- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 28 February 2016 17:10
- Hits: 6485
ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุม AEM Retreat ที่ จ.เชียงใหม่ เดือน มี.ค.นี้
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 2-3 มีนาคม 2559 มีกำหนดนำผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม รมต.เศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 22 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมดังกล่าวที่ จ.เชียงใหม่
โดยการประชุม AEM Retreat ในครั้งนี้เป็นการพบหารือของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเป็นครั้งแรก ภายหลังสมาชิกอาเซียนได้ประกาศจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเมื่อปลายปี 2558 มีประเด็นสำคัญที่จะหารือ เช่น การดำเนินมาตรการสำคัญภายใต้ AEC Blueprint 2015 ที่ยังต้องดำเนินการต่อเนื่อง เช่น มาตรการด้านการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง ระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASW) ระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน (ASEAN Self-Certification) การจัดทำความตกลงการค้าบริการฉบับใหม่ (ATISA) การสรุปผลการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) การดำเนินการระบบคลังข้อมูลการค้าอาเซียน (ATR) เป็นต้น
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ส่วนการรวมตัวและเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดขึ้นในอนาคตนั้น รมต.เศรษฐกิจจะหารือการดำเนินการตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 ซึ่งเป็นแผนงานต่อยอดจากแผนงานเดิม ที่กำหนดทิศทางการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนในระยะ 10 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2559-2568) ประกอบด้วย 5 เป้าหมายคือ 1) การเป็นเศรษฐกิจที่มีการรวมตัวและเชื่อมโยงกันในระดับสูง 2) การมีความสามารถในการแข่งขัน มีนวัตกรรม และมีพลวัต 3) การส่งเสริมความเชื่อมโยงและความร่วมมือรายสาขา 4) การเป็นภูมิภาคที่มีความสามารถในการปรับตัว ครอบคลุมทุกภาคส่วน มุ่งเน้นประชาชนและมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และ 5) การเป็นส่วนสำคัญของประชาคมโลก เพื่อกำหนดมาตรการสำคัญที่ต้องนำมาดำเนินการภายในปี 2559 รวมทั้งพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงาน (Sectoral Workplan) ความร่วมมือด้านต่างๆเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมาย ตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025
ทั้งนี้ คาดว่า มาตรการที่อาเซียนจะให้ความสำคัญในปี 2559 เช่น การเสริมสร้างศักยภาพของ MSMEs หรือธุรกิจรายย่อย ขนาดเล็ก และขนาดกลาง รวมทั้งประเด็นที่ลาวในฐานะประธานอาเซียนปีนี้จะให้ความสำคัญ เช่น การจัดทำกรอบการดำเนินการด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียน การจัดทำกรอบระเบียบของอาเซียนเรื่องความปลอดภัยของอาหาร
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ จะพิจารณาให้แนวทางการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับ 6 ประเทศคู่เจรจา FTA ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เพื่อให้สรุปผลการเจรจาความตกลงฯ ให้ได้ภายในปี 2559 ตามที่ผู้นำอาเซียนประกาศไว้ ซึ่งหากการเจรจาความตกลงฯ สำเร็จได้ตามเป้าหมาย ก็จะนำไปสู่ตลาดที่ใหญ่ขึ้นด้วยขนาดประชากรกว่า 3.4 พันล้านคน การเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิต การค้าและการลงทุน การปรับประสานกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าให้สอดคล้องกัน ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนของภาคเอกชนได้มากกว่าความตกลงฯที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ในโอกาสเดียวกันนี้ ที่ประชุมฯ จะสานต่อการหารือในประเด็นที่ผู้นำอาเซียนและสหรัฐฯ ได้ตกลงกันในการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ เมื่อวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ 2559 ณ เมืองแรนโซมิราจ และการประชุม ASEAN-US TIFA JC ในระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-สหรัฐฯ ในระหว่างกิจกรรม AEM Roadshow to U.S. ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ 2559 ณ นครซานฟรานซิสโก และ Silicon Valley โดยเฉพาะแนวทางการเชื่อมโยงทั้งสองฝ่ายใน 4 เรื่อง ได้แก่ ธุรกิจ พลังงาน นวัตกรรม และนโยบาย ผ่านข้อริเริ่ม ASEAN-US Connect และการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการทางการค้า (ASEAN-US Trade Workshop) ของสหรัฐฯ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจของอาเซียนต่อความตกลงการค้าเสรีมาตรฐานสูง อาทิ TPP รวมทั้งหารือการดำเนินการตามแผนงานความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนที่มีอยู่ในปัจจุบันระหว่างอาเซียน-สหรัฐฯ
พร้อมกันนี้ รมต.เศรษฐกิจอาเซียนจะได้หารือกับ H.E.Ms. Cecilia Malmström กรรมาธิการการค้าสหภาพยุโรป ในฐานะประเทศคู่เจรจาของอาเซียน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าผ่านความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างอาเซียน-สหภาพยุโรป โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าประเด็นที่จะหารือกันคือ ความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการค้าและการลงทุนร่วมอาเซียน-สหภาพยุโรป ปี 2015-2016 รวมไปถึงการดำเนินการพิจารณาความเป็นไปได้เพื่อรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป ที่ได้หยุดชะงักมาแล้วหลายปี ทั้งนี้ ปัจจุบันสหภาพยุโรปสรุปความตกลง FTA กับสมาชิกอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์กับเวียดนาม และกำลังจะเริ่มเจรจากับฟิลิปปินส์
ปัจจุบัน อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย โดยการค้าของไทยกับอาเซียนในปี 2558 มีมูลค่าประมาณ 9.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 22 ของการค้าไทยกับทั่วโลก ทั้งนี้ ตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์
อินโฟเควสท์