- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Monday, 28 March 2016 19:10
- Hits: 1493
พณ.จับมือ GIT สำรวจเหมืองแร่อัญมณีในเมียนมา แนะนลท.ไทยตั้งโรงงานรับสิทธิ GSP ญี่ปุ่น,EU
นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เดินทางไปเมียนมา เพื่อขยายลู่ทางการค้าการลงทุนและส่งเสริมการนำเข้าวัตถุดิบระหว่างไทยกับเมียนมาเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งหารือกับบริษัทผู้ดำเนินการอุตสาหกรรมเหมืองแร่อัญมณี ทับทิม ไพลินในเมืองโมกก เมืองที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นแหล่งทับทิมสีเลือดนกที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก จากการที่เมืองนี้มีเหมืองราว 240 แห่ง ซึ่งการเดินทางครั้งนี้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่จะส่งเสริมให้มีการจัดหาแหล่งวัตถุดิบเพื่อการดำเนินธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับของโลก
"ไทยตระหนักว่า เมียนมาเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบอัญมณีที่สำคัญของโลก ในขณะที่ไทยต้องการวัตถุดิบที่มีคุณภาพ จึงควรเร่งใช้ประโยชน์จากกรอบความร่วมมือประชาเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) มากขึ้น เพื่อร่วมลงทุนแหล่งวัตถุดิบในเมียนมาอย่างยั่งยืน ทั้งจากการเคลื่อนย้ายสินค้าเสรี การเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี การพัฒนาทักษะและเพิ่มจำนวนนักออกแบบ การเข้าสู่ตลาดและช่องทางจัดจำหน่าย เป็นต้น รวมถึงขอให้ผ่อนผันและปรับปรุงกฎระเบียบการค้าวัตถุดิบอัญมณี ซึ่งไทยมีความต้องการใช้วัตถุดิบจากเมียนมา อาทิ พลอยสี หยก ไข่มุก และอัญมณีอื่นๆ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าของไทย โดยปัจจุบันผู้ประกอบการไทยจะติดต่อซื้อขายผ่านทางพ่อค้าคนกลางที่เป็นคนท้องถิ่น ซึ่งติดต่อทำการค้ามาหลายชั่วอายุคนจนเกิดความไว้วางใจ" อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าว
ทั้งนี้ เมียนมาสามารถใช้ไทยเป็นสถานที่ขยายการค้าวัตถุดิบอัญมณีและเครื่องประดับของเมียนมาได้ รวมถึงการเร่งหาแนวทางความร่วมมือในการพัฒนามาตรฐานการรับรองอัญมณีให้เป็นสากลมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลไทยโดยสถาบันจีไอทีจะพิจารณาโอกาสทางธุรกิจ โดยการเข้าไปตั้งสำนักงานเพื่ออำนวยความสะดวก สร้างโอกาสแก่ผู้ประกอบการทั้งสองประเทศให้ได้รับการยอมรับ ตลอดจนให้ความรู้ด้านระบบการจัดการ ด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ไทยมีศักยภาพ
จากการหารือร่วมกับสมาคมอัญมณีโมกก สมาชิกของสมาคมฯ ได้เสนอขอความร่วมมือจากไทยในด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต โดยเฉพาะเทคโนโลยีในการปรับปรุงคุณภาพ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเมียนมายังคงมีมาตรการไม่ให้ส่งออกพลอยที่ยังไม่ได้เจียระไนออกนอกประเทศ และยังควบคุมการเข้ามาในโมกกของชาวต่างชาติอย่างเข้มงวด
แม้เมียนมาจะไม่อนุญาตให้ต่างชาติลงทุนในธุรกิจเหมืองอัญมณี แต่ผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจะได้รับประโยชน์หลายประการ อาทิ มีต้นทุนการผลิตที่น้อยลงเนื่องจากอัตราค่าจ้างแรงงานท้องถิ่น จึงเหมาะสำหรับการผลิตสินค้าประเภทที่ไม่ต้องใช้ฝีมือแรงงานขั้นสูงมากนัก การที่เมียนมายังคงได้รับสิทธิจีเอสพีจากสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อส่งออกไปยังอียู จึงได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า รวมถึงการได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้ากับญี่ปุ่นในฐานะที่อยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด จึงได้รับกรยกเว้นภาษีนำเข้าและไม่ถูกจำกัดปริมาณนำเข้า
นอกจากนี้ เมียนมาได้จัดตั้งเขตปลอดอากรและศูนย์บริการเบ็ดเสร็จสำหรับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งกระบวนการทุกขั้นตอนตั้งแต่การนำวัตถุดิบอัญมณีและเครื่องประดับมาผลิต ไปจนถึงการผลิตออกมาเป็นสินค้าส่งออกจะได้รับการยกเว้นภาษี
เมียนมามีศักยภาพด้านวัตถุดิบพลอยสี ทับทิม หยก ไพลิน ฯลฯ โดยเฉพาะทับทิมและหยกเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมจากนานาชาติมากที่สุด ด้วยสีสันที่สวยงามและมีผลผลิตมากที่สุดในโลก
ปัจจุบันผลิตได้ปีละมากกว่า 1 ล้านกะรัต (ปีงบประมาณ 2547 – 2548 เคยผลิตได้สูงสุดราว 3.35 ล้านกะรัต) อีกทั้งในปีนี้ผู้ค้าและผู้ทำธุรกิจวัตถุดิบอัญมณีเมียนมาแสดงความสนใจที่จะสมัครเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย (Bangkok Gem and Jewelry Fair) มากกว่าปีทีผ่านมา ซึ่งภายในงานจะเปิดทำการค้าวัตถุดิบโดยปลอดภาษีอีกด้วย
สำหรับ เป้าหมายการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับปี 2559 คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 5% หรือ มีมูลค่า 7,550 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยกลุ่มอัญมณีสังเคราะห์ส่งออกเพิ่มขึ้นกว่า 26% ตลาดส่งออกสำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง เบลเยี่ยม เยอรมนี อิตาลี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอินเดีย คิดเป็นสัดส่วนตลาด 74 % ซึ่งไทยมีจุดแข็งในเรื่องเป็นตลาดกลางการค้าพลอยสีที่ใหญ่แห่งหนึ่งของโลก ผู้ค้าในตลาดโลกรู้จักและเชื่อมั่นในประเทศไทย อีกทั้งไทยเป็นที่ยอมรับว่ามีช่างฝีมือในการเผาพลอย ทำสีและตั้งน้ำพลอยได้สวยงาม รวมถึงมีทักษะและฝีมือประณีตในการออกแบบและขึ้นรูปเครื่องประดับ
อินโฟเควสท์