- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 03 April 2016 11:12
- Hits: 3614
พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมี.ค.59 ติดลบ 0.46% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.75%
พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมี.ค. ติดลบ 0.46% ส่วน 3 เดือนแรกติดลบ 0.50% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.75% ขณะที่ 3 เดือนแรกปีนี้อยู่ที่ 0.67% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผ่านเอกสารเผยแพร่ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ใน เดือน มี.ค.59 อยู่ที่ 105.84 ยัง -0.46% เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.58 แต่หากเทียบกับ เดือนก่อนหน้า (ก.พ.59) ขยายตัว 0.21% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ของ เดือน มี.ค.59 อยู่ที่ 106.38 ขยายตัว 0.75% เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.58
สำหรับ ดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มในเดือน มี.ค.59 อยู่ที่ 114.03 เพิ่มขึ้น 0.97% เมื่อเทียบกับ มี.ค.58 แต่ลดลง 0.31% เมื่อเทียบกับ ก.พ.59 ส่วนดัชนีราคาสินค้าที่ไม่ใช่หมวด อาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 101.44 หดตัว -1.25% จากเดือน มี.ค.58 แต่ขยายตัว 0.49% จากเดือน ก.พ.59
สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภค เฉลี่ย 3 เดือนแรกปีนี้หดตัว -0.50% ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ขยายตัว 0.67% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยรายละเอียดจากทางกระทรวงพาณิชย์ มีดังนี้
อัตราเงินเฟ้อเดือนมีนาคม 2559 เท่ากับร้อยละ -0.46 (YoY) ได้รับอิทธิพลมาจากสินค้า 4 หมวดหลักคือ 1) หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร 2) หมวดเคหสถาน 3) หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 4) ยาสูบและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ (ตามลำดับ)
ผลกระทบทางลบจากหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร และหมวดเคหสถานยังคงมีอิทธิพลมากกว่าผลกระทบทางบวกจากหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ที่ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยตามภาวะอุปสงค์และอุปทานของตลาด และผลกระทบสะสมของการปรับขึ้นอัตราค่าแสตมป์ยาสูบตามมูลค่าในเดือนก.พ.59 (ตามลำดับ) อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศในหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร เริ่มปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและส่งผลกระทบในทางลบต่ออัตราเงินเฟ้อลดลง เป็นสัญญาณที่ดีว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มขยายตัวในระยะสั้น
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เดือนมีนาคม 2559 (ดัชนีปี 2554 เท่ากับ100) เท่ากับ 105.84 อัตราเงินเฟ้อในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ลดลงร้อยละ 0.46 (YoY) จากผลกระทบสะสมของหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสารและส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลงร้อยละ -0.99 ปัจจัยสำคัญมาจาก 1) ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศ ได้แก่ น้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ 91 95 น้ำมันเบนซิน 95 ก๊าซ LPG (ผลกระทบร้อยละ 1.01) 2) ค่าโดยสารนอกท้องถิ่น อาทิ ค่าโดยสารรถประจาทางปรับอากาศชั้น 1 (ผลกระทบร้อยละ -0.01) ทั้งนี้ผลกระทบทางลบของสินค้าและบริการที่กล่าวมาข้างต้นต่ออัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงสาเหตุมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเริ่มปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยในระยะ 2-3 เดือนที่ผ่านมา รวมทั้ง สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด อาทิ ผงซักฟอกและน้ายาปรับผ้านุ่มในหมวดเคหสถาน กดดันให้อัตราเงินเฟ้อโดยรวมลดลงร้อยละ -0.02
ทั้งนี้ ผลกระทบในทางลบต่ออัตราเงินเฟ้อถูกชดเชยด้วยความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าเพื่อการบริโภคหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ 0.33 โดยเฉพาะไข่ไก่ กับข้าวสำเร็จรูป อาหารกลางวัน(ข้าวราดแกง) และข้าวสารเหนียว (ร้อยละ 0.05, 0.04, 0.03 และ 0.01 ตามลำดับ) รวมทั้งผลกระทบสะสมของการปรับขึ้นอัตราค่าแสตมป์ยาสูบตามมูลค่าในหมวดยาสูบและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ (ร้อยละ 0.18)
เมื่อเทียบเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อัตราเงินเฟ้อมีค่าเท่ากับ 0.21 (MoM) โดยได้รับอิทธิพลสำคัญมาจาก 1) น้ามันเชื้อเพลิง (ร้อยละ 0.27) 2) ค่าเช่าบ้าน (ร้อยละ 0.07) 3) การปรับขึ้นอัตราค่าแสตมป์ยาสูบในเดือนก.พ.59 (ร้อยละ 0.05) 4) ผลไม้สด (ร้อยละ 0.025) 5) ผักสด (ร้อยละ -0.087)
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย