- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 18 February 2016 00:30
- Hits: 3756
พาณิชย์ เร่งดันร้านค้าออนไลน์จดทะเบียนยืนยันตัวตนในการดำเนินธุรกิจ เพิ่มช่องทางขายสินค้าสู่ตลาดโลก
แนวหน้า : น.ส.รัตนา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปี 2559 นี้ กรมจะเร่งดำเนินการผลักดันและส่งเสริมให้ ผู้ประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และขอรับเครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD Registered) เพิ่มมากขึ้น โดยขอให้สมาคมการค้าและตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ร่วมมือในการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกร้านค้าออนไลน์มาจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมขอรับเครื่องหมาย DBD Registered เพื่อเป็นการยืนยันตัวตนของธุรกิจ
โดยในเดือนมกราคม 2559 มีร้านค้าออนไลน์ได้รับเครื่องหมาย DBD Registered แล้ว 16,655 เว็บไซต์ เพิ่มขึ้น 372 เว็บไซต์ คิดเป็น 2% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2558 ที่มี 16,283 เว็บไซต์ และมีผู้ได้รับเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือ (DBD Verified) ระดับ Silver 155 เว็บไซต์
ทั้งนี้ กรมได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมในการซื้อขายสินค้าออนไลน์ 3 ราย ซึ่งได้รับการไกล่เกลี่ยแล้ว 2 ราย ขณะที่อีก 1 ราย ได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ซึ่งผู้บริโภคหรือประชาชน ทั่วไปสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ได้รับเครื่องหมาย DBD Registered และ DBD Verified ได้จากเว็บไซต์ www.Trustmarkthai.com และ Application DBD e-Service ได้
อย่างไรก็ตาม กรมได้จับมือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย และ Alibaba ซึ่งเป็นเว็บไซต์ค้าส่งออนไลน์รายใหญ่ของโลก ดำเนินการผลักดันธุรกิจไทยให้ใช้ช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรืออี-คอมเมิร์ซ เป็นช่องทางการขยายตลาดสู่สากล โดยจัดให้มีการอบรมการเตรียมตัวสู่ตลาดสากลผ่านเว็บไซต์ Alibaba เริ่มอบรมเดือนมีนาคม 2559
น.ส.รัตนา กล่าวว่า ในเดือนมกราคม 2559 มีผู้ยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัททั่วประเทศ 5,749 ราย เพิ่มขึ้น 2,512 ราย หรือเพิ่มขึ้น 78% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2558 และลดลง 231 ราย หรือลดลง 4% จากเดือนมกราคม 2558 โดยมีทุนจดทะเบียน 28,196 ล้านบาท ลดลง 26,449 ล้านบาท หรือลดลง 48% เมื่อเทียบ กับเดือนธันวาคม 2558 และเพิ่มขึ้น 9,576 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 51% เมื่อเทียบกับเดือน มกราคม 2558 ทั้งนี้เชื่อว่าทั้งปี 2559 จะมีการ จดทะเบียนจัดตั้งใหม่ไม่น้อยกว่า 60,000-65,000 ราย ตามเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น
สำหรับ นิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิก ทั่วประเทศในเดือนมกราคม 2559 มีจำนวน 1,469 ราย ทุนจดทะเบียน 9,629 ล้านบาท ลดลง 4,336 ราย หรือลดลง 75% เมื่อเทียบ กับเดือนธันวาคม 2558 และเพิ่มขึ้น 89 ราย หรือเพิ่มขึ้น 6% ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 มกราคม 2559 มีห้างหุ้นส่วนบริษัทจดทะเบียนจัดตั้ง ทั้งสิ้น 1,301,770 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 19.84 ล้านล้านบาท
ดึงเชื่อมั่นขายผ่านออนไลน์ พาณิชย์จับพ่อค้าแม่ค้าตีทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์
บ้านเมือง : พาณิชย์ดึงพ่อค้าแม่ค้าเฟซบุ๊ค-ไอจี ตีทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หวังสร้างความน่าเชื่อถือในการค้าขายออนไลน์ และป้องกันผู้บริโภคถูกหลอกลวง พร้อมนัดสมาคมการค้าถก 23 ก.พ.นี้ หวังดึงสมาชิกมาจดทะเบียนเพิ่ม ตั้งเป้าปีนี้ 6 หมื่นราย ด้านบริษัทตั้งใหม่เดือน ม.ค. 5.7 พันราย ลดลง 4% ส่วนยอดเลิก เพิ่ม 6%
น.ส.รัตนา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ มีนโยบายที่จะผลักดันให้ผู้ประกอบการที่ทำการค้าขายผ่านออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊ค ไอจี ทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล มาจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD Registered) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ที่มาจดทะเบียนว่าเป็นผู้ที่มีตัวตนและเป็นผู้ที่ทำธุรกิจจริง ผู้บริโภคที่จะติดต่อซื้อสินค้าและบริการ ก็สามารถมั่นใจได้ว่าจะไม่ถูกหลอกลวง ซึ่งจะช่วยผลักดันให้การค้าขายออนไลน์ของไทยมีการขยายตัวได้เพิ่มมากขึ้น
"ปัจจุบันมีพ่อค้า แม่ค้า ที่ใช้ช่องทางเฟซบุ๊ค ไอจี ในการค้าขายเพิ่มมากขึ้น เพราะเปิดร้านได้ง่าย กรมฯ จึงต้องเข้าไปดูแล เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับการค้าขายออนไลน์ ซึ่งพ่อค้าแม่ค้า ที่มาจดทะเบียนก็ถือเป็นการยืนยันตัวตน และเอาไปใช้โฆษณาได้ว่าตัวเองทำธุรกิจจริง ผู้บริโภคมั่นใจในการซื้อสินค้าได้ และหากมีปัญหาหลอกลวงก็จะทำให้ติดตามตัวได้ง่าย เป็นการพัฒนาระบบการค้าขายออนไลน์ทั้งในส่วนของผู้ซื้อ ผู้บริโภค และการกำกับดูแลของรัฐ "น.ส.รัตนา กล่าว
นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้เชิญสมาคมการค้าซึ่งตอบรับแล้วประมาณ 32 สมาคม และตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Marketplace) ประมาณ 13 ตลาด มาหารือร่วมกันในวันที่ 23 ก.พ.59 เพื่อขอความร่วมมือให้ช่วยผลักดันให้สมาชิกที่ค้าขายออนไลน์มาจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับกรมฯ ซึ่งหากสมาคมการค้าและตลาดกลางฯ ทำได้สำเร็จตามเป้า กรมฯ ก็จะประกาศเกียรติคุณเพื่อเป็นแรงจูงใจต่อไป เพราะเป็นการช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการค้าขายออนไลน์ให้ขยายตัว
อย่างไรก็ตาม กรมฯ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันให้บุคคลธรรมดา นิติบุคคล ร้านค้าออนไลน์ เว็บไซต์ที่ค้าขายออนไลน์ จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในปีนี้ให้ได้ 6 หมื่นราย เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันกว่า 3 เท่าตัว โดยจะพยายามทำให้ได้ตามเป้า เพราะแนวโน้มการค้าขายออนไลน์มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
น.ส.รัตนา กล่าวว่า สำหรับการผลักดันให้ธุรกิจไทยใช้ช่องทางอี-คอมเมิร์ซในการขยายตลาด กรมฯ ได้ร่วมมือกับ Alibaba ซึ่งเป็นเว็บไซต์ค้าส่งออนไลน์รายใหญ่ของโลกจากจีน จัดส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยฝึกอบรมให้กับ ผู้ประกอบการของไทย ซึ่งจะอบรมตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นไปจนถึงการค้าขายจริง โดยใช้ Alibaba เป็นตัวเชื่อม มีกำหนดจัดฝึกอบรมในเดือน มี.ค.59 ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วน 1570
นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้ร่วมมือกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ในการพัฒนาและเชื่อมต่อระบบชำระเงินบนอินเตอร์เน็ต ภายใต้ชื่อ Krungsri e-Payment เพื่อช่วยให้นักช็อปออนไลน์ที่ซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์ www.thaicommercestore.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ตลาดกลางผลิตภัณฑ์ชุมชนที่กรมฯ ให้การสนับสนุน สามารถซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์ดังกล่าวและจ่ายเงินค่าสินค้าผ่านการตัดบัญชีของธนาคารได้เลย
ด้าน น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า เดือน ม.ค.59 มีผู้ยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัททั่วประเทศจำนวน 5,749 ราย เพิ่มขึ้น 2,512 ราย หรือเพิ่มขึ้น 78% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.58 และใกล้เคียงกับเดือน ม.ค.58 ที่มีจำนวน 5,980 ราย แต่ลดลง 231 ราย หรือลดลง 4% ส่วนยอดจดทะเบียนเลิกทั่วประเทศ มีจำนวน 1,469 ราย ลดลง 4,336 ราย หรือลดลง 75% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา และเมื่อเทียบกับ ม.ค.58 เพิ่มขึ้น 89 ราย หรือเพิ่มขึ้น 6%
ทั้งนี้ มูลค่าทุนจดทะเบียนในเดือน ม.ค.59 มีจำนวน 28,196 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 9,576 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 51% เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค.58 ซึ่งมีจำนวน 18,620 ล้านบาท เพราะมีการจดทะเบียนควบรวมของรถไฟฟ้ามหานคร
ส่วนการจดทะเบียนจัดตั้งที่ลดลง 4% ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะตัวเลขใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของการจดทะเบียนในช่วงต้นปี ขณะที่การจดเลิกที่เพิ่มขึ้น มีสาเหตุส่วนใหญ่จากการที่ธุรกิจไม่ได้ประกอบกิจการ และยังมีการเลิกกิจการในส่วนของธุรกิจค้าสลากเพิ่มขึ้น เนื่องจากกรมฯ มีมาตรการกำกับดูแลธุรกิจค้าสลากอย่างเข้มงวด