WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

TNCSนพพร เทพสทธาสรท.ประเมินส่งออกโตแค่ 2%ปัจจัยเสี่ยงยังรุม'ศก.ซึม-น้ำมันร่วง'

   ไทยโพสต์ : ลาดพร้าว * สรท.มองปี 2559 ส่งออกฟื้นบวก 2% ส่วนเป้าท้าทายที่ 5% ของพาณิชย์ ยังไม่เห็นแสงสว่าง แนะภาครัฐ หากให้ส่งออก ต้องดันทุกกลุ่มสินค้าขยายตัวเฉลี่ย 3-7% ลุยเจาะหัวเมืองกลุ่ม CLML แทนค้าตามแนวชายแดน

     นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า การส่งออกของปี 2558 คาดว่าจะติดลบอย่างน้อย 5.5% เนื่องจากตัวเลขของเดือน ธ.ค.2558 คาดว่าจะติดลบถึง 5.5% เช่นกัน ส่วนปี 2559 คาดว่าการส่งออกจะกลับมาเป็นบวกได้ในรอบ 3 ปี โดยคาดว่าจะขยาวตัว 2% หรือมีมูลค่าประมาณ 218,700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือส่งออกเฉลี่ยจะต้องทำได้เดือนละ 18,225 ล้านเหรียญสหรัฐ

     "รัฐบาล โดยกระทรวงพา ณิชย์ ได้ตั้งเป้าว่าการส่งออกปีนี้ จะโต 5% ซึ่งยังไม่เห็นความแน่ นอนว่าจะสามารถทำให้สำเร็จได้ ต้องรอดูสถานการณ์โลก และผลการขับเคลื่อนนโยบายประชารัฐในไตรมาส 1 ที่จะทำให้เป็นภาพ ทั้งปีได้อย่างชัดเจน" นายนพพรกล่าว

    ทั้งนี้ หากภาครัฐต้องการผลักดันให้การส่งออกโต 5% หรือมีมูลค่าประมาณ 225,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เฉลี่ยเดือนละ 18,750 ล้านเหรียญสหรัฐ ต้องผลักดันทุกกลุ่มสินค้าให้โตเฉลี่ย 3-7% โดยกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะเติบโตได้ดี เช่น อัญมณี วัสดุก่อสร้าง ขณะที่กลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะเติบโตได้ไม่มาก เช่นกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร นอกจากนั้น คาดว่าจะเติบโตได้ 4-5% โดยมาตรการที่รัฐบาลและภาคเอกชนจะร่วมกันผลักดัน ได้แก่ การเจาะตลาดการค้าที่สำคัญ การให้ความสำคัญกับการค้าชายแดน การส่งเสริมแบรนด์ไทย สู่สากล การพัฒนาการค้าออนไลน์ และผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรไทยป้อนตลาดโลก

     อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบต่อการส่งออก เช่นเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว และการค้าโลกหดตัวต่อเนื่องจากปีก่อน สงครามค่าเงินและสงครามการค้าทวีความรุนแรงขึ้น จากการผ่อนคลายทางการเงิน การอ่อนค่าของเงินหยวน การแย่งตลาดที่หดตัวจากการลดการนำเข้าของประเทศต่างๆ ราคาน้ำมันที่ยังคงปรับลดลงและทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ เป็นต้น

     นายวัลลภ วิตนากร รองประธาน สรท.กล่าวว่า ตัวเลขประ มาณการณ์ที่คาดว่าจะขยายตัว 2% จะต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ผลักดันร่วมกัน โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ การรวมตลาดกลุ่ม CLMV ที่ต้องเจาะลึกเข้าไปยังหัวเมืองต่างๆ ของประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น จากเดิมที่เน้นค้าขายเฉพาะชายแดน

     ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ที่ต้องจับตามอง เนื่องจากมีผลต่อ ตัวเลขการส่งออก หรือคิดเป็นสัด ส่วน 37% ของการส่งออกทั้งหมด คือกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมที่ตั้งความหวังไว้ว่าปีนี้จะขยายตัว 4.3% โดยมี 3 ตัวหลัก คืออิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ จะต้องขยายตัวระดับ 4% ส่วนสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร จะต้องขยายตัวให้ได้ 2.3% โดยข้าว ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจะโต 0% ขณะที่กลุ่มอาหารจะต้องโต 4% น้ำตาล 3% กลุ่มเม็ดพลาสติกต้องโต 5% อัญมณี 10% น้ำมันสำเร็จรูป 5% วัสดุก่อสร้าง 7% สิ่งทอ 2% และเคมีภัณฑ์ 2% จึงจะช่วยดึงให้ภาพรวมการส่งออกปีนี้ขยายตัวได้ 4%.

ชี้ส่งออกติดลบอีกปีต่างชาติหอบเงินหนีแน่เหตุผลิตสินค้าแล้วขายไม่ได้ สรท.หวั่นคู่ค้า-นักลงทุนทิ้งไทย

    แนวหน้า : สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ เผยการส่งงออกยังคงต้องเหนื่อยต่อไป เหตุศก.โลกยังไม่ฟื้น ฉุดกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าหลักๆ เช่น สหรัฐ ลดลงไปด้วย ซ้ำยังเจอปัญหาค่าเงินผันผวน ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ลุ้นราคาน้ำมันขยับขึ้น ยอมรับหากส่งออกติดลบอีกปี จะกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ และคู่ค้าของไทย แนะเร่งเพิ่มมูลค่า ขยายตลาด กลุ่มประเทศ ซีแอลเอ็มวี ช่วยปั๊มตัวเลขพ้นแนวลบ

    นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้า ทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยถึงแนวโน้มการ ส่งออกในปีนี้ ว่า จากการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ของฝ่ายวิชาการ สรท. คาดการณ์ว่าในปีนี้การส่งออกของไทย จะอยู่ในระดับทรงตัว ถึง ลดลง 0.2% ใกล้เคียงกับธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ประเมินว่าจะเติบโต 0% และของ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังที่คาดว่าจะขยายตัวในกรอบ ติดลบ 0.4% ถึงเพิ่มขึ้น 0.2% ทั้งนี้การส่งออกของไทยที่ยังขยายตัวได้ในระดับต่ำเนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังชะลอ โดยเฉพาะการบริโภคภายในตลาดสหรัฐที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ความผันผวนของค่าเงิน และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

    อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาปัจจัยสำคัญ คือ ราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งหากราคาน้ำมันในตลาดโลกปีนี้ขยับตัวสูงขึ้นจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกไทยอย่างแน่นอน และคาดหวังว่าการส่งออกในปีนี้จะต้องเป็นบวก หากยังติดลบอยู่จะทำให้ภาคการส่งออกของไทยจะมีปัญหาในอนาคตได้

    "ส่งออกติดลงมาติดต่อกันถึง 3 ปี และในปีที่ผ่านมา ก็ส่งออกติดลบสูงถึง 5.8% หากในปีนี้ส่งออกติดลบไปอีก ก็จะส่งผลให้ต่างชาติขาดความเชื่อมั่นที่จะลงทุนในไทย และขาดความมั่นใจในศักยภาพการแข่งขันของไทย รวมทั้ง อาจทำให้ลูกค้าต่างชาติหันไปซื้อสินค้าจากประเทศอื่น ที่ได้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสูงกว่า เช่น ประเทศในกลุ่มของตกลง ทีพีพี"

     ทั้งนี้ หากต้องการผลักดันให้การส่งออกไทย ไม่ติดลบและขยายตัวตามที่คาดไว้ 2% จะต้องผนึกความร่วมมืออย่างเต็มที่ระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยมาตรการเร่งด้วยที่รัฐบาลต้องเร่งผลักดันมี 9 ข้อ ได้แก่ 1.รัฐบาลต้องเป็นหัวหอกในการผลักดันการค้าสู่ตลาดเป้าหมาย ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ด้วยการนำผู้ประกอบการไทยออกไปเจาะตลาด ทั้งแบบจีทูจี เคาน์เตอร์เทรด และสร้างหุ้นส่วนการค้าและการลงทุน โดยออกไปเจาะตลาดอย่างน้อยเดือนละ 1 ประเทศที่สำคัญ เช่น สหรัฐ อียู จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา อเมริกากลาง อเมริกาใต้ และออสเตรเลีย เป็นต้น เพราะที่ผ่านมา เอกชนได้ทำเต็มที่แล้วหากภาครัฐเข้ามาเป็น หัวหอกนำขบวนภาคเอกชนไปก็จะประสบผลสำเร็จมากขึ้น

     2.ประกาศจุดยืนทางการค้าและหุ้นส่วนทางการค้า ในตลาดโลกอย่างชัดเจนในเวทีโลก เพื่อให้ประเทศคู่ค้ามั่นใจ ในการทำธุรกิจกับประเทศไทย รวมทั้งผลักดันให้เอกอัครราชทูต ทูตพาณิชย์ทุกประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียน รวมทั้ง หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกันทำงานอย่างบูรณาการ เพื่อให้เห็นผลอย่างชัดเจน 3.ดำเนินยุทธศาสตร์การค้าเชิงรุก โดยใช้การตลาดนำ และพัฒนาการส่งออกภาคบริการควบคู่กับสินค้าและการท่องเที่ยว เช่น สร้างศูนย์รวมการค้าอัจฉริยะ ในตลาดเป้าหมาย โดยเป็นทั้งศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า ศูนย์ประสานงานการค้า และศูนย์ข้อมูลการค้าเชิงลึก และพัฒนาศูนย์บริการส่งออกแบบเบ็ดเสร็จ รวบรวมหน่วยงานออกใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกทั้ง 37 หน่วยงาน ไว้ในที่เดียว

     4.เร่งผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการค้า ศูนย์กลางการลงทุน ศูนย์กลางการท่องเที่ยว ศูนย์กลางโลจิสติกส์ และศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค โดยประกาศจุดยืนและแผนงานอย่างชัดเจน และกำหนด นโยบาลส่งเสริมอย่างบูรณาการ มีขั้นตอนกรอบเวลาที่ชัดเจน           5.เร่งปฏิรูปกฎระเบียบ การอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ การอำนวยความสะดวกทางการค้า ระบบโลจิสติกส์ และระบบ ดิจิทัลของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

     6.ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ และสร้างหน่วยงานรับผิดชอบส่งเสริมการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ในระยะยาว เพิ่อมุ่งสู่การเป็นชาติการค้า ซึ่งอาจจะมีการตั้งกรมส่งเสริมการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อผลักดันในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อให้การค้าอี-คอมเมิร์ซ เติบโตอย่างชัดเจน 7.ขับเคลื่อนการบริหารนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ และสร้างวัฒนธรรมที่เอื้อต่อนวัตกรรม ให้ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งด้านสินค้า บริการ การบริหารจัดการ และรูปแบบธุรกิจการค้า 8.สร้างองค์กรภาคเอกชนให้เกิดเป็นเครือข่าย และคลัสเตอร์ที่มีความเข้มแข็งในระดับสากล และให้องค์กรภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการวางแผน ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทางการค้า ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค และ 9.บ่มเพาะนักการค้าอัจฉริยะ ทั้งในภาครัฐและเอกชน ที่มีความรู้และเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ การเงิน การบริหารกลยุทธ์ เทคโนโลยีตลาด ลูกค้า และสินค้า อย่างเฉพาะเจาะจง และส่งไปฝังตัวในตลาดเป้าหมาย

     ด้านนายวัลลภ วิตนากร รองประธาน สรท. กล่าวว่า การที่จะผลักดันเป้าการส่งออกให้ขยายตัวในระดับ 4-5% ตามเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ จะต้องเร่งขับเคลื่อนตลาด ซีแอลเอ็มวี ให้เหมือนกับเป็นตลาดของไทย โดยขยับ แนวส่งออกจากตะเข็บชายแดนไปสู่หัวเมืองที่สำคัญ เช่น สปป.ลาว ส่งสินค้าเข้าไปเจาะตลาดเมืองเวียงจันทน์ หลวงพระบาง และจำปาสัก เจาะตลาดเมืองย่างกุ้ง และมัณฑเลย์ กัมพูชาเจาะเมืองพนมเปญ เวียดนามเข้าไปเจาะเมืองดานัง ฮานอย และโฮจิมินห์ซิตี้ เป็นต้น โดยกระทรวงพาณิชย์จะต้องเข้าไปตั้งสำนักงานส่งเสริมการค้าเพิ่มในเมืองหลักๆ ที่สำคัญเหล่านี้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มยอดส่งออกให้มากกว่า การค้าตามแนวชายแดนเพียงอย่างเดียว

    ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมที่ต้องจับตามอง ได้แก่ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และชิ้นส่วน เนื่องจากมีผลต่อตัวเลขการส่งออกสูงมาก คิดเป็นสัดส่วน 37% ของการส่งออกทั้งหมด ซึ่งจะต้องผลักดันให้กลุ่มนี้มียอดส่งออกขยายตัวไม่ต่ำกว่า 4% จึงจะทำให้ยอดส่งออกเป็นไปตามเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์วางไว้

    สำหรับ เป้าหมายของกลุ่มสินค้าส่งออกหลักๆในปีนี้ ในสินค้าข้าว ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง คาดว่าจะโต 0% อาหาร 4% น้ำตาล 3% เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ โต 4% เม็ดพลาสติกส์ โต 5% อัญมณี 10% น้ำมันสำเร็จรูป 5% วัสดุก่อสร้าง 7% ผลิตภัณฑ์ยาง โต 0% เครื่องจักรกลและส่วนประเทศ โต 3% สิ่งทอ โต 2% เคมีภัณฑ์ โต 3% สินค้าอุตสาหกรรม อื่นๆ โต 3% ซึ่งหากทำให้ตามนี้จะทำให้การส่งออกในปี 2559 โตในระดับ 4%

    นอกจากนี้ หากรัฐบาลปรับปรุงระบบด้านศุลกากรตามแนวพื้นที่ชายแดน นำสินค้าที่ลักลอบ ส่งออกขึ้นมาอยู่บนดินได้ ก็จะทำให้การค้าชายแดนโต ไม่ต่ำกว่า 6% สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศรวมกว่า 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ รวมทั้งส่งเสริมให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ออกไปตั้งสำนักงานใน ต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มซีแอลเอ็มวี และบูรณาการ การทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ก็จะช่วยเพิ่มศักยภาพการส่งออกได้มากขึ้น

ส่งออกไทยส่อแววสดใส พณ.เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการตลาดอาเซียน

    บ้านเมือง : สรท.ทำใจยอดส่งออกไทยปี 58 ติดลบสูงถึง 5.5% ระบุปีนี้มองไว้ขยายตัวส่งออกเป็นบวกแค่ 2% ย้ำหากจะโตให้ได้ 5% ตามที่รัฐบาลมองอาจลำบาก พร้อมให้ความร่วมมือเจาะตลาดทุกตลาดทั่วโลก ขณะที่กรมการค้าต่างประเทศมุ่งเพิ่มศักยภาพการส่งออกของผู้ประกอบการในตลาดอาเซียน

    นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท. เปิดเผยถึงตัวเลขส่งออกปี 58 โดยทั้งปีติด ลบ 5.5% เนื่องจากตัวเลขเดือนธันวาคมติดลบ 5.5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ติดลบสูงสุดในรอบ 6 ปี และยังคาดการณ์สถานการณ์ส่งออกไทยปี 59 ว่าจะมีอัตราการขยายตัวได้ 2% โดยมีมูลค่ารวม 218,700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือมีมูลค่าเฉลี่ย 18,225 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังชะลอ โดยเฉพาะการบริโภคภายในตลาดสหรัฐที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ความผันผวนของค่าเงิน และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและคาดหวังว่าการส่งออกในปีนี้จะต้องเป็นบวก หากยังติดลบอยู่จะทำให้ภาคการส่งออกของไทยจะมีปัญหาในอนาคตได้ แต่สิ่งที่จะต้องจับตาอีกปัจจัยสำคัญ คือ ราคาน้ำมันในตลาดโลก หากราคาน้ำมันในตลาดโลกปีนี้ขยับตัวสูงขึ้นจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกไทยอย่างแน่นอน

     ทั้งนี้ จากตัวเลขคาดการณ์การส่งออกในปี 2559 ดังกล่าว ถือเป็นการขยายตัวที่กลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 3 ปี ขณะที่ตัวเลขที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่าจะขยายตัวได้ถึง 5% นั้น มองว่าเป็นตัวเลขที่ท้าทาย และยังไม่เห็นปัจจัยหนุนใดที่จะทำให้ตัวเลขขยายตัวได้ในอัตราดังกล่าว และหากดูตัวเลขจากหลายฝ่ายมองเช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รวมทั้งนักวิชาการต่างๆ ก็เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การส่งออกไทยในปี 2559 จะใกล้เคียงกับปี 2558 คือมีมูลค่าประมาณ 214,375 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเฉลี่ย 17,865 ล้านเหรียญสหรัฐ คือมีอัตราการขยายตัวติดลบ 0.2-0% เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว การค้าโลกยังหดตัวต่อเนื่อง สงครามค่าเงินและสงครามการค้ามีความรุนแรงขึ้นจากการใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน การอ่อนค่าของเงินหยวน ราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำ

     นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า ตัวเลขประมาณการณ์ของสภาผู้ออกในปี 59 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 2% นั้น จะต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ผลักดันร่วมกัน โดยเฉพาะยุทธศาสตร์การรวมตลาด CLMV ทั้งนี้กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมที่ต้องจับตามอง เนื่องจากมีผลต่อตัวเลขการส่งออก หรือคิดเป็นสัดส่วน 37% ของการส่งออกทั้งหมด คือกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งต้องผลักดันให้ขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 4%

    ทั้งนี้ ทาง สรท.พร้อมที่จะร่วมมือกับภาครัฐในการเจาะตลาดอย่างเต็มที่และอยากให้รัฐบาลนำข้อเสนอของ สรท. ไปดำเนินการ เช่น รัฐบาลต้องเป็นหัวหอกในการผลักดันการค้าสู่ตลาดเป้าหมาย ประกาศจุดยืนทางการค้าและหุ้นส่วนการค้าในตลาดโลกให้ชัดเจน เร่งดำเนินยุทธศาสตร์การค้าเชิงรุก เร่งให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวและอื่นๆ เป็นต้น

     นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เพื่อให้ผู้ประกอบการทำการค้าภายใต้ระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (self-Certification) ตามความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน อีกทั้งเพื่อเป็นการให้ผู้ประกอบการได้ทราบถึงหลักเกณฑ์การผลิตเพื่อขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร รวมถึงทราบถึงปัจจัยเสี่ยงที่จะนำไปสู่การถูกตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้า และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้ขอรับคำปรึกษา แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดสินค้า และสิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้อาเซียน กรมการค้าต่างประเทศได้จัดสัมมนาเรื่อง "ก้าวสู่มิติการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (SelfCertification) เพิ่มศักยภาพการส่งออกในตลาดอาเซียน" ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 ณ โรงแรมโนโวเทล สุวรรณภูมิ แอร์พอร์ต โดยผู้สนใจสามารถสมัครได้ที่สายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ 1385 หรือเว็บไซต์ www.dft.go.th

     ทั้งนี้ การรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองเป็นการให้สิทธิผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานของรัฐในการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองในเอกสารทางการค้า ได้แก่ ใบกำกับสินค้า ใบเรียกเก็บเงินสินค้า ใบสั่งปล่อยสินค้า และใบรายการหีบห่อสินค้า แทนการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าจากหน่วยงานของรัฐ โดยสามารถใช้เอกสารดังกล่าวในการรับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรได้ตามความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าให้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ในปัจจุบัน ประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการนำร่องการดำเนินการระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของภูมิภาคอาเซียน (โครงการที่ 1 และ 2) โดยประเทศที่เข้าร่วมโครงการที่ 1 ประกอบด้วย มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน และกัมพูชา และโครงการที่ 2 ประเทศที่เข้าร่วมประกอบด้วยอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สปป.ลาว และเวียดนาม ซึ่งหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออกที่ได้รับสิทธิและการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองตามโครงการที่ 1 และโครงการที่ 2 มีความแตกต่างกันตามประกาศกรมการค้าต่างประเทศเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียน และการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองตามความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน พ.ศ.2558

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!