- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 05 January 2016 15:24
- Hits: 2814
เร่งให้ความรู้เอกชนใช้ประโยชน์ AEC
แนวหน้า : น.ส.ศิรินารถ ใจมั่น อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ภายหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) อาจจะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะที่ผ่านมาอาเซียนได้ร่วมกันทำงานมามาก โดยมีการเปิดเสรีเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ แต่สิ่งที่จะเห็นชัด คือ ภายในอาเซียนจะมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานฝีมือ ได้อย่างเสรี ทำให้การค้าขายในอาเซียนมีความคล่องตัวมากขึ้น เพราะอาเซียนจะกลายเป็นตลาดเดียวที่มีประชากรกว่า 600 ล้านคนรองรับ
ทั้งนี้ กรมได้เตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการไทยมาอย่างต่อเนื่อง ในการใช้ประโยชน์จาก AEC โดยกรมได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ในการเตรียมความพร้อมให้กับทุกภาคส่วน ให้รู้ว่าจะปรับตัวอย่างไร หรือจะใช้ประโยชน์อย่างไรจาก AEC
ในขณะเดียวกัน กรมยังได้ให้คำแนะนำในการ เตรียมความพร้อมรับมือกับประเด็นที่คาดว่าจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้น เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม แรงงาน เพราะ ขณะนี้หลายๆ ประเทศเริ่มให้ความสำคัญ และนำมาเป็นเงื่อนไขทางการค้ามากขึ้น หากไทยไม่เตรียมรับมือก็จะเสียโอกาสได้ อีกทั้งยังได้เปิดประตูการค้าให้กับ ผู้ประกอบการไทยไปสู่ประเทศคู่เจรจาอื่นๆ ของอาเซียนด้วย เพราะอาเซียนกำลังจะขยายเป็นความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งจะทำให้เกิด โอกาสทางการค้าการลงทุนเพิ่มมากขึ้น
สำหรับ การดำเนินการภายหลังการเปิด AEC อาเซียนจะมีการหารือเพื่อเปิดเสรีเพิ่มขึ้น โดยตอนนี้อาเซียนได้เห็นชอบทิศทางการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนในระยะ 10 ปีข้างหน้า (2559-2568) ซึ่งจะเป็นการต่อยอดการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่จะมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของมาตรการการรวมกลุ่มเศรษฐกิจในปัจจุบัน ให้มีความกว้างและลึกมากขึ้น และยังเป็นการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ๆที่อาเซียนจะต้องเผชิญในอนาคต ตามการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคและระดับโลก
อาเซียนต้องเร่งข้อตกลง RCEP 'ก.พาณิชย์'ชี้น่าสนใจกว่ากรอบ TPP
แนวหน้า : น.ส.ศิรินารถ ใจมั่น อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ไทยจะต้องเร่งร่วมมือกับอาเซียนในการผลักดันให้การเจรจาเปิดเสรีในกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ประสบความสำเร็จโดยเร็วที่สุด หรือ ให้เสร็จสิ้นภายในปี 2559 เพราะหากอาเซียนสามารถผลักดันให้ RCEP จบลงได้ จะทำให้เกิดกลุ่มการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งRCEP ประกอบด้วยสมาชิกหลัก คือ อาเซียน และคู่เจรจา 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย มีประชากรรวม 3,300 ล้านคน คิดเป็น 50% ของประชากรโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) รวมกันเท่ากับ 22.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 29% ของโลก และมีมูลค่าการค้ารวมกันสูงถึง 10.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็น 29% ของการค้าโลก
ทั้งนี้ ปัจจุบัน RCEP ได้มีการสรุปการเปิดเสรีการค้าสินค้าได้แล้ว คือ การลดภาษีสินค้ากลุ่มแรก สมาชิกจะลดภาษีเหลือ 0% ทันที จำนวน 65% ของสินค้าที่มีการค้าระหว่างกัน 8,000 -9,000 รายการ โดยแต่ละประเทศจะไปทำแผนการลดภาษีให้เสร็จภายในปี 2559 และอีก 20% จะทยอยลดภาษีเหลือ 0% ภายใน 10 ปี สินค้าที่เหลืออีก 15% ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอ่อนไหว แต่จะมีการเจรจาให้มีการปรับลดภาษีลงในระยะต่อไป
"RCEP มีความน่าสนใจกว่าความ ตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (TPP) เพราะมีจีนกับอินเดียอยู่ด้วย ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับไทยในทุกด้าน ทั้งการค้า การลงทุน และการค้าบริการ แต่กรมก็ได้ให้สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ดูรายละเอียดข้อตกลงในทุกแง่ทุกมุมของ TPP เพื่อให้รู้ข้อดีและข้อเสีย ซึ่งน่าจะได้รายงานชิ้นแรกภายในเดือนมกราคม 2559 จากนั้นจะนำเสนอให้ คณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ (พกค.) พิจารณา และเมื่อได้ข้อสรุป ก็จะนำเสนอให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป"น.ส.ศิรินารถ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ก่อนถึงขั้นการกำหนดท่าทีของไทย กรมจะนำผลการศึกษาเรื่อง TPP ไปชี้แจง และจัดเวทีสัมมนาหรือจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทราบว่าแต่ละภาคส่วนมีความคิดเห็นอย่างไร และจะมีทีมงานไปหารือกับประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP แล้ว ว่าข้อตกลงมีรายละเอียดอย่างไร เพราะความตกลงหนาถึง 2,000 -3,000 หน้า จึงต้องมีทั้งอ่านเอง แปลเอง และไปถามประเทศที่เป็นสมาชิกแล้ว ทั้งนี้หากไทยไม่เข้าร่วมใน TPP ก็อาจทำให้ไทยเสียเปรียบเวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ ที่เข้าไปเป็นสมาชิกแล้ว และประเทศเหล่านี้ก็เป็นสมาชิกอาเซียนเหมือนไทย ซึ่งนักลงทุนอาจจะไม่มาที่ไทย แต่จะไปประเทศเหล่านี้แทน