- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 01 December 2015 21:40
- Hits: 1991
พาณิชย์ เผย แผนช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวครบทุกด้าน ทั้งชดเชยดบ.สินเชื่อข้าว และการระบายข้าวในสต็อก
พาณิชย์ เผยแผนการดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 ครบทุกด้าน ทั้งตลาดนัดข้าวเปลือก - ชดเชยดบ.ให้ผู้ประกอบการ ประสานธ.ก.ส.ออกสินเชื่อข้าวเปลือก พร้อมระบายข้าวเสียออกจากสต็อกรัฐฯ พร้อมป้องกันข้าวเน่าไหลกลับเข้าวงจร
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) และ ครม. ได้มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 โดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ มี 2 มาตรการ ได้แก่ (1) โครงการจัดตลาดนัดข้าวเปลือก และ (2) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก มีความคืบหน้าผลการดำเนินโครงการ ดังนี้
1. โครงการจัดตลาดนัดข้าวเปลือก มีการกำหนดแผนการจัดตลาดนัด รวมทั้งสิ้น 47 จังหวัด 127 ครั้ง โดย ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 มีการจัดตลาดนัดแล้วรวมทั้งสิ้น 31 จังหวัด 57 ครั้ง โดยในพื้นที่จังหวัดพะเยา มีการจัดตลาดนัดไปแล้ว 3 ครั้ง เกษตรกรมีความสนใจเข้าร่วมโครงการ 969 ราย มีการซื้อขายรวมทั้งสิ้น 3,219.58 ตัน ราคารับซื้อข้าวหอมมะลิเกี่ยวสดความชื้น 25 – 30% เกษตรกรขายได้ตันละ 10,200 – 10,500 บาท (ความชื้น 15% เกษตรกรขายได้ตันละ 12,500 – 12,800 บาท) สูงกว่าราคาตลาดตันละ 100 – 200 บาท
2. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก คณะอนุกรรมการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก มีมติเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2558 อนุมัติจัดสรรวงเงินชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 301 ราย รวม 43 จังหวัด ในเบื้องต้นในอัตราร้อยละ 30 ของตันเงินกู้ที่ธนาคารรับรองวงเงินกู้รวมทั้งสิ้น 23,981.33 ล้านบาท ทั้งนี้ ได้มีมติให้นำเสนอ นบข. พิจารณาวงเงินชดเชยดอกเบี้ยจากวงเงิน 382.50 ล้านบาท เพิ่มเติมอีก 814.50 ล้านบาท เป็น 1,197 ล้านบาท ซึ่งคำนวณจากต้นวงเงินกู้ที่ธนาคารรับรองทั้งหมด
ขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจสอบสต็อกผู้เข้าร่วมโครงการฯ ครั้งแรก ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2558
สำหรับ โครงการที่ดำเนินการโดย ธ.ก.ส. ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ซึ่ง ธ.ก.ส. จะรับฝากข้าวเปลือกในยุ้งฉางเกษตรกรชนิดข้าวเปลือกหอมมะลิ (ชนิดไม่ต่ำกว่า 36 กรัม ความชื้นไม่เกิน 15%) ราคาตันละ 13,500 บาท ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 11,300 บาท และข้าวเหนียวคละ ตันละ 10,300 บาท จากการประสานข้อมูลความคืบหน้าเบื้องต้น ขณะนี้ (30 พ.ย. 58) มีการทำสัญญาแล้ว 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสกลนคร และสุรินทร์ เกษตรกร 781 ราย ปริมาณ 5,559 ตัน
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 ให้กระทรวงการคลังกำกับให้ธนาคาร เพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรรับผิดชอบและบริหารจัดการความเสี่ยงของโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 โดยไม่ทำสัญญาในลักษณะที่ก่อให้เกิดภาระต่อเกษตรกรทั้งนี้ มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์พิจารณากำหนดมาตรการในการชดเชยค่าใช้จ่าย กรณีเกิดภาวะขาดทุนจากการดำเนินโครงการฯ และเสนอคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
มาตรการกำกับดูแลรถเกี่ยวข้าว
ช่วงที่ข้าวเปลือกออกสู่ตลาดมากพร้อมกันในช่วงนี้ในบางพื้นที่อาจมีรถเกี่ยวข้าวไม่เพียงพอต่อความต้องการเก็บเกี่ยวของเกษตรกร ทางรัฐบาลมีมาตรการกำกับดูแล อาทิเช่น จังหวัดมหาสารคามได้ให้นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่อยู่ในท้องที่จัดคิวให้กับเกษตรกรที่มีความต้องการรถเกี่ยวข้าว โดยการลงทะเบียนกันตามลำดับคิวและมอบหมายให้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยและตำรวจเข้าไปตรวจสอบ คอยอำนวยความสะดวกอีกทางหนึ่งด้วย
ด้านการกำหนดราคากลางจังหวัด เห็นว่า ถ้ามีการกำหนดราคาให้เกษตรกรทุกท้องที่เท่ากันเกษตรกรบางจุดอาจจะได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากรถเกี่ยวข้าวไม่เพียงพออย่างเช่นปีที่ผ่านมา จึงกำหนดให้ตกลงราคากันเอง ทั้งนี้จะต้องดูถึงเรื่องความจำเป็นและเหมาะสมในบางพื้นที่ที่มีการเก็บเกี่ยวข้าว ความยากง่าย ไม่เท่ากัน
ราคารถเกี่ยวข้าวในช่วงต้นฤดูตั้งแต่ 450 บาท จนถึงช่วงที่มีผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดมากจะอยู่ที่ 650 บาท ในบางพื้นที่ขออนุญาตตั้งราคารถเกี่ยวข้าวไร่ละ 700 บาท เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความยากในการเก็บเกี่ยว เกษตรกรส่วนใหญ่ยอมรับได้ในราคาที่ตกลงกัน หรือในบางรายขออนุญาตเกี่ยวข้าวราคาไร่ละ 800 บาท เนื่องจากเป็นการเกี่ยวข้าวในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ซึ่งทางทหารและผู้ใหญ่บ้านได้เข้าไปเป็นสักขีพยานเกี่ยวกับการตกลงราคาของเกษตรกรกับเจ้าของรถเกี่ยว
สถานการณ์ด้านการผลิตและราคา
1. ด้านการผลิต ผลผลิตข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 มีประมาณ 22.010 ล้านตัน แยกเป็นข้าวเปลือกหอมมะลิ 6 ล้านตัน ข้าวเปลือกเหนียว 6.74 ล้านตัน และข้าวเปลือกเจ้า 9.27 ล้านตัน โดยผลผลิตออกสู่ตลาดแล้วประมาณ 13.417 ล้านตัน หรือร้อยละ 58 และเดือนธันวาคม 2558 มีข้าวเปลือกออกสู่ตลาดประมาณ 5.678 ล้านตัน หรือร้อยละ 26 แยกเป็นภาคเหนือ 1.088 ล้านตัน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3.835 ล้านตัน และภาคกลาง 0.804 ล้านตัน โดยเฉพาะข้าวเปลือกหอมมะลิ อยู่ในช่วงปลายฤดูการผลิตใกล้เก็บเกี่ยวผลผลิตหมดแล้ว
2. ด้านราคา (ณ 30 พ.ย. 58)
- ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ (ต้นข้าว 36 – 42 กรัม) ความชื้นไม่เกิน 15% ตันละ 11,500 – 13,000 บาท และข้าวเปลือกเกี่ยวสดความชื้น 25% ตันละ 9,605 – 11,050 บาท
- ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ความชื้นไม่เกิน 15% ตันละ 11,700 – 13,000 บาท และข้าวเปลือกเกี่ยวสดความชื้น 25% ตันละ 9,945 – 11,050 บาท
- ราคาข้าวเปลือกเจ้า 5% ความชื้นไม่เกิน 15% ตันละ 7,700 – 8,100 บาท และข้าวเปลือกเกี่ยวสดความชื้น 25% ตันละ 6,545 – 6,885 บาท
การบริหารจัดการข้าว
ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2557 รัฐบาลชุดนี้เข้ามาแก้ปัญหาข้าวที่มีอยู่ในสต็อกเป็นจำนวนมาก ปัญหาเฉพาะหน้า ในขณะนั้น ชาวนามีความเดือดร้อนมากจำนำข้าวไว้ไม่ได้รับเงิน 7 หมื่นกว่าล้านบาท รัฐบาลต้องหาเงินมาเร่งจ่ายให้แล้วเสร็จใน 1 เดือน ขณะเดียวกันก็ต้องหาทางจัดการกับข้าวที่มีอยู่มากควบคู่ไปด้วย เพราะเป็นภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลและมีผลทางจิตวิทยา กดราคาข้าวในตลาด ไม่เพียงตลาดในประเทศ ส่งผลสะท้อนไปถึงตลาดโลก
โดยรัฐบาลได้ดำเนินการได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อบริหารจัดการทั้งระบบ ดังนี้
1) แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว โดยมี หัวหน้า คสช. เป็นประธาน
2) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำบัญชีข้าวคงเหลือของรัฐ โดยมี ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน
- คำสั่งคณะอนุกรรมการการจัดทำบัญชีข้าวคงเหลือของรัฐบาล แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำบัญชีข้าวคงเหลือตามโครงการของรัฐ
3) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐบาล โดยมีปลัดสำนักนายกฯ เป็นประธาน
- คำสั่งคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐบาล แต่งตั้งคณะทำงานรับ-ส่งและเก็บรักษาตัวอย่างข้าว
4) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน
- คำสั่งคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว แต่งตั้งคณะทำงานดำเนินการระบายข้าว
การตรวจสอบคุณภาพของข้าว อนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวฯ ได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบและจัดระดับคุณภาพข้าว เพื่อพิจารณาผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างข้าว แยกตามชนิดของจำนวน 17 ชนิด รวมทั้งจัดระดับคุณภาพและราคาเพื่อเป็นแนวทางประกอบการพิจารณาระบาย โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีความรู้ ความชำนาญ ทั้งภาครัฐและเอกชน
จากผลการตรวจสอบตัวอย่างข่าวดังกล่าวข้างต้น สรุปได้ว่า ข้าวมีคุณภาพแตกต่างกัน กล่าวคือ ผ่านตามมาตรฐาน (A) ไม่ผ่านมาตรฐาน (แต่สามารถนำไปปรับปรุงคุณภาพได้ A/B/C) ผิดไปจากมาตรฐาน (ข้าวเสื่อมคุณภาพ/ข้าวเสีย) และผิดชนิดข้าว ดังนั้น การจัดระดับคุณภาพข้าวดังกล่าวสามารถจำแนกโดยใช้ผลตรวจเป็นแนวทาง
การพิจารณาจัดระดับคุณภาพข้าวใช้เกณฑ์ในการกำหนดคุณภาพของสินค้าข้าวตามที่กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าออก พ.ศ. 2503 สำหรับข้าวที่ซื้อขายในประเทศและการค้าระหว่างประเทศมาเป็นแนวทาง มาตรฐานข้าที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ ประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่องกำหนดให้ข้าวขาวเป็นสินค้ามาตรฐานและมาตรฐานสินค้าข้าวขาวปี พ.ศ. 2555 และประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ข้าวหอมมะลิไทยเป็นสินค้ามาตรฐานและมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทยปี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า มาตรฐานข้าวกระทรวงพาณิชย์
การเปิดประมูลข้าวในโครงการรับจำนำในวันที่ 30 พ.ย.2558 มีแนวคิด ที่จะระบายข้าวที่ผิดไปจากในสต็อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรม เป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 6/2558 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2558 ที่เห็นชอบให้ดำเนินการทดลองการระบายข้าวที่มีคุณภาพผิดไปจากมาตรฐานจากคลังขนาดเล็กที่มีปริมาณข้าวไม่มากเข้าสู่อุตสาหกรรมที่มิใช่เพื่อการบริโภคของคนและสัตว์ เพื่อเป็นการทดสอบกระบวนการประมูลข้าวสู่อุตสาหกรรม มาตรการกำกับดูแล และกลไกภาคปฏิบัติในการควบคุมไม่ให้ข้าวดังกล่าวรั่วไหลสู่วงจรข้าวบริโภคตามปกติ เนื่องจากที่ผ่านมาเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายในมุมมองต่างๆ เกี่ยวกับการระบายข้าวเข้าสู่อุตสาหกรรม ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์จึงได้ทดลองคัดแยกข้าวในสต็อกของรัฐพบว่ามีข้าวดีกับข้าวเสียปะปนกัน ซึ่งพบว่าการคัดแยกมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงมากและใช้ระยะเวลานานมากจึงไม่คุ้มค่าที่จะดำเนินการ ในขณะที่อีกกระแสหนึ่งได้เร่งรัดให้มีการระบายข้าวในสต็อกของรัฐเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้แต่งตั้งคณะทำงานระดับจังหวัด ให้ตรวจสอบสภาพโกดังข้าวเพื่อหาข้อมูลข้าวในโกดังที่แยกข้าวดีออกจากข้าวเสียได้
การระบายข้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมนอกจากจะต้องพิจารณาปริมาณและจังหวะที่เหมาะสมแล้วยังต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อวัตถุดิบเดิมที่อุตสาหกรรมนั้นใช้อยู่ เช่น ข้าวโพด และมันสำปะหลังโดยจะต้องระมัดระวังจังหวะและปริมาณการระบายข้าวในช่วงที่ส่งผลต่อสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบหลักน้อยที่สุด และต้องวางมาตรการกำกับดูแลควบคุมการรั่วไหลของข้าวสู่ตลาดปกติ เพื่อกำกับดูแลให้ข้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมทั้งหมด โดยไม่มีการเล็ดลอดออกมาทำลายตลาดและชื่อเสียงของข้าวไทย ในช่วงเดือน พ.ย. ที่ระบายนี้จะมีข้าวโพด และมันสำปะหลังออกสู่ตลาดมาก จึงกำหนดให้การระบายข้าวช่วงนี้ไม่นำไปเป็นวัตถุดิบอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เพราะเกรงว่าจะไปกระทบต่อราคาของข้าวโพดและมันสำปะหลัง
กลไกในการควบคุม กระทรวงพาณิชย์จึงได้กำหนดมาตรการที่รัดกุม โดยให้ผู้ที่เข้าร่วมประมูลต้องเป็น นิติบุคคลที่ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภคของคนและสัตว์ รวมทั้งกำหนดให้การขนย้ายทุกขั้นตอนจะต้องมีหนังสืออนุญาตและปฏิบัติตาม “ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่อง การควบคุมการขนย้ายและจัดทำบัญชีคุมข้าวสารในสต็อกของรัฐ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวมีมติเห็นชอบให้ระบายสู่อุตสาหกรรม ปี 2558” ภายใต้ พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 รวมทั้งดำเนินการสุ่มตรวจสอบตั้งแต่การขนย้ายข้าวออกจากคลังสินค้าเพื่อไปสถานที่เก็บ/โรงงาน จนถึงการนำข้าวไปใช้ในอุตสาหกรรมตามแผนการใช้ตามบัญชี โดยมีหน่วยงานทหารในพื้นที่ภายใต้ คสช. ทำหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลให้การดำเนินการตามนโยบายเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
เนื่องจากข้าวไม่ผ่านมาตรฐานเกรด C ข้าวผิดไปจากมาตรฐานและข้าวผิดชนิด อคส. และ อ.ต.ก. ได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้รับผิดชอบแล้ว โดยได้มีการดำเนินการมาเป็นลำดับมีขั้นตอนและกระบวนการที่ชัดเจน ในกรณีที่มีผู้ข้อโต้แย้งการแจ้งความดำเนินคดีจะต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาทางกฎหมายเพื่อพิสูจน์ข้อกล่าวหาต่อไป
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย