- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 05 March 2016 07:47
- Hits: 5858
'ก.พาณิชย์'ลงพื้นที่ดูสถานการณ์ผลไม้ เล็งใช้รูปแบบ'จันทบุรีโมเดล' ป้องกันล้งต่างชาติทำตลาดป่วน
แนวหน้า : นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่าจากการประเมินของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ณ เดือนมกราคม 2559 เกี่ยวกับสถานการณ์ผลไม้ภาคตะวันออก ฤดูกาลผลิต ปี 2559 ทั้งลำไย ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง น่าจะมีปริมาณผลผลิตประมาณ 1.06 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2558 เฉลี่ยประมาณ 5.72% เนื่องจากปี 2559 นี้มีอากาศที่เหมาะสม และในปี 2558 ที่ผ่านมาผลไม้มีราคาดี ทำให้เกษตรกรใส่ใจดูแล การผลิตมากขึ้น โดยเฉพาะทุเรียน ที่ในปี 2559 มีผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 367,161 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 6.80% จากปี 2558 ขณะที่มังคุดก็เพิ่มขึ้นเป็น 135,647 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 16.16% จากปี 2558 แต่ในส่วนของลองกองมีผลผลิตลดลงเหลือ 53,202 ตัน หรือลดลง 0.39% จากปี 2558
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2559 กระทรวงพาณิชย์ ได้ลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี เพื่อติดตามสถานการณ์ผลไม้ภาคตะวันออก ซึ่งได้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากภาครัฐและเอกชน โดยนายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ได้นำเสนอแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ของจังหวัดจันทบุรี หรือ "จันทบุรีโมเดล" เพื่อใช้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาของจังหวัดอื่นๆ ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ทราบมา ว่าเกษตรกรมีความกังวลเรื่องไม่ได้รับความเป็นธรรมในด้านต่างๆ ซึ่งในการหารือก็ได้พูดคุยกับผู้เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการรับรอง ดูแลผลไม้ก่อนที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาดแล้ว โดยในด้านการตลาดและการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจรับซื้อผลไม้ ได้มีการประชุมร่วมกับจังหวัดจันทบุรี, ระยอง และตราด เพื่อรับทราบปัญหาของเกษตรกรและแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ของจังหวัดจันทบุรี รวมถึงได้ลงพื้นที่เพาะปลูกลำไย ที่อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี เพื่อเยี่ยมชมและหารือกับเกษตรกรผู้ปลูกลำไย ผู้รวบรวม และบริษัทส่งออกผลไม้
ในส่วนการแก้ไขปัญหาล้ง (โรงคัดบรรจุ) ต่างชาติ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ทราบมาว่ามีผู้ประกอบธุรกิจรับซื้อผลไม้เข้ามารับซื้อผลไม้จากเกษตรกรมากราย ทำให้ตลาดเกิดการแข่งขันอย่างมาก ซึ่งในเรื่องนี้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะดูแลเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทาง การค้า และจะใช้จันทบุรีโมเดลเป็นแนวทางการจัดการ
สำหรับ จันทบุรีโมเดลนั้น จังหวัดจันทบุรีมีการวางแผนต่างๆ ไว้ ได้แก่ 1.ขึ้นทะเบียน เกษตรกร, ล้ง และนายหน้าที่รวบรวมลำไย กับสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขต 6, 2.เกษตรจังหวัด ตรวจสอบแปลงลำไยและถ่ายภาพเพื่อใช้ประกอบในการขึ้นทะเบียนเกษตรกรให้ครบถ้วน, 3.สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิ์และช่วยเหลือทางกฎหมาย และการบังคับคดี(สคช.) ทำสัญญากลาง ในการซื้อขายระหว่างล้งกับเกษตรกร, 4.คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตร จังหวัดจันทบุรี(คพจ.) โดยมีพาณิชย์จังหวัดจันทบุรีเป็นเลขานุการ ตรวจสอบ รวบรวมข้อมูลเชิงลึก
"ในการดูแลเกี่ยวกับการให้ความเป็นธรรมทางด้านการค้า กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวง การคลัง ได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าแต่ละหน่วยงานมีระเบียบหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องที่ชัดเจนอยู่แล้ว จึงขอให้แต่ละหน่วยงานปฏิบัติตามความรับ ผิดชอบอย่างเคร่งครัด ในส่วนของเกษตรกรเอง ก็ต้องมีการดูแลผลผลิตให้ได้มาตรฐานและมีคุณภาพสูงสุด เพื่อให้ได้ราคาสูงและเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ" นายสุวิทย์ กล่าว