- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 27 February 2016 08:46
- Hits: 1302
พาณิชย์ เผย ส่งออกเดือน ม.ค. 58 ติดลบ 8.91% ติดลบต่อเนื่องเดือนที่ 13 ส่วนนำเข้าติดลบ 12.37% แต่ยังคังเป้าทั้งปีโตได้ 5%
พาณิชย์ เผย เดือน ม.ค. 58 ส่งออกติดลบ 8.91% นำเข้าติดลบ 12.37% ติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 ส่วนดุลการค้าเกินดุล 238 ล้านดอลลาร์ ชี้ราคาน้ำมันดิ่ง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำเป็นตัวกดดัน แต่ภาพรวมยังดีกว่าหลายประเทศในอาเซียน พร้อมคงเป้าส่งออกปีนี้โต 5 % เดินหน้ารักษาส่วนแบ่งตลาด - เจาะกลุ่ม CLMV
นายสมเกียรติ ตรีรัตน์พันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงภาวะการส่งออก นำเข้า และดุลการค้าเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า การส่งออกในเดือนมกราคม 2558 มีมูลค่า 15,711 ล้านดอลลาร์ ลดลง 8.91% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นมูลค่าต่ำสุดในรอบ 4 ปี 2 เดือน แต่หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและทองคำมูลค่าการส่งออกจะหดตัว 5.4% ในขณะที่การนำเข้าในเดือนมกราคมมีมูลค่า 15,474 ล้านดอลลาร์ ลดลง 12.37% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งทั้งการส่งออกและนำเข้าเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 ทำให้ดุลการค้าระหว่างประเทศในเดือนมกราคมยังคงเกินดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกันมีมูลค่า 238 ล้านดอลลาร์
สำหรับ ภาพรวมมูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนมกราคมนี้ยังเผชิญกับแรงฉุดรั้งที่สำคัญ กดดันมูลค่าการส่งออกต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลงต่ำในสุดในรอบ 11 ปี โดยน้ำมันดิบในตลาดโลกในเดือนมกราคม 2559 อยู่ที่ 27 ดอลลาร์ต่อบาเรล จากเดือนธันวาคม 2558 ที่อยู่ที่ 42 ดอลลาร์ต่อบาเรล ขณะที่เดือนมกราคม 2558 อยู่ที่ 46 ดอลลาร์ต่อบาเรล
นอกจากนี้ การส่งออกยังได้รับแรงกดดันจาก ราคาสินค้าเกษตรที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้หลายสินค้าสำคัญมีมูลค่าการส่งออกหดตัวแรงกว่าปริมาณส่งออกที่ลดลงเพียงเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยยังมีสถานการณ์ที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ โดยหากเทียบกับประเทศผู้ส่งออกสำคัญในภูมิภาคอาเซียนไทยยังมีสถานการณ์ที่ดีกว่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ด้านข้อมูลการนำเข้าของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยยังคงรักษาส่วนแบ่งการตลาด และสินค้าส่งออกสำคัญไว้ได้ สะท้อนให้เห็นว่าความสามารถทางการแข่งขันของไทยไม่ได้ลดลงตามมูลค่าการส่งออก
นายสมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมเกษตรหดตัวตามราคาสินค้าเกษตรโลก โดยภาพรวมมูลค่าการส่งออกลดลง 4.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามทิศทางของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ยางพาราลดลง 25.7% เช่นเดียวกับทูน่ากระป๋องที่ติดลบ 15.1% ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันที่ลดลงต่ำสุดในรอบกว่า 11ปี โดยมูลค่าการส่งออกลดลง 8.5%
สำหรับ ตลาดส่งออกในกลุ่ม CLMV ซึ่งประกอบด้วยกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ยังขยายตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ขณะที่คู่ค้าที่สำคัญ คือ สหรัฐ จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ยังคงหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก และอาเซียนที่หดตัวจาปัจจัยสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันเป็นสำคัญ โดยในเดือนมกราคมที่ผ่านมาการส่งออกในกลุ่ม CLMV ขยายตัวต่อเนื่องที่ 1.2% โดยลาวกับกัมพูชายังขยายตัวสูงต่อเนื่องจากการค้าชายแดนเป็นสำคัญ โดยสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวสูง คือ อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และน้ำตาลทราย เป็นต้น
ขณะที่การส่งออกไปสหรัฐหดตัว 8.5% จากการลดลงของเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และเครื่องรับวิทยุ เป็นต้น ด้านจีนติดลบ 6.1% ญี่ปุ่นติดลบ 10.1% สหภาพยุโรปติดลบ 2.4% และอาเซียนติดลบ 14.9%
ม.ค.-59 มูลค่า Growth (%YoY) มูลค่า Growth (%AoA)
(ล้านเหรียญฯ) (ล้านบาท)
มูลค่าการค้า 31,185 -10.66 1,124,807 -1.89
ส่งออก 15,711 -8.91 563,423 0.04
นำเข้า 15,474 -12.37 561,383 -3.75
ดุลการค้า 238 2,040
ด้านนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การส่งออกในปีนี้ว่า กระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ที่ 5% โดยแนวทางการขับเคลื่อนการส่งออกที่สำคัญประกอบด้วย 5 ด้าน คือ
1 .ขยายการค้ากับประเทศเพื่อบ้าน โดยเฉพาะตลาดอินโดจีน หรือ CLMV โดยกระทรวงพาณิชย์จะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อการขยายโอกาสทางการค้า และการใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของไทย ซึ่งมีที่ตั้งเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งความเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก
ด้านที่ 2 คือ เร่งรัดการขยายตลาดส่งออกเชิงรุก โดยใช้ความต้องการตลาดเป็นตัวนำการผลิต หรือกำหนดสินค้า บริการที่จะผลักดันการส่งออก และมีการกำหนดกลยุทธ์เชิงลึกลงในระดับเมือง มุ่งเน้นการเจาะตลาดใหม่ๆ การเจาะกลุ่มตลาดเฉพาะ และช่องทางการค้าออนไลน์ โดยเฉพาะตลาดอาเซียน ที่จะมุ่งเน้นตลาดเข้าสู่เมืองเศรษฐกิจรองที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง เช่น มัณฑะเลย เมียวดี มะริด ทวาย ไฮฟอง ฮานอย เกิ่นเทอ เสียมราฐ พระสีหนุ เกาะกง หลวงพระบาง สะหวันนะเขต จำปาสัก เซบู ดาเวา สลังงอ รวมถึงการเพิ่มขีดความสำคัญของตลาดในเมืองหลวง เมืองเศรษฐกิจเป็นต้น
ด้านที่ 3 การส่งเสริมการค้าการบริการ โดยสนับสนุนภาคธุรกิจบริการให้เป็นแรงผลักดันการส่งออกควบคู่กับการส่งออกสินค้า ตามยุทธศาสตร์ที่ได้กพหนดไว้ กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนด 6 กลุ่มธุรกิจบริการเป้าหมาย คือ ธุรกิจบริการด้านสุขภาพ ธุรกิจบันเทิงคอนเทนต์ ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจการศึกษา ธุรกิจบริการเกี่ยวกับการต้อนรับ ธุรกิจบริการวิชาชีพ
ด้านที่ 4 ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนและสร้างความสามารถทางการแข่งขันธุรกิจ โดยผ่านกลไกภาครัฐร่วมกับภาคเอกชน รวมทั้งการศึกษาข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจและศักยภาพทางเศรษฐกิจเป็นรายเมือง รวมถึงขั้นตอน กฎระเบียบการลงทุน และมาตรการทางภาษี และการสร้างเครือข่ายกับหน่วยงาน นักธุรกิจ ท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่ต้องการขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ
ด้านที่ 5 ผลักดันและแก้ปัญหาทางการค้าร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยมีกลไกขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ หรือ พกค. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคการค้าทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นกรรมการ
“ด้านสถานการณ์การส่งออกในเดือนมกราคมที่ผ่านมาที่มีมูลค่าการค้า 15,711 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในรอบ 4 ปี 2 เดือน นับตั้งแต่พฤศจิกายน 2554 แต่อย่างไรก็ตามแม้การส่งออกของเราจะลดลง แต่เมื่อดูสถานการณ์เรายังอยู่ในอันดับที่ 4 รองลงจากฮ่องกง จีน แม็กซิโก”นายสุวิทย์ กล่าว
นายสุวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านสถานการณ์การส่งออกของไทย ที่ชะลอตัวลงล่าสุดที่ 8.9% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีการปรับตัวลดลง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้ปรับคาดการณ์ขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลงมาอยู่ที่ 3.4% จาก 3.6% ขณะที่ราคาน้ำมันลดลงจาก 51.6 ดอลลาร์ต่อบาเรล เหลือ 42.5 ดอลลาร์ต่อบาเรลในปีนี้ ภายใต้ความผันผวน สถานการณ์การส่งออกของไทยยังคงอยู่ในอันดับ 4 เมื่อเทียบกับการเติบโต
ในเรื่องของการลงทุนระหว่างประเทศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัย จากที่เน้นการนำเข้า เชิญต่างประเทศเข้ามาลงทุน มาเป็นการออกไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นด้วย ด้านต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมีแนวโน้มคงที่ โดยเป้าหมายของการลงทุนของไทยในต่างประเทศกว่า 30% ไปอยู่ในอาเซียน ด้านโครงสร้างภายในภาคอุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนแปลงโดยลดการพึ่งพารายได้จากการส่งออกลงแต่เพิ่มการพึ่งพารายได้จากการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น โดยทุกกลุ่มอุตสาหกรรมมีสัดส่วนรายได้จาส่วนงานในต่างประเทศต่อรายได้รวมสูงขึ้น
“ในอนาคตจะต้องดู GNP หรือ มูลค่าสินค้าและบริการ ควบคู่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ด้วย ควบคู่กันไป โดยหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว GNP จะมากกว่า GDP นอกจากนี้ การค้ากำลังเผชิญกับ New Normal ดังนั้นจะต้องดำเนินการแบบ Business As Usual ไม่ได้ โดยยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนจะต้องรักษาและเพิ่มสัดส่วนการตลาด ทำให้ตัวเลขการส่งออกเป็นบวก เราจะทำงานร่วมกับเอกชน เพิ่มตลาดการส่งออกสินค้าภาคบริการ การลงทุนต่างประเทศ New S curve TPP CLMV เป้าหมาย 5% ยังไม่เปลี่ยน การันตีว่ามารเกตแชร์จะต้องเพิ่มขึ้น เราจะพยายาม ทำให้ตัวเลขการส่งออกจากลบมาเป็นบวกให้ได้ เราจะสามารถเอาสิ่งต่างๆทำให้เกิดโฟรไหลไปไหลมาได้อย่างไร”นายสุวิทย์ กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
ติดลบอีก 8.9%ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13-พาณิชย์อ้างเหมือนเดิม'ศก.โลก-น้ำมัน'ตกต่ำม.ค.มูลค่าส่งออกต่ำสุดรอบ4ปี
แนวหน้า : กระทรวงพาณิชย์ เผยตัวเลขส่งออกเดือนมกราคม 2559 ติดลบ 8.9% ลดลงต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 13 มูลค่าต่ำสุดรอบ 4 ปี แจงสาเหตุหลักจากเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ราคาน้ำมันร่วง ฉุดกำลังซื้อกลุ่มผู้ค้าน้ำมันหดตาม ประกอบกับราคาพืชผลการเกษตรย่ำแย่ ค่าเงินผันผวน ด้านนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ยังโลกสวย ฟุ้งเดือนหน้าจะดีขึ้น ทั้งปีโตได้ 5% ตามเป้า
นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน ม.ค. 2559 ว่า เดือน ม.ค. มีมูลค่าการส่งออก 15,711 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 8.91% ซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 นับตั้งแต่ ม.ค. 2558 และมูลค่าส่งออกต่ำสุดในรอบ 4 ปี 2 เดือน นับตั้งแต่ พ.ย. 2554 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว ราคาน้ำมันที่กระทบต่อกำลังซื้อของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน และราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันมีราคาลดลง ราคาสินค้าเกษตรโลกยังอยู่ในระดับต่ำ รวมถึง ค่าเงินที่ผันผวนในประเทศคู่ค้าและคู่แข่งของไทย ทำให้กระทบต่อราคาสินค้าส่งออกด้วย ขณะที่การส่งออกที่หักน้ำมันและทองคำออก มีมูลค่า 14,045 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 5.4%
"การส่งออกของไทยยังมีสถานการณ์ที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ มากโดยหากเทียบประเทศ ผู้ส่งออกสำคัญในภูมิภาคอาเซียน ไทยยังมีสถานการณ์การส่งออกที่ดีกว่าฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย และในส่วนไทยยังรักษาส่วนแบ่งในตลาดและสินค้าส่งออกสำคัญไว้ได้ แสดงให้เห็นว่าความสามารถทางการแข่งขันของไทยไม่ได้ลดลงตามมูลค่าส่งออก"
สำหรับ มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เดือนม.ค. ลดลง 4.1% ซึ่งหดตัวตามราคาสินค้าเกษตรโลก เช่น ยางพารา ลดลง 25.7% ทูน่า ลดลง 15.1% กุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป ลดลง 19.2% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ลดลง 19.6% ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ลดลง 2.3%
ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ลดลง 8.5% ตามภาวะเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันที่ลดลงต่ำสุดในรอบกว่า 11 ปี โดยสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดิบหรืออุตสาหกรรมที่มีโครงสร้างการใช้วัตถุดิบซึ่งมาจากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก มีสัดส่วนรวมกัน 9.1% ของมูลค่าส่งออก ลดลง 25.2% สินค้าทองคำ ลดลง 51.2% เพราะราคาทองคำในตลาดโลกที่ชะลอตัวลง เครื่องใช้ไฟฟ้าสำคัญอย่างเครื่องรับโทรทัศน์ฯ หดตัว สูงขึ้นจากปัจจัยการย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม แต่ในส่วนกลุ่มรถยนต์และส่วนประกอบ ยังขยายตัวได้ 4.1%
ส่วนการนำเข้าเดือนม.ค. 2559 มีมูลค่า 15,474 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 12.37% โดยการนำเข้าเชื้อเพลิง ลดลง 40.7% วัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป ลดลง 15.3% อุปโภค/บริโภค ลดลง 4.6% ยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลง 1.5% ส่วนสินค้าทุนนำเข้าเพิ่มขึ้น 0.9% ส่งผลให้ในเดือนม.ค. 2559 ไทยยังคงเกินดุลการค้า 238 ล้านเหรียญสหรัฐ
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าหมายตัวเลขการส่งออกไว้ที่ 5% เหมือนเดิม และจะผลักดันให้ถึงเป้าหมาย แม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังคงแย่ และการส่งออกในเดือน ม.ค. 2559 จะติดลบถึง 8.91% แต่ก็เชื่อว่าสถานการณ์จะแย่เพียงแค่เดือนเดียว เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ได้ทำงานร่วมกับภาครัฐที่เกี่ยวข้องและร่วมกับเอกชนในการผลักดันการส่งออกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผลักดันการส่งออกบริการมากขึ้น การสนับสนุนนักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ การเน้นคุณภาพสินค้ามากกว่าปริมาณ จึงเชื่อว่าจะดีขึ้นได้
ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่า ตอนนี้การค้าและการลงทุนของโลกได้เปลี่ยนแปลงไปมาก โลกเริ่มเน้นการพึ่งพาตัวเองมากขึ้น มีการลดนำเข้าและส่งออกสินค้า แนวโน้มการค้าบริการมีมากขึ้น การลงทุนมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น การวัดตัวเลขส่งออกจากสินค้าเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้แล้ว ซึ่งกระทรวง จะมีการปรับเปลี่ยนตัวเลขชี้วัดการส่งออกใหม่ ให้เป็น Balance Scorecard โดยจะประสานงานกับแบงก์ชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ ใน 4 มิติ คือ 1.ตัวเลขส่งออกสินค้า 2.ตัวเลขการส่งออกภาคบริการ 3.การลงทุน ทางตรงจากต่างประเทศ(FDI) และ 4.การลงทุนทางตรงในประเทศ
สำหรับ การขับเคลื่อนการส่งออกไทยในปี 2559 จะเน้น 5 ด้านสำคัญ คือ การขยายการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน เร่งรัดขยายตลาดส่งออกเชิงรุก ส่งเสริมการค้าบริการ ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ และผลักดัน แก้ปัญหาทางการค้าร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน