- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 15 April 2016 10:02
- Hits: 14243
พาณิชย์ ควงนักธุรกิจเดินสายเปิดตลาดแฟรนไชส์ไทยบุกอาเซียน
แนวหน้า : พาณิชย์ ชี้ธุรกิจแฟรนไชส์ไทยได้รับความสนใจจากประเทศเพื่อนบ้าน คาดปีนี้มีโอกาสโต 15-20% จากปีก่อนที่เงินสะพัด 2.5 แสนล้าน ขณะที่ตลาดหุ้นเปิดผลสำรวจซีอีโอส่วนใหญ่มอง 6 เดือนข้างหน้าเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น เพราะได้นโยบายคลัง การจับจ่ายภาครัฐและรายได้จากการท่องเที่ยวเข้ามาหนุน พร้อมวางแผนออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น
นางสาวรัตนา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ขณะนี้ธุรกิจแฟรนไชส์ กำลังได้รับความสนใจในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง ลาว กัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม และยังมีโอกาสเติบโตได้มาก เพราะผู้บริโภคในประเทศเพื่อนบ้านนิยมบริโภคสินค้าจากไทย มีแบรนด์ไทย เนื่องจากเชื่อในคุณภาพของสินค้า อีกทั้งในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี ส่งผลให้เกิดการว่างงาน กลุ่มคนเหล่านี้ก็หันมาเริ่มกิจการของตนเอง โดยการลงทุนในลักษณะการซื้อแฟรนไชส์ เพราะมีความเสี่ยงต่ำกว่าการเริ่มธุรกิจด้วยการเริ่มตั้งต้นธุรกิจใหม่ทั้งหมด และแฟรนไชส์ ก็ได้ผ่านการตรวจสอบจากลูกค้าในที่ต่างๆ มาแล้ว
ทั้งนี้ ในปี 2559 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีแผนนำนักธุรกิจเจ้าของแฟรนไชส์ ไปเปิดตลาดขายร้านแฟรนไชส์ ในตลาดกลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้ง กัมพูชา ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ และสิงค์โปร์ ซึ่งในเดือนพฤษภาคม 2559 กรมฯจะนำผู้ประกอบการแฟรนไชส์ไทยไปเจาะตลาด เปิดโอกาสให้นักธุรกิจทั้ง 2 ประเทศได้เจรจาธุรกิจร่วมกัน และในเดือนกรกฎาคม 2559 กรมฯ จะนำนักธุรกิจไทย ไปร่วมงานงานแฟรนไชส์ ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งงานดังกล่าวถือว่าเป็นงานที่ใหญ่ที่สุดของเอเชีย และเป็นการเข้าไปขยายตลาดแฟรนไชส์ไทย เพราะในฟิลิปปินส์ มีความนิยมร้านแฟรนไชส์มากที่สุดในอาเซียน
“กรมฯเห็นว่ามีแฟรนไชส์ไทย สามารถขยายตัวได้อีกมาก โดยได้เลือกแฟรนไชส์จำนวน 18 ราย ที่จะไปขยายตลาดในอาเซียน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม และอื่นๆ เช่น คาร์แคร์ ธุรกิจกลุ่มความงาม อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีแฟรนไชส์ไทย ที่ออกไปขายในตลาดต่างประเทศแล้ว 22 ราย ใน 37 ประเทศ เช่น ร้านอาหารแบล็คแคนยอน โชคดีติ่มซ่ำ โมลี่คาร์แคร์ โคคา สุกี้ สถาบันการศึกษาสมาร์ทเบรน”
อย่างไรก็ตาม ในปี 2559 นี้ กรมฯคาดว่าธุรกิจแฟรนไชส์ไทยน่าจะมีโอกาสเติบโตได้ประมาณ 15-20% จากมูลค่าธุรกิจรวม 250,000 ล้านบาท ในปี 2558 ที่ผ่านมาจากนิติบุคคลที่จดทะเบียน 961 ราย มีทุนจดทะเบียนรวม 60,000 ล้านบาทโดยแบ่งเป็น 6 ประเภทประกอบด้วย กลุ่มร้านอาหาร, กลุ่มการศึกษา, กลุ่มเครื่องดื่ม, กลุ่มความงาม, กลุ่มบริการ และ กลุ่มค้าปลีก
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)เปิดเผยการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เกี่ยวกับมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 พบว่า ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน (CEO) ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 มีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งตรงกันข้ามจากการสำรวจในครั้งก่อนที่ส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจจะแย่ลง โดย CEO คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในปี 2559 จะเติบโตอยู่ในช่วง 2%-4% ขณะที่คาดว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น เช่นกัน
ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 CEO คาดการณ์ว่า นโยบายการคลังและการใช้จ่ายภาครัฐ ตลอดจนการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับลดลงก็มีบทบาทเพิ่มมากขึ้น
ด้านปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย CEO มองว่าปัจจัยด้านเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนจะมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ปัญหาเรื่องซื้อภายในประเทศที่ลดลง ภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
สำหรับ แนวโน้มการดำเนินธุรกิจพบว่า CEO ส่วนใหญ่คาดผลการดำเนินธุรกิจของบริษัทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 จะดีขึ้น โดย 73% ของ CEO ที่ตอบแบบสอบถาม คาดว่ารายได้ของบริษัทในปี 2559 จะเติบโตมากกว่า 3% และ 49% คาดว่า
รายได้ของบริษัทในปี 2558 จะเติบโตมากกว่า 6%
ในการรับมือความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ บริษัทจดทะเบียนให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ขณะที่ด้านการตลาดให้ความสำคัญกับการขยายตลาดส่งออก และปรับราคาสินค้าและบริการ ด้านการลงทุนบริษัท จดทะเบียนให้ความสำคัญกับการขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
ส่วนแนวโน้มการลงทุนCEO คาดการณ์ว่าในปี 2559 การลงทุนสดใส โดยกว่า 72% ของ CEO คาดว่าจะลงทุนเพิ่มขึ้น โดยมีแผนงานการลงทุนเพิ่มขึ้นทั้งในต่างจังหวัดและต่างประเทศ ซึ่งแหล่งระดมทุนหลัก คือ สินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ กำไรสะสม และการออกหุ้นกู้ภายในประเทศ
สำหรับ แนวโน้มในการลงทุนในต่างประเทศในปี 2559 นั้น CEO คาดว่าบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยประเทศเป้าหมายยังคงเป็นประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV(กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม)