- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 28 November 2015 17:39
- Hits: 3352
เอเปค เดินหน้าหารือ มุ่งสู่การเติบโตร่วมกันของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 27 ระหว่างวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2558 ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ กับสมาชิกเอเปคอีก 20 เขตเศรษฐกิจ ภายใต้หัวข้อหลักของปีนี้'การสร้างเศรษฐกิจที่เท่าเทียม การสร้างโลกที่ดีขึ้น'
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ฟิลิปปินส์เจ้าภาพการประชุมเอเปค ได้ชูประเด็นการสร้างการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนผ่านการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ซึ่งสอดคล้องกับไทย ที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงการเปิดเสรีการค้าการลงทุน ที่มีคุณภาพ ยั่งยืน และทุกฝ่ายสามารถเข้าถึง มีส่วนร่วม และได้รับประโยชน์ โดยไทยแจ้งต่อที่ประชุมว่า ไทยอยู่ระหว่างเดินหน้าการปฏิรูปอย่างรอบด้าน และการสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศ พร้อมๆ ไปกับเรียนรู้จากการดำเนินงานของเอเปค ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
นางอภิรดี เปิดเผยต่อว่า ในการสร้างความมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนนั้น ไทยสนับสนุนแผนงานผลักดันการเข้าสู่ตลาดโลกของ วิสาหกิจรายย่อย ขนาดย่อมและขนาดกลาง ของฟิลิปปินส์ ภายใต้แผนงานโบราไคย์ (Boracay Action Agenda) ให้เป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเข้าถึงข้อมูลการค้า แหล่งเงินทุน เทคโนโลยี และเห็นว่า การสนับสนุน SMEs ให้ใช้โอกาสของการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) ในการทำธุรกิจมีความจำเป็นมาก นอกจากนี้ ในปีนี้ ไทยทำการศึกษาเรื่องการนำ SMEs ในสาขาเกษตรเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตอาหารของโลก ปัจจุบัน กำลังเร่งศึกษามาตรการที่มิใช่ภาษีและสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจภายในประเทศสมาชิกเอเปค ที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าตลาดระหว่างประเทศของ SMEs รวมถึงเกษตรกร โดยไทยจะจัดทำการสัมมนา เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลดังกล่าว และจัดทำแนวทางแก้ไขอุปสรรคเหล่านั้น ร่วมกับสมาชิกเอเปค พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายภายในอุตสาหกรรมดังกล่าว สำหรับนำไปสู่การขยายโอกาสทางการค้าของ SMEs ไทยในสาขาเกษตร และดำรงให้ไทยเป็นครัวของโลกที่แข็งแกร่งต่อไป
นางอภิรดี กล่าวว่า ฟิลิปปินส์ได้ผลักดันเรื่องการค้าบริการด้วย เนื่องจากการค้าบริการเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในโลกยุคใหม่ รวมทั้งจะก่อให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น โดยเฉพาะเป็นโอกาสแก่ SMEs ในการให้บริการลูกค้าผ่านทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ ผลลัพธ์สำคัญจะออกมาในรูปแบบของกรอบความร่วมมือด้านบริการของเอเปค ซึ่งระบุทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ด้านการลดข้อจำกัดการค้าและการลงทุนภาคบริการ เพื่อกระตุ้นให้สมาชิกเอเปคปฏิรูปการเปิดตลาดการค้าบริการ ไทยเองก็ให้ความสำคัญกับภาคบริการและการสร้างนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญในอนาคต การดำเนินงานของเอเปคจะเป็นโอกาสอันดี ในการผลักดันสาขาบริการที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออก (เช่น ท่องเที่ยว แฟรนไชส์ ค้าปลีกค้าส่ง ร้านอาหาร บริการด้านสุขภาพ และธุรกิจภาพยนตร์) และในการพัฒนาสาขาบริการที่จะเป็นฐานรายได้ใหม่ๆ ของประเทศ (เช่น คมนาคมขนส่งและสื่อสาร บริการด้าน โลจิสติกส์ สาธารณสุข และบริการการเงิน) ต่อไป ในอนาคต
สำหรับ การหารือด้านการจัดทำเขตการค้าเสรีของเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอฟแทป (Free Trade Area of the Asia-Pacific: FTAAP) ซึ่งเอเปคได้ริเริ่มการหารือมาตั้งแต่ปี 2550 นางอภิรดีฯ กล่าวว่า ปัจจุบัน สมาชิกเอเปคกำลังร่วมกันจัดทำการศึกษาผลกระทบของการจัดทำ FTAAP โดยจะสามารถนำเสนอผลการศึกษาฯ ได้ภายในปีหน้า ซึ่งคาดว่า จะมีข้อเสนอแนะเพื่อนำไปสู่การเจรจา FTAAP โดยเร็ว ในส่วนของไทย จะผลักดันให้สมาชิกเอเปคจัดทำโครงการเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรม/ปรับปรุงกฎระเบียบ และการเปิดเสรีด้านต่างๆ เพื่อรองรับแนวโน้มการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจทั้งในเชิงลึกและกว้าง เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจรากหญ้าของไทย เอเปค หรือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 ประกอบด้วย 21 เขตเศรษฐกิจ คือ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป สหรัฐฯ เวียดนาม รวมทั้งไทย ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคปี 2565 โดยเอเปคมีประชากรรวมกันประมาณ 2,700 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 45% ของประชากรโลก และสมาชิกเอเปคมีการค้ารวมกันมากกว่า 25,000 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 46% ของการค้าโลก และ 57% ของ GDP โลก ทั้งนี้ ในส่วนการค้าระหว่างไทยและประเทศสมาชิกเอเปค มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 70 ของมูลค่าการค้าไทยกับโลก
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630