- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 22 November 2015 20:03
- Hits: 2783
กรมส่งเสริมการค้าฯ ยันสถานการณ์ในฝรั่งเศสไม่กระทบส่งออกไทย ชี้สัดส่วนส่งออกไทย-ฝรั่งเศสมีเพียง 0.74%
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ยันสถานการณ์ในฝรั่งเศสไม่กระทบต่อส่งออกไทย เหตุสัดส่วนการส่งออกระหว่างไทย-ฝรั่งเศสที่มีเพียง 0.74% ชี้การซื้อขายออนไลน์จะเป็นทางเลือกยอดนิยมของผู้บริโภคในขณะนี้ หลังปชช.ยังไม่กล้าออกมาจับจ่ายใช้สอย
นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลกระทบต่อการส่งออกไทยจากเหตุการณ์ก่อการร้ายในกรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2558 ว่า ด้วยสัดส่วนการส่งออกระหว่างไทยและฝรั่งเศสที่มีเพียงร้อยละ 0.74 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดส่งออกของไทย นอกจากนี้ การส่งออกจนถึงสิ้นปีอยู่ในช่วงส่งมอบสินค้า ส่วนแบ่งตลาดของไทยในตลาดฝรั่งเศสยังคงพัฒนาไปในทางที่ดี โดยไทยยังคงเป็นแหล่งนำเข้าที่สำคัญอันดับต้นในตลาดฝรั่งเศสสำหรับกลุ่มสินค้าหลัก เช่น เลนส์สายตา ผลิตภัณฑ์ยางพารา โดยเฉพาะในกลุ่มยานพาหนะ
อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยบวกในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของฝรั่งเศส คือ การที่ฝรั่งเศสจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปหรือ UEFA Euro 2016 ในช่วงเดือนมิถุนายน – เดือนกรกฎาคม 2559 ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าของที่ระลึก เครื่องนุ่งห่ม ของขวัญ อุปกรณ์กีฬา เป็นต้น เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น อาจจะมีผลกระทบต่อผู้บริโภคในช่วงแรกๆ คล้ายกับเหตุการณ์บุกยิงที่สำนักงานใหญ่ของนิตยสารรายสัปดาห์ Charlie Hebdo เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2558 หลังจากนั้น 2-3 สัปดาห์เหตุการณ์ก็จะเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ
อย่างไรก็ดี ในด้านของผลกระทบระยะสั้นจะเป็นผลกระทบเชิงจิตวิทยา โดยประชาชนชาวฝรั่งเศสจะไม่ออกไปในที่ชุมชน เช่น การรับประทานอาหารนอกบ้านหรือการสังสรรค์ในสถานบันเทิง ซึ่งจะทำให้คนส่วนใหญ่ปรับพฤติกรรมมาเป็นการรับประทานอาหารที่บ้านมากขึ้น จึงอาจส่งผลกระทบกับร้านอาหารไทยในกรุงปารีส และทำให้ความต้องการสินค้าอาหารนำเข้าจากไทยลดลง มีการสั่งซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคออนไลน์ และมีการกักตุนสินค้า ธุรกิจค้าปลีกมีแนวโน้มซบเซา การซื้อขายออนไลน์น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของผู้บริโภคในขณะนี้
“ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นน่าจะเป็นเพียงระยะสั้น และไม่กระทบกับการส่งออกของไทยมากนัก เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อสินค้าผ่านแดน และการตรวจปล่อยสินค้าที่สืบเนื่องมาจากความเข้มงวดในการรักษาความปลอดภัยบริเวณพรมแดน ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าทางการฝรั่งเศสจะมีมาตรการเข้มงวดซึ่งส่งผลกระทบต่อการค้าออกมาอีกหรือไม่” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าว
ในขณะที่ผลกระทบระยะยาว จะมีผลกระทบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในกลุ่มยูโรโซนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของฝรั่งเศส ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวมากที่สุดในโลก อีกทั้งกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่อาจจะถอนเงินลงทุนจากสหภาพยุโรปไปยังประเทศมีความปลอดภัยมากกว่า ส่งผลต่อเศรษฐกิจของฝรั่งเศส และสินค้าไทยอาจจะราคาสูงขึ้นเป็นผลจากการที่ค่าเงินยูโรอ่อนตัว
ฝรั่งเศสเป็นคู่ค้าอันดับที่ 25 ของไทย เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 26 และเป็นอันดับที่ 4 ในสหภาพยุโรป และเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 18 ของไทย ภาพรวมการส่งออกของไทยไปฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี 2553 – 2557 มีมูลค่าเฉลี่ยทั้งสิ้น 4,912.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีดุลการค้าเฉลี่ยทั้งสิ้น -1,624.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 1,645.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีมูลค่าการนำเข้า 1,792.98 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับช่วงเดือนมกราคม - กันยายน 2558 มูลค่าการส่งออกของไทยไปฝรั่งเศส อยู่ที่ 1,192.98 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกหลักของไทยไปฝรั่งเศส 5 อันดับ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องนุ่งห่ม เลนส์ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากฝรั่งเศส 5 อันดับได้แก่ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบิน พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย