- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Wednesday, 18 November 2015 08:46
- Hits: 2514
พาณิชย์ แนะส่งออกมังคุดไปอินเดียด้วยการแปรรูปเพิ่มมูลค่า แก้ปัญหาผ่านขั้นตอนที่นาน/ยุ่งยาก หลังเริ่มลดภาษีเมื่อ ก.ย.ที่ผ่านมา
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าจากผลการวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับขั้นตอนวิธีการปฏิบัติการนำเข้ามังคุดจากประเทศไทย และวิธีขนถ่ายเพื่อกระจายสินค้าในรัฐทมิฬนาฑู อินเดีย สรุปสาระที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการส่งออกมังคุดไทยมายังอินเดียได้ดังนี้ 1. มังคุด เป็นผลไม้หนึ่งใน 8 ชนิด (มังคุด ทุเรียน เงาะ ลำไย องุ่น มะม่วง แอปเปิ้ล และทับทิม) ที่อยู่ในสินค้ากลุ่มเร่งลดภาษี EHPs ตามความตกลง FTA ไทย-อินเดีย โดยได้เริ่มลดภาษีเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา
แม้ว่า ปัจจุบันจะมีมังคุดเข้าไปจำหน่ายในตลาดอินเดียแล้วก็ตาม แต่นับว่ายังมีปริมาณน้อยมากหลังจากการเปิดเสรีดังกล่าว ทั้งนี้ในอินเดียมังคุดไทยจัดว่าเป็นผลไม้ที่มีราคาแพง เนื่องจากต้องขนส่งทางอากาศ ส่งผลให้ราคาขายปลีกเฉลี่ยในตลาดอินเดียอยู่ที่ประมาณ 750 รูปีต่อกิโลกรัม หรือ 420 บาทต่อกิโลกรัม 2. การส่งออกมังคุดไทยไปอินเดีย ต้องผ่านการตรวจและออกใบรับรองสุขอนามัยพืช โดยกรมวิชาการเกษตร ต้องระบุข้อความว่าปลอดจากแมลงวันผลไม้ และเพลี้ยแป้ง 3. เงื่อนไขในการนำเข้า มังคุดต้องผ่านการรมยาด้วย Methyl Bromide อัตรา 32 g/cum. นาน 2 ชั่วโมงที่ อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 21 องศาเซลเซียส หรือทำ Treatment ป้องกันแมลงวันผลไม้ด้วยวิธีแช่เย็น (ที่อุณหภูมิไม่เกิน 0 องศาเซลเซียส นาน 13 วัน หรือที่อุณหภูมิไม่เกิน 0.55 องศาเซลเซียส นาน 14 วัน หรือที่อุณหภูมิไม่เกิน 1.1 องศาเซลเซียส นาน 18 วัน) ซึ่งอาจกระทำก่อนการขนส่งหรือระหว่างการขนส่งก็ได้ 4. การนำมังคุดเข้ารัฐทมิฬนาฑู สามารถทำได้ทางเรือและทางอากาศ โดยเมื่อสินค้าถูกส่งถึงท่าเรือหรือสนามบินแล้ว จะถูกเก็บไว้ที่คลังเก็บสินค้าเพื่อตรวจสอบเอกสาร และสุ่มตัวอย่างตรวจโดยหน่วยงานมาตรฐานและความปลอดภัยแห่งอินเดีย(FSSAI) ซึ่งจะใช้เวลาตรวจสอบประมาณ 2-3 วัน หากผลตรวจไม่พบปัญหา ทาง FSSAI จะออกใบรับรอง No Objection ให้ผู้นำเข้าสามารถนำสินค้าออกจากคลังเก็บได้
นางอภิรดี กล่าวว่าจากเงื่อนไขการนำเข้ามังคุดจากไทยที่ต้องผ่านการรมยา หรือแช่เย็น ในทางปฏิบัติจะทำให้เปลือกมังคุดแข็ง แกะรับประทานได้ยากหรือผิวช้ำซึ่งจะทำให้เกิดเชื้อราได้ง่ายเมื่อเก็บรักษาในอุณหภูมิปกติและจะมีลักษณะไม่น่ารับประทาน ดังนั้น ในการส่งออกผู้ประกอบการไทยอาจใช้วิธีการการแปรรูปมังคุด โดยการปอกเปลือกในรูป Fresh-cut รวมถึงอาจใช้เทคโนโลยีในการแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ก่อนส่งออกไปตลาดอินเดียต่อไป โดยการศึกษาวิจัยดังกล่าวสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน รัฐทมิฬนาฑู เป็นผู้จัดจ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี
รัฐทมิฬนาฑู(Tamil Nadu) เป็น 1 ในทั้งหมด 29 รัฐ ที่อยู่ตอนใต้สุดมีประชากรใกล้เคียงประเทศไทยประมาณ 72 ล้านคน ในปีค.ศ. 2014-2015 มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในของรัฐ(GSDP)มูลค่า 161.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึงร้อยละ 7.9 อินเดีย มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลกประมาณ 1,288 ล้านคน รองจากจีนที่มีประมาณ 1,405 ล้านคน โดยมีปริมาณการค้าสองฝ่ายกับไทยในช่วง ม.ค.-ก.ย. 58 มูลค่า 6,183 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 2,075 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับสินค้าผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ไทยส่งออกไปอินเดีย(มค.-กย.58)เป็นลำดับที่ 19 มูลค่า 3.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่ง 3 ย้อนหลัง(2555-2557)มีมูลค่ามากขึ้นทุกปี แต่เมื่อแยกเป็นการส่งออกมังคุดสด อินเดียไม่อยู่ใน 20 ประเทศแรกที่ไทยส่งออก สำหรับ 3 ลำดับแรกคือ จีน เวียดนาม และฮ่องกง
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย