- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 04 July 2014 17:39
- Hits: 2900
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมิ.ย.พุ่งสูงรอบ 8 เดือน-ยอดขายรถขยับ
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมิ.ย. พุ่งสูงรอบ 8 เดือน-ยอดขายรถขยับ กำลังซื้อโตก้าวกระโดด
ม.หอการค้าระบุ กำลังซื้อในประเทศเริ่มฟื้นตัวแล้วตั้งแต่ครึ่งหลังของปี หลังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเริ่มชัดเจน ปัหญาการเมืองยุติ ชาวนาได้เงิน การจับจ่ายช่วงบอลโลกสะพัด ดันตัวเลขดัชนีความชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย.ปรับขึ้นสูงสุดรอบ 8 เดือน กลุ่มยายนยนต์ชี้มีสัญญาฟื้นตัวแล้ว ยอดขายกระเตื้อง ราคาที่อยู่อาศัยใน กทม.ปริมณฑล ขยับ 4 %
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิถุนายน 2557 พบว่า ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 มาอยู่ที่ระดับ 75.1 จาก 70.7 ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 เป็นต้นมา เนื่องจากมีความมั่นใจในสถานการณ์ทางการเมืองไทยที่มีเสถียรภาพมากขึ้น โดยดัชนีความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในอนาคต ปรับตัวสูงถึงระดับ 81.1 สูงสุดในรอบ 26 เดือน ประกอบกับนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การดูแลค่าครองชีพประชาชน โดยเฉพาะการตรึงราคาก๊าซหุงต้มและน้ำมันดีเซล รวมทั้งเศรษฐกิจไทยน่าจะกำลังฟื้นตัว ประกอบกับกำลังซื้อทั่วประเทศเพิ่มสูงขึ้นจากการที่ชาวนาได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าว
“ขณะนี้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นมาก เนื่องจากประชาชนมีความมั่นใจเรื่องการเมืองที่มีเสถียรภาพและน่าจะช่วยให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นได้ และยังถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่มีการสำรวจมากว่า 16 ปีของมหาลัยหอการค้าไทย ที่ค่าดัชนีมีการปรับตัวสูงขึ้นแรงมากถึง 7-8 จุดภายในเวลาเพียง 2 เดือน ซึ่งปกติจะปรับขึ้นอย่างช้าๆเพียง 3-4 จุดเท่านั้น และที่โดดเด่นมากที่สุดก็คือ ดัชนีความคิดเห็นต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่ปรับขึ้นถึง 10 จุด และแนวโน้มในอนาคตปรับตัวขึ้น”
ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ คาดการณ์ว่า การบริโภคของประชาชนจะมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะช่วงเทศกาลฟุตบอลโลกที่มาเป็นตัวกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยที่สำคัญ ประกอบกับการที่ชาวนาได้รับเงินจากโครงการจำนำข้าว ซึ่งจะทำให้กำลังซื้อเพิ่มมากขึ้นทั่วประเทศ ทำให้เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ 2-3 %
“การบริโภคจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ภายใต้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ในระดับ 2-3 % และจากสถานการณ์ต่างๆ ที่มีแนวโน้วปรับตัวดีขึ้น เชื่อว่าในปี 2558 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวบวกลบไม่เกิน 5% “
อย่างไรก็ตามตัวขับเคลื่อนตัวหลักของตัวเลขการบริโภคในประเทศนั้น ส่วนใหญ่มากจากตัวเลขการใช้จ่ายของของกลุ่มคนในเมืองหลวง เขตกรุงเทพและปริมณฑล รวมถึงหัวเมืองใหญ่ๆ ซึ่งเป็นชนชั้นกลางที่มีรายได้เกิน 15,000 บาทต่อเดือน มีกำลังซื้อมาก แต่อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าในส่วนของของคนต่างจังหวัด การใช้จ่ายค่อนข้างซบเซามาก แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยก็ยังคงฟื้นตัวได้ไม่มาก รวมถึงยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่ ดังนั้นจึงเห็นว่าภาครัฐอาจจำเป็นต้องมีการเบิกจ่ายงบประมาณผ่านโครงการต่างๆ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน โดยเฉพาะโครงการซ่อม-สร้างในพื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อให้เม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค
ดังนั้น จึงต้องมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยการเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณผ่านโครงการต่างๆ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน โดยเฉพาะโครงการซ่อม-สร้างในพื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อให้เม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ แต่จะมีการประเมินมาตรการต่างๆ ของ คสช.ที่ได้ดำเนินการ และการสร้างความมั่นใจให้กับสินค้าไทยกรณีเทียร์ 3 ซึ่งจะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในปลายเดือนนี้
ขณะเดียวกันนางเพียงใจ แก้วสุวรรณ ประธานสหพันธ์อุตสาหกรรมยานยนต์อาเซียน กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยพร้อมที่จะฟื้นตัวอย่างก้าวกระโดด หลังจากมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาคลี่คลายสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ และจ่ายเงินค่าจำนำข้าวให้กับชาวนา ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรมีเงินใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรฐษกิจมากขึ้น สะท้อนจากยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ปรับตัวดีขึ้น ตามด้วยรถกระบะที่ใช้ในการเกษตร นับเป็นสัญญาณที่ดีต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่จะฟื้นตัว แต่ต้องติดตามว่าจะฟื้นตัวได้เพียงใด คาดว่าจะมียอดขายรถยนต์ในประเทศปีนี้ประมาณ 1 ล้านคัน ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะมียอดขายรวม 1.2 ล้านคัน
สำหรับ ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ในอาเซียน ประเทศไทยยังคงเป็นฐานการผลิตอันดับ 1 ของอาเซียนด้วยยอดผลิตรวม 2.4-2.5 ล้านคันต่อปี ขณะที่กระแสการเติบโตของอาเซียนยังคงมีต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีนี้ จะเห็นว่าขณะนี้มีการลงทุนเพิ่มในอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ไม่ได้เป็นการย้ายฐานการผลิตออกไปจากประเทศไทย ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีการลงทุนเพิ่มเช่นกัน เช่น นิสสันลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์แห่งใหม่ด้วยกำลังการผลิตกว่าปีละ 100,000 คันเพิ่มขึ้น ขณะที่โตโยต้าลงทุนขยายกำลังการผลิตรถอีกปีกว่า 50,000 ล้านบาท
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า นักลงทุนยังคงมั่นใจลงทุนในประเทศไทย เพื่อเป็นฐานผลิตยานยนต์ เพื่อการส่งออก โดยตลอดปีนี้ 10 ค่ายรถยนต์ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนผลิตอีโคคาร์ระยะ 2 วงเงินรวมกันถึง 130,000 ล้านบาท ซึ่งการพิจารณาอนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการเหล่านี้และโครงการอื่น ๆ ที่ค้างมูลค่ารวมอีกประมาณ 600,000 ล้านบาท คาดว่าจะเสร็จภายใน 3 เดือนนับจากนี้ไป
นายวิชัย จิราธิยุต ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ประเมินว่าปีนี้ยอดขายรถยนต์ในประเทศภาพรวมจะอยู่ที่ 910,000 คัน บวกลบ 5 % เพราะความต้องการใช้รถยนต์ถูกใช้ไปก่อนหน้านี้จากโครงการรถยนต์คันแรก ขณะที่การส่งออกจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.2 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 7 %
ส่วนแนวโน้มปี 2558 เชื่อว่าผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของ คสช.และการจ่ายเงินค่าจำนำข้าวให้กับชาวนาจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศให้ดีขึ้น รวมถึงโครงการลงทุนผลิตรถอีโคคาร์ระยะ 2 ของ 10 ค่ายรถยนต์ที่ลงทุนเพิ่มในการปรับปรุงโรงงานและลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ใหม่ ด้วยกำลังผลิตที่จะเพิ่มขึ้นอีก 1.5 ล้านคัน ทำให้ประเทศไทยมีกำลังการผลิตรถยนต์ในภาพรวมเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านคันในปี 2560 โดยที่ไทยจะยังคงรักษาการเป็นประเทศที่ผลิตรถยนต์มากที่สุดของโลกอันดับที่ 9 และอาจเลื่อนอันดับขึ้นเป็นอันดับ 8 ได้
นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผย “ดัชนีราคาห้องชุด”รายครึ่งปี พบว่า ดัชนีราคาห้องชุดรวมทุกระดับราคา ในกรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ ปรับเพิ่มขึ้น 4.7 % เมื่อเทียบกับครึ่งแรก ปี 2556 ดัชนีราคาบ้านเดี่ยว ในกรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ปรับเพิ่มขึ้น 3.2 % เมื่อเทียบกับครึ่งแรก ปี 2556 ดัชนีราคาทาวน์เฮ้าส์ ในกรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ปรับเพิ่มขึ้น 3.0 %เมื่อเทียบกับครึ่งแรก ปี 2556
ทั้งนี้ ดัชนีราคาห้องชุดแยกตามระดับราคา ในกรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ พบว่าห้องชุดที่มีระดับราคาต่ำกว่า 50,000 บาท/ตารางเมตร ปรับเพิ่มขึ้น 7.1 % ห้องชุดที่มีระดับราคา 50,000-80,000 บาท/ตารางเมตร ปรับเพิ่มขึ้น 9.0% ห้อง ชุดที่มีระดับราคา 80,001-120,000 บาท/ตารางเมตร ปรับเพิ่มขึ้น 5.1 % ห้องชุดที่มีระดับราคามากกว่า 120,000 บาท/ตารางเมตรขึ้นไป ปรับเพิ่มขึ้น 2.8 %