- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Wednesday, 02 March 2016 23:14
- Hits: 3312
กระทรวงพาณิชย์เปิดตลาดซื้อขายยางพารา-ผลิตภัณฑ์ จับคู่ธุรกิจซื้อขายกว่าหมื่นล้านบาท
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึง การเจรจาการค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพารา ที่จัดขึ้นในวันนี้ว่า มีผู้ซื้อผู้นำเข้าประมาณ 150 ราย จาก 28 ประเทศทั่วโลก อาทิ ประเทศในอาเซียน อินเดีย จีน ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป รัสเซีย เบลารุส แอฟริกาใต้ อียิปต์ ไนจีเรีย ซาอุดิอาระเบีย ตุรกี และสหรัฐอเมริกา โดยมีผู้ประกอบการไทย 109 ราย เข้าร่วมการเจรจาและจับคู่ธุรกิจในครั้งนี้ คาดว่าการจับคู่ธุรกิจครั้งนี้จะเกิดมูลค่าการซื้อขายโดยรวม (ยางพาราธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ) กว่า 10,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ภายในงานผู้ประกอบการไทยได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ(MOU) ในการซื้อผลิตภัณฑ์ยางรวม 110,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า ประมาณ 3,850 ล้านบาท ระหว่างผู้จำหน่ายไทย คือ บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด กับ ผู้นําเข้าจีน 3 ราย ได้แก่ 1. Qingdao Runlian Co.,ltd. ยางแท่ง STR20 จํานวน 50,000 ตัน 2. Shanghai Han Qing Import & Export Co., ltd. ยางแท่ง STR20 จํานวน 30,000 ตัน และ 3. Shanghai Ting Qing Industry Co., Ltd ยางแผ่นรมควันจํานวน 30,000 ตัน
สำหรับ สินค้ายางพาราที่ได้รับความสนใจจากผู้นำเข้าต่างประเทศ ได้แก่ ยางล้อ ยางตัน หมอนและที่นอนยางพารา ยางธรรมชาติ ถุงมือยาง ไม้ยาง (Pellet) ชิ้นส่วนยานยนต์ที่ทำจากยาง และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ สำหรับผู้นำเข้ายางและผลิตภัณฑ์ยางรายใหญ่จากต่างประเทศที่ตอบรับเข้าร่วมกิจกรรม อาทิ บริษัท เซี่ยงไฮ้ฮานคิง และบริษัท คิงเดา ถานเยว่ อินเตอร์เนชั่นแนล เทรด จากจีน บริษัท ยูนิโกลฟส์ จากอังกฤษ บริษัท เจเอสซี เบลชีน่า จากเบลารุส บริษัท ไกพงรับเบอร์ จากเวียดนาม เป็นต้น
ส่วนผู้ประกอบการไทยรายสำคัญที่เข้าร่วมงาน อาทิ บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด ซึ่งมีกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ปลูกยางพาราได้เข้าร่วมกิจกรรม อาทิ สหกรณ์กองทุนสวนยางอำเภอบ่อทอง จำกัด ชุมนุมสหกรณ์อุตสาหกรรมยางพาราภาคใต้ จำกัด โรงอัดก้อนยางสหกรณ์การเกษตรย่านตาขาว จำกัด โรงอัดก้อนยางสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านทรายแก้ว จำกัด โรงอัดก้อนยางสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านคลองโตนพัฒนา จำกัด เป็นต้น
“กระทรวงพาณิชย์เชื่อมั่นว่า กิจกรรมการเจรจาการค้าในวันนี้ จะเป็นก้าวแห่งความสำเร็จที่สำคัญแก่อุตสาหกรรมยางพาราไทยในการตอกย้ำความสัมพันธ์ทางการค้ากับคู่ค้าต่างประเทศ อีกทั้งเป็นโอกาสในการแสวงหาและสร้างพันธมิตรกับคู่ค้ารายใหม่” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว
ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตยางพาราคุณภาพสูงที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีศักยภาพการผลิตถึงกว่า 4 ล้านตันต่อปี ซึ่งนับเป็นหนึ่งในสามของปริมาณการผลิตยางพารารวมทั้งโลก นอกจากนี้ไทยยังเป็นแหล่งผลิตผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ เป็นผู้ส่งออกยางยานพาหนะอันดับ 6 ของโลก ผู้ส่งออกถุงมือยางอันดับ 2 ของโลก และยังเป็นผู้ผลิตผู้ส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ที่ทำจากยางพารารายใหญ่
รัฐบาลไทยได้กำกับและควบคุมการผลิตยางพาราอย่างใกล้ชิด ตลอดสายการผลิตตั้งแต่การปลูกถึงการผลิตในภาคอุตสาหกรรม โดยได้จัดตั้งศูนย์/หน่วยงานวิจัยและพัฒนายางพาราในด้านต่างๆ ได้แก่ การผลิต การตลาด และการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อให้ยางพาราจากประเทศไทยมีคุณภาพที่ดีที่สุดและมีกำลังการผลิตที่เพียงพอแก่ความต้องการของตลาด
ปี 2558 ไทยส่งออกยางพารา (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง น้ำยางข้น และยางอื่นๆ) รวมมูลค่า 5,057 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดส่งออกสำคัญได้แก่ จีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา ในส่วนของผลิตภัณฑ์ยาง (ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง ยางคอมพาวด์ หลอดและท่อ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ) มีมูลค่าส่งออกในปี 2558 อยู่ที่ 6,850 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดส่งออกสำคัญได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย และออสเตรเลีย
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย