฐานพฤติกรรมการบริโภคของตนเอง ในภาพรวมไม่ว่าคนรายได้สูง รายได้ปานกลาง หรือรายได้น้อย จะรู้สึกได้ว่า อำนาจในการจับจ่ายลดลง เห็นได้จากปริมาณการบริโภคที่ลดลง หรือหันไปบริโภคยี่ห้อทางเลือกอื่นๆ แทน โดยสินค้า Private Label หรือ House Brand กลายเป็นทางเลือกที่สำคัญ
ค่าเงินแคนาดาที่ลดค่ากว่า 35% ในปีที่ผ่านมาเป็นปัจจัยโดยตรงต่อราคาสินค้าอาหาร โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องนำเข้า อาทิ ผักผลไม้ในฤดูหนาว โดยทั่วไปราคาผักผลไม้จะปรับตัวสูงขึ้นอยู่แล้วในฤดูหนาว แต่ด้วยปัจจัยค่าเงินที่อ่อนลง ยิ่งส่งผลให้ราคาปรับสูงขึ้นไปอีก ในช่วงปีที่ผ่านมา 71% ของชาวแคนาดาได้ปรับพฤติกรรม โดยหันไปบริโภคสินค้าแบรนด์ที่ถูกลงเพื่อลดค่าใช้จ่าย 61% ของผู้บริโภคแคนาดาได้ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ 42% ลดการบริโภคผักผลไม้ และกว่า 40% เลือกซื้อสินค้าที่ราคามากกว่าสินค้าเพื่อสุขภาพ (less Healthy)
ชาวแคนาดาส่วนใหญ่ทราบว่า ควรบริโภคสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ แต่ด้วยสภาวะปัจจุบันทำให้คนรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อย ต้องหันมาบริโภคอาหารแปรรูป หรือ Processed Food มากขึ้น ซึ่งมักจะมีการใส่สารเคมีต่างๆ แต่ราคาถูกกว่า คนรายได้สูงก็หันมาบริโภคสินค้า Less Organic หรือสินค้าทางเลือกอื่นๆ จากการสำรวจยังพบว่ากว่า 70% ของชาวแคนาดารับประทานอาหารนอกบ้านน้อยลง 67% ลดค่าใช้จ่ายด้านบันเทิง 52% ได้ชะลอการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยหรือสินค้าที่มีราคาสูงออกไปก่อน อาทิ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ตู้เย็น โทรทัศน์ ฯลฯ และกว่า 47% ลดค่าใช้จ่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกเหนือจากปัจจัยค่าเงินแคนาดาที่อ่อนค่าลง ทำให้ราคาสินค้าอาหารสูงขึ้นนั้น สภาวะความแห้งแล้งทั่วโลก อาทิ ปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ก็ส่งผลต่อการผลิตและราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้น เนื่องจากรัฐแคลิฟอร์เนียเป็นพื้นที่เพาะปลูกผลผลิตการเกษตรที่สำคัญแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ และมีแคนาดาเป็นตลาดอันดับต้นๆ ของการส่งออก
ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโตรอนโต กล่าวเพิ่มเติมว่า “ถึงแม้ว่าแคนาดาได้รอดพ้นจากภาวะการเศรษฐกิจถดถอยในปี 2558 แต่จากสภาวะปัจจุบัน เศรษฐกิจแคนาดายังคงมีความไม่แน่นอน จากปัญหาค่าเงินที่อ่อนตัวของเหรียญดอลล่าร์แคนาดา และอัตราการว่างงานที่ 7.1% (ตัวเลขล่าสุดในเดือน มี.ค. 59) ส่งผลให้ชาวแคนาดาต้องปรับเปลี่ยนความคิด ทัศนคติ และพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้า โดยจะมองถึงความคุ้มค่าและประหยัดเป็นหลัก ทั้งนี้ในด้านของการตลาด ผู้ส่งออกไทยควรพิจารณาปรับรูปแบบและราคาของสินค้า โดยเน้นให้ราคาสินค้าต่ำลง แต่ส่งเสริมให้บริโภคและซื้อบ่อยครั้งขึ้น หรือเพิ่มขนาดของสินค้าให้กลายเป็น Family Size ที่คุ้มค่าต่อการจับจ่ายมากขึ้น ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวเหมาะกับแคนาดาในช่วงภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน”
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย