- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 27 February 2016 18:17
- Hits: 1202
'ชุติมา'สั่งพาณิชย์จังหวัดประสาน'เกษตร'ดูแลปัญหาภัยแล้ง
แนวหน้า : น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้พาณิชย์จังหวัด เข้าไปประสานงานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการดูพื้นที่ปลูกสินค้าเกษตรที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ทั้งในส่วนของผักและผลไม้ รวมถึงให้ศึกษาเรื่องของตลาด ความต้องการสินค้า ว่าสินค้าเกษตรที่ใช้น้ำน้อยชนิดใดเป็นที่ต้องการ และสามารถปลูกทดแทนสินค้าเกษตรเดิมได้ เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าล้นตลาด เกิดปัญหาราคาตกต่ำ หรือการขาดแคลนสินค้า
"กระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมมือกับกระทรวง เกษตรและสหกรณ์ ในการเข้าไปดำเนินการจัดระบบ การเพาะปลูกสินค้าเกษตร เพราะปี 2559 นี้ยังมีปัญหาภัยแล้งอยู่ โดยความต้องการข้าวที่ประเมินว่าความต้องการของตลาดจะอยู่ที่ 25 ล้านตัน เผื่อเหลือ เผื่อขาด 8% คือ ต้องผลิตข้าวที่ประมาณ 27 ล้านตัน ดังนั้นต้องลดพื้นที่ปลูกข้าว และหันมาปลูกพืชเกษตร ตัวอื่นที่ใช้น้ำน้อยทดแทน"น.ส.ชุติมา กล่าว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้ส่งเสริมให้เกษตรมีการปลูกสินค้าเกษตรที่ใช้น้ำน้อย เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และพืชเกษตรชนิดอื่นๆ เพื่อทดแทนการปลูกข้าว โดยตอนนี้มีหลายพื้นที่ผลผลิตได้เริ่มออกสู่ตลาดแล้ว ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะทำการช่วยเชื่อมโยงตลาด และกระจายสินค้าที่กระจุกตัวออกไปยังพื้นที่อื่นๆ รวมถึงการเชื่อมโยงไปยังโรงงานผลิตในต่างพื้นที่ด้วย
ในขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการวางแผนรับมือผลไม้ที่กำลังจะออกสู่ตลาด เช่น ทุเรียน มังคุด ลำไย และเงาะ โดยผลไม้จะทยอยออกสู่ตลาดเริ่มจากภาคตะวันออก เริ่มจากมังคุด เงาะ ทุเรียน ลองกอง ส่วนภาคใต้และภาคเหนือ ผลไม้จะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ทั้งเงาะ ทุเรียน มังคุด ลำไย ซึ่งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 นี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเรียกประชุมเพื่อประเมินแนวโน้มผลผลิต และแนวทางในการรับมือกับผลผลิตที่จะออกมาสู่ตลาด
สำหรับ ในแผนการตลาดนั้น กระทรวงพาณิชย์จะช่วยกระจายสินค้าไปยังพื้นที่ต่างๆ เช่น ตลาดกลาง ห้างค้าปลีกค้าส่ง ตลาดชุมชน ศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตรชุมชน (Farm Outlet) และตลาดที่ติดกับชายแดน เป็นต้น รวมถึงจะส่งเสริมการบริโภคผลไม้ โดยจัดงานเทศกาลผลไม้ทั้งในห้างสรรพสินค้าและแหล่งท่องเที่ยว
นอกจากนี้ จะส่งเสริมให้มีการแปรรูปผลไม้ให้เพิ่มมากขึ้น และจะผลักดันให้มีการส่งออก ไปยังตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะตลาดจีน ที่ต้องการผลไม้จากไทยจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม คาดว่าปี 2559 นี้ผลไม้ไทยจะไม่มีปัญหาด้าน ราคาตกต่ำ เพราะผลผลิตได้รับผลกระทบจาก ปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตลดลงมาก และมีแนวโน้มที่ราคาจะปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อเกษตรกรผู้เพาะปลูก