- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 19 March 2016 22:36
- Hits: 3472
พาณิชย์ เผยผลงานสนง.พาณิชย์จังหวัด เดินหน้าประชารัฐ-ช่วยภัยแล้ง-จัดงานสร้างรายได้ในจชต.
นายสมชาติ สร้อยทอง รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานที่สำคัญของสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ระหว่างวันที่ 10-16 มีนาคม 2559 ประกอบด้วย 1. การดำเนินงานตามนโยบายประชารัฐ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดบึงกาฬ : ได้บูรณาการร่วมกับมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภา) ยามยาก สภากาชาดไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และ ธ.ก.ส. ดำเนินการส่งเสริมการผลิตข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์ ตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมยกระดับสินค้าอินทรีย์ โดยเมื่อวันที่ 13 มี.ค.59 คณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ นำโดยน.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานในจังหวัดบึงกาฬร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และได้ร่วมเกี่ยวข้าวกับกลุ่มเกษตรกรข้าวไรซ์เบอร์รี่อู่คำ อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งใช้พื้นที่ชุ่มน้ำหลังน้ำลดในชุมชนให้เกิดประโยชน์ในการเพาะปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่
นอกจากนี้ เกษตรกรยังได้รวมกลุ่มจัดทำศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์กลุ่มข้าวไรซ์เบอร์รี่วัลเลย์อู่คำ บึงกาฬ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้การผลิต การตลาด สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกันยังส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มชาวนาตามนโยบายการทำนาแปลงใหญ่ให้เกษตรกรรายย่อยรวมกลุ่มและรวมพื้นที่การผลิตเป็นแปลงขนาดใหญ่ หรือ "Riceberry Valley" (ไรซ์เบอร์รี่ วัลเล่ย์) เพื่อช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลแหล่งทุน ทรัพยากรและการตลาด ง่ายต่อการจัดการผลผลิตให้มีประสิทธิภาพและได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ตลอดจนให้เกษตรกรมีอำนาจการต่อรองมากขึ้นในการซื้อหาปัจจัยการผลิต รวมไปถึงการทำตลาดด้วย
ในปี 2558/59 มีพื้นที่เพาะปลูกในปีแรกที่เริ่มดำเนินการ 120 ไร่ จากสมาชิก 23 คน คาดการณ์จะได้ผลผลิตกว่า 45 ตันข้าวเปลือก สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร กว่า 900,000 บาท
2. การเชื่อมโยงตลาด/การขยายตลาด
สำนักงานพาณิชย์จังหวัดได้จัดกิจกรรมในการส่งเสริมตลาดสินค้า/ผลิตภัณฑ์ของจังหวัด เพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ มีช่องทางการตลาดในการจำหน่ายสินค้า เพิ่มรายได้ และเป็นการประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จัก อย่างแพร่หลาย โดยดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 จนถึงวันที่ 15 มีนาคม 2559 จัดการเชื่อมโยงตลาด รวม 5 ครั้ง มูลค่าการค้ารวม 2,400 ล้านบาท และจัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้า รวม 21 ครั้ง มูลค่าการจำหน่าย รวม 93.78 ล้านบาท โดยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการดำเนินการเชื่อมโยง/ขยายตลาด ของสำนักงานพาณิชย์จังหวัด อาทิเช่น
สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสระแก้ว : ได้ร่วมกับจังหวัดสระแก้วและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันจัดตลาดนัดสินค้าเกษตรตามนโยบาย 4 ดี วิถีพอเพียง (คนดี สุขภาพดี รายได้ดี สิ่งแวดล้อมดี) ของผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ภายใต้ชื่อ “ตลาดนัดเกษตรกร 4 ดี วิถีพอเพียง" ณ ลานจอดรถข้างหอประชุมปางสีดา ศาลากลางจังหวัดสระแก้ว เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้แก่เกษตรกรและผู้ผลิตสินค้าชุมชน โดยจัดทุกวันศุกร์ เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2558 เป็นต้นมา และเมื่อวันศุกร์ที่ 11 มีนาคม 2559 ได้มีการเปิดโครงการภายใต้ชื่อ “ตลาด ประชารัฐ" โดยมีการบูรณาการร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดสระแก้ว สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสระแก้ว และสำนักงาน ธ.ก.ส. จังหวัดสระแก้ว มีเกษตรกรและผู้ประกอบการค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนเข้าร่วมจำหน่ายสินค้า จำนวน 60 ราย มูลค่าการจำหน่ายสินค้าในงานวันดังกล่าว รวม 135,200 บาท เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการร่วมมือกันตามแนวทางประชารัฐ เพื่อจัดจำหน่ายผลผลิตให้กับเกษตรกร รวมถึงผลิตภัณฑ์ของชุมชน
สำนักงานพาณิชย์จังหวัดลำพูน : ดำเนินกิจกรรมเชื่อมโยงตลาดผ้าทอและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องสู่สากล โดยนำผลิตภัณฑ์ผ้าและผ้าทอของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน) จัดแสดงในงาน Who’s next 2016 ระหว่างวันที่ 22-25 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของผู้ประกอบการและวัตถุดิบผ้าทอในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ผ้าที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายว่ามีการผลิตมีคุณภาพ สวยงาม และมีคุณค่า เช่น ผ้าทอที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้แก่ ผ้าไหมยกดอกลำพูน ผ้าตีนจกแม่แจ่ม (เชียงใหม่) รวมทั้งผ้าทอและเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ได้รับการพัฒนารูปแบบดีไซน์และคุณภาพไปร่วมแสดงและเจรจาธุรกิจในงาน จำนวน 20 ชิ้น ได้แก่ ชุดสำเร็จรูป 19 ชุด กระเป๋า 1 ชุด
นอกจากนี้แล้ว สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี ระยอง นครนายก ได้ดำเนินกิจกรรมส่งเสริม/ขยายตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชนของจังหวัด เชื่อมโยงตลาด โดยนำสินค้าไปจำหน่ายในจังหวัดที่มีกำลังซื้อสูง เช่น กรุงเทพฯ ชลบุรี ระยอง เป็นต้น สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา รวม 90 ราย มูลค่ากว่า 5 ล้านบาท
3. การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง
กระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในการช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนผู้ประสบปัญหาวิกฤตแล้ง ดังนี้
การจำหน่ายสินค้าธงฟ้าช่วยภัยแล้ง มีแผนดำเนินการใน 22 จังหวัด รวม 400 ครั้ง ตั้งแต่พฤศจิกายน 2558 – เมษายน 2559 ในจังหวัดกำแพงเพชร ฉะเชิงเทรา ชัยนาท ตาก นครปฐม นครนายก นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา พิจิตร พิษณุโลก ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี สุโขทัย อ่างทอง อุตรดิตถ์ และกรุงเทพ (ดำเนินการโดยกรมการค้าภายใน) จนถึงปัจจุบันวันที่ 15 มีนาคม 2559 ดำเนินการไปแล้ว 301 ครั้ง มียอดจำหน่ายสินค้ารวม 34.61 ล้านบาท ซึ่งสามารถลดค่าครองชีพให้ประชาชนจำนวน 139,743 คน มูลค่า 23.07 ล้านบาท
การเชื่อมโยงตลาดและจัดหาตลาดรองรับผลผลิตทางการเกษตร/ผลิตภัณฑ์ชุมชนของเกษตรกร กระทรวงพาณิชย์ มีภารกิจด้านการจัดหาตลาดที่จะรองรับผลผลิตของเกษตรกร เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและชุมชน โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่ภัยแล้ง 22 จังหวัด ดำเนินการจัดหา เชื่อมโยงตลาด แหล่งรับซื้อ ประสานผู้ประกอบการทำความตกลงรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร เพื่อช่วยเหลือสร้างรายได้ให้เกษตรกร เป็นการสนับสนุนด้านการตลาดรองรับผลผลิตพืชเป้าหมายในการส่งเสริมของจังหวัด ได้แก่ พืชไร่ เช่น ถั่วเขียว ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ข้าวโพด มันสำปะหลัง พืชอาหาร เช่น ผักสดต่างๆ ตะไคร้อินทรีย์ ฟักทองออร์แกนิกส์ หอมแดง มะเขือเทศโรงงาน และผลไม้ตามฤดูกาล เช่น มะพร้าวอ่อน/น้ำหอม ทุเรียน (ทุกพันธุ์) กล้วยหอมทอง และเสาวรส
การดำเนินการจนถึงขณะนี้ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่ภัยแล้งที่มีผลผลิตออกสู่ตลาด จำนวน 10 จังหวัด คือ ชัยนาท ปัตตานี ชัยภูมิ กำแพงเพชร หนองคาย พิษณุโลก น่าน ลำปาง สุพรรณบุรี สระแก้ว ได้ประสานการรับซื้อสินค้าเกษตรเป้าหมายดังกล่าว ได้แก่ ถั่วเขียวผิวมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พริกใหญ่ และพืชผักอื่น รวมมูลค่า 57,224,045 บาท
การอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร : สำนักงานพาณิชย์จังหวัด 76 จังหวัด ได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/59 จัดโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยใช้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรใน 76 จังหวัด 882 ศูนย์ๆ ละ 5 รุ่น รวม 4,410 ครั้ง เป้าหมายเกษตรกร 220,500 ราย ขณะนี้ดำเนินการไปกว่า 3,700 ครั้ง มีเกษตรกรเข้ารับการอบรมแล้ว 186,142 ราย คิดเป็นร้อยละ 84
4. การดำเนินงานโครงการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าจังหวัดชายแดนภาคใต้
กระทรวงพาณิชย์ดำเนินงานส่งเสริมด้านการตลาดตามความต้องการของพื้นที่ 7 เมืองหลักชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย 1. อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 2. อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี 3. อำเภอเบตง จังหวัดยะลา 4. อำเภอเมือง จังหวัดยะลา 5. อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส 6. อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส 7. อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส โดยดำเนินโครงการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 เพื่อสร้างโอกาส สร้างรายได้และส่งเสริมการตลาดสินค้าและบริการให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจัดกิจกรรมในพื้นที่ ดังนี้
1) จัดงาน 'ถนนคนเดินกระทรวงพาณิชย์ลดค่าครองชีพประชาชน'เมื่อวันที่ 5 - 9 กุมภาพันธ์ 2559 ณ สวนน้ำ ลานวัฒนธรรมสัมพันธ์ เทศบาลเมืองเบตง จังหวัดยะลา ผู้ประกอบการ เข้าร่วม 48 ราย ยอดจำหน่ายสินค้า 2.7 ล้านบาท
2) จัดงาน 'ของหรอยเมืองนรา'วันที่ 11-15 มีนาคม 2559 ณ บริเวณตลาดน้ำตากใบ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ผู้ประกอบการ 55 ราย ยอดจำหน่ายสินค้า 1.7 ล้านบาท
3) จัดงาน'มหกรรมของดีปัตตานี ครั้งที่ 1'เมื่อวันที่ 11 - 20 มีนาคม 2559 ณ สนามองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
กิจกรรมต่อไปจากนี้ ตั้งแต่เดือนเมษายน - กันยายน 2559 กำหนดจัดงานเทศกาลอาหารเมืองเบตง ณ สวนน้ำบริเวณลานวัฒนธรรม สัมพันธ์เทศบาลเมืองเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา วันที่ 8 - 12 เมษายน 2559 และมีแผนจัดงานถนนคนเดินกระทรวงพาณิชย์ลดค่าครองชีพประชาชน ในจังหวัดยะลา และปัตตานี จำนวน 9 ครั้ง
ผลที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ คาดว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีรายได้เพิ่มขึ้น สร้างความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสนับสนุนการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามนโยบายของรัฐบาล
-อินโฟเควสท์