- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Monday, 02 May 2016 08:35
- Hits: 4875
พาณิชย์ เล็งแก้กฎหมายอุ้ม SMEs
บ้านเมือง : นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ลงนามในประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขอรับใบอนุญาต การขอต่ออายุใบอนุญาต และการขอรับใบแทนใบอนุญาตเป็นผู้บังคับหลักประกัน พ.ศ.2559 เพื่อกำหนดคุณสมบัติของผู้บังคับหลักประกัน ภายใต้ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558 และทำให้ผู้บังคับหลักประกันเป็นวิชาชีพที่มีความน่าเชื่อถือ สามารถสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ คาดว่าจะบังคับใช้ได้ประมาณกลางเดือนพ.ค.2559
ทั้งนี้ ผู้บังคับหลักประกันจะเข้ามามีส่วนช่วยในการผลักดันให้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ที่มีอยู่กว่า 2 ล้านราย ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อนำไปใช้ในการประกอบธุรกิจเพราะที่ผ่านมา SMEs จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก เพราะขาดแคลนหลักประกันที่จะนำมาใช้ค้ำประกันเพื่อขอกู้เงิน แต่กฎหมายฉบับนี้ ได้ขยายประเภททรัพย์สินที่จะนำมาใช้เป็นหลักประกัน ซึ่งครอบคลุมถึงกิจการ สิทธิเรียกร้อง สังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ และทรัพย์สินทางปัญญา แต่ไม่จำเป็นต้องส่งมอบทรัพย์สิน ทำให้ธุรกิจยังสามารถสร้างรายได้ด้วยการใช้ทรัพย์สินนั้นผลิตสินค้าหรือบริการได้ต่อไป
นางอภิรดี กล่าวว่า ผู้บังคับหลักประกันเป็นผู้มีความสำคัญต่อการบังคับใช้กฎหมาย ในฐานะเป็นคนกลางที่จะช่วยให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน เพราะผู้บังคับหลักประกันจะต้องได้รับความยินยอมทั้งจาก ผู้กู้ ซึ่งหมายถึง SMEs และผู้ให้กู้ ซึ่งหมายถึงสถาบันการเงิน ให้เป็นผู้มาบังคับหลักประกันตามสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ โดยจะทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับหลักประกัน เช่น การไต่สวนข้อเท็จจริงเมื่อมีเหตุบังคับหลักประกัน การกำหนดวงเงินประกัน การวินิจฉัยเหตุบังคับหลักประกัน
นอกจากนี้ กรณีที่นำกิจการมาเป็นหลักประกัน ยังต้องทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกิจการ ทั้งการบำรุงรักษา จัดการ และดำเนินการจนกว่าจะจำหน่ายกิจการได้ การตรวจสอบและประเมินราคากิจการ การกำหนดวิธีการจำหน่ายและดำเนินการจำหน่ายกิจการ รวมทั้งการจัดสรรเงินที่ได้จากการจำหน่ายกิจการ เป็นต้น
ดังนั้น จากความสำคัญดังกล่าว กระทรวงฯ จึงต้องกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะขอรับใบอนุญาตเป็นผู้บังคับหลักประกันจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์อย่างหนึ่งอย่างใด ได้แก่ 1.ผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ หรือผู้ประกอบวิชาชีพผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ที่ได้รับใบอนุญาตต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 3 ปี และ 2.ผู้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการบังคับหลักประกันที่ได้รับอนุญาตหรือขึ้นทะเบียนต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 3 ปี จากหน่วยงานของรัฐ สมาคม หรือตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ อนุญาโตตุลาการ (ขึ้นทะเบียนโดยสำนักงานศาลยุติธรรม) ผู้เชี่ยวชาญศาล (ด้านการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน) ผู้ประเมินหลัก ผู้ประเมินหลักชั้นวุฒิ ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน
ทั้งนี้ ได้กำหนดให้ผู้ที่จะเป็นผู้บังคับหลักประกัน จะต้องผ่านการอบรมในวิชากฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ และจรรยาบรรณผู้บังคับหลักประกัน เพื่อให้เข้าใจถึงสาระสำคัญของกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้จริงตามขั้นตอนและวิธีการที่บัญญัติในกฎหมาย ตลอดจนสามารถจัดการกิจการที่เป็นหลักประกันภายใต้การบังคับหลักประกันได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ รวมถึงเข้าใจในหลักการและแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม ยึดถือปฏิบัติและธำรงอยู่ในจิตสำนึกของผู้บังคับหลักประกัน ทำให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ ที่ผู้บังคับหลักประกันจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง อิสระ สุจริต และเป็นธรรม