- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Wednesday, 09 December 2015 09:14
- Hits: 2511
พาณิชย์ไทย มองโอกาสธุรกิจในแดนมังกร หลังจีนผ่านนโยบายลูกคนที่สอง เชื่อจะสร้างมูลค่าการบริโภคสูงถึง 7.5 หมื่นล้านหยวน
นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สาธารณรัฐประชาชนจีนได้แถลงนโยบายอนุญาตให้คู่สามีภรรยามีบุตรได้ 2 คน และได้สั่งยุตินโยบายลูกคนเดียวที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2522 เพื่อแก้ปัญหาสมดุลประชากร การขาดแคลนประชากรวัยทำงาน และแก้ไขปัญหาประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันจีนมีประชากรที่อายุมากกว่า 50 ปีอยู่ราวร้อยละ 30 โดยนโยบายที่อนุญาตให้คู่สามีภรรยามีบุตรได้ 2 คนนี้จะมีผลบังคับใช้ในเดือนมีนาคม 2559 ภายหลังจากการอนุมัติโดยสภาประชาชนแห่งชาติจีน
มีการคาดการณ์ว่า หากอัตราการเกิดในจีนเพิ่มขึ้น 2.4 ล้านคนต่อปี และจำนวนเงินที่ใช้เลี้ยงดูบุตรในแต่ละปี คือ 30,000 หยวน (ประมาณ 4,724 เหรียญสหรัฐฯ) จะสร้างมูลค่าการบริโภคสูงถึง 75 พันล้านหยวน รวมไปถึงภาคการลงทุนจากทั้งรัฐบาลและเอกชนในด้านต่างๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ การศึกษา และสาธารณูปโภค ซึ่งการลงทุนในด้านต่างๆ จะมีมูลค่าสูงถึง 225 พันล้านหยวนต่อปี ในอีก 5 – 10 ปีต่อจากนี้ เศรษฐกิจจีนจะเติบโตอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น
นางสาวพรรณกาญจน์ เจียมสุชน ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายจีนที่อนุญาตให้มีลูกคนที่ 2 ได้นั้น นำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจมากมาย หากผู้ประกอบการไทยมีการเตรียมพร้อมที่ดี ก็จะสามารถเข้ามาเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดของจีน ซึ่งเป็นตลาดยักษ์ใหญ่ของโลกได้ กลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว ได้แก่ กลุ่มธุรกิจดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะสุขภาพมารดาระหว่างตั้งครรภ์ เช่น อาหารบำรุงครรภ์ วิตามิน ตลอดจนเสื้อผ้าสำหรับหญิงตั้งครรภ์ เป็นที่แน่นอนว่าการมีลูกคนที่ 2 เป็นสิ่งที่ครอบครัวในประเทศจีนปรารถนา แม้แต่ครอบครัวที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่ กลุ่มคนเหล่านี้ย่อมจะต้องดูแลตัวเองและบุตรในครรภ์ให้มากยิ่งขึ้น โดยการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ดี มีประโยชน์ มีคุณภาพและที่สำคัญคือ ต้องปลอดภัยสำหรับแม่และบุตร
ธุรกิจที่จะมีช่องทางในตลาดจีนเพิ่มขึ้น คือ กลุ่มธุรกิจภายหลังการคลอดบุตร ได้แก่ สินค้าอาหาร เช่น นมผง วิตามิน และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับเด็ก สินค้าเครื่องใช้สำหรับเด็ก เช่น ขวดนม สบู่แชมพู แป้งเด็ก อุปกรณ์อาบน้ำ เสื้อผ้า รถเข็น ที่นอนเด็ก เป็นต้น และสินค้าเสริมพัฒนาการเด็ก เช่น หนังสือนิทาน เครื่องดนตรี เครื่องเล่นเกมส์ ของเล่นอื่นๆ นอกจากนี้กลุ่มธุรกิจบริการทางการแพทย์จะได้รับประโยชน์จากโอกาสนี้ด้วยเช่นกัน
“การที่ครอบครัวมีสมาชิกเพิ่มอีกหนึ่งชีวิตนั้น อาจทำให้พ่อแม่ต้องคำนึงถึงเรื่องขนาดของรถยนต์ ขนาดของบ้าน ดังนั้นอาจมีกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องที่จะได้รับประโยชน์ เช่น กลุ่มธุรกิจรถยนต์ กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น กลุ่มพ่อแม่ที่มีฐานะยอมที่จะลงทุนในการซื้อบ้านที่มีขนาดใหญ่ขึ้น อยู่ในทำเลที่ตั้งที่ดี เพื่อให้บุตรเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ดีและจะเป็นโอกาสที่จะให้บุตรเข้ารับการศึกษาในสถาบันการศึกษาที่ดีและมีชื่อเสียง ดังนั้นหากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจรถยนต์เติบโต ย่อมส่งผลให้ธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้รับอานิสงค์เช่นเดียวกัน” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว กล่าว
สำหรับ กลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายที่จะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย ได้แก่ กลุ่มผู้มีรายได้สูง กลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มที่จบการศึกษาจากต่างประเทศ เป็นต้น กลุ่มผู้บริโภคเหล่านี้ส่วนใหญ่มีการศึกษา มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องคุณภาพสินค้าและเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง นิยมหรือยอมรับในการเลือกซื้อสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากไว้วางใจในเรื่องคุณภาพและมีตรารับรองของสินค้าที่มีความน่าเชื่อถือ ดังนั้น กลุ่มผู้บริโภคย่อมที่จะเต็มใจจ่ายแพงขึ้นเพื่อแลกกับสินค้าที่ดีมีคุณภาพ
การเพิ่มขึ้นของเด็กเกิดใหม่จะทำให้ตลาดจีนกลับมาคึกคักอีกครั้ง อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศได้ในระยะยาวและจะทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งเข้ามาชิงส่วนแบ่งทางการตลาดของกลุ่มสินค้าที่ได้กล่าวไปข้างต้น ซึ่งเป็นชิ้นเค้กใหญ่ที่ใครก็ไม่ควรพลาด
การส่งออกสินค้าไทยไปจีนในปี 2557 มีมูลค่า 25,084.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 (มกราคม – ตุลาคม) มีมูลค่า 19,836.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออก 10 อันดับแรก ได้แก่ เม็ดพลาสติก ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ น้ำมันสำเร็จรูป และผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย