WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

เสียงต้าน-หนุนเข้าร่วม'ทีพีพี'วัดใจ'บิ๊กตู่'ชั่งน้ำหนักศก.หรือการเมือง

  • มติชนออนไลน์ :

12ประเทศ      หลังความพยายามนานกว่า 5 ปี ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก 12 ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ เปรู ชิลี ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้ประกาศบรรลุความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership Agreement) หรือทีพีพี

      เกิดเสียงสะท้อนทั้งแสดงความเสียดายและต่อว่าไทยล่าช้าจนตกขบวน และเสียงสะท้อนอีกฝั่งที่อยากให้ทำการศึกษาให้รอบคอบก่อน โดยเฉพาะภาคสังคมที่แสดงท่าทีคัดค้านการเข้าร่วมทีพีพีอย่างชัดเจน 

- เอกชนหนุนแต่ขอเวลาศึกษารอบคอบ

      ภาคเอกชน อย่างนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานคณะกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย แสดงความเห็นว่า "ภาคเอกชนในนามคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย (กกร.) มีความกังวลและได้จับตาอย่างใกล้ชิด ห่วงจะเกิดผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในระยะยาว จึงตั้งคณะทำงานศึกษาผลดีและผลเสียที่ไทยจะเข้าหรือไม่เข้าทีพีพี รวมถึงความวิตกต่างๆ อาทิ เรื่องสิทธิบัตรยา สิทธิบัตรด้านสมุนไพร โดยเร่งดำเนินการให้เสร็จภายใน 1-2 เดือน เสนอต่อรัฐบาล"

     ด้านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นายวัลลภ วิตนากร รองประธานฯ สะท้อนว่า "ทีพีพีน่าจะมีผลอย่างเป็นทางการเร็วสุดก็ 1-2 ปี หรือปี 2560 โดยผลกระทบต่อไทย คือ 3 ประเทศที่ไทยไม่ได้มีข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ด้วยคือ สหรัฐ แคนาดา และเม็กซิโก ประเทศคู่แข่งไทยคือ สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม จะได้เปรียบในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของไทย ที่สินค้าจะแซงหน้าไทยภายใน 2-3 ปีหลังจากทีพีพีมีผลบังคับใช้แล้ว จึงเห็นควรที่รัฐต้องเข้าร่วมทีพีพี"

      ขณะที่สถาบันการเงิน เสียงส่วนใหญ่เลี่ยงออกความคิดเห็น แต่แนะให้ใช้สถานการณ์อื่นเพิ่มโอกาสทางการค้า อย่างนายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า การที่ไทยได้รับการผ่อนผันไม่ระงับสิทธิจีเอสพีจากสหรัฐ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึงปี 2560 ทำให้ไทยยังสามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีนำเข้าไปสหรัฐ ในบางหมวดสินค้า ดังนั้น ไทยควรเร่งพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ รวมทั้งหาประโยชน์ในการเป็นห่วงโซ่การผลิตกับประเทศสมาชิกทีพีพี เพื่อรองรับการแข่งขันที่จะเพิ่มขึ้นในระยะปานกลาง

       ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรืออีไอซี มองว่าไทยควรศึกษาเงื่อนไขของข้อตกลงทีพีพีให้รอบคอบก่อนเข้าร่วม ด้วยข้อกำหนดของทีพีพีไม่อนุญาตให้สมาชิกใหม่เปลี่ยนแปลงข้อตกลงเดิมกับสมาชิกทั้ง 12 ประเทศ ทำให้ไทยต้องประเมินผลกระทบจากการเข้าร่วมทีพีพีให้รอบคอบ โดยมีประเด็นที่ไทยจะเสียเปรียบหากเข้าร่วมคือสิทธิบัตรยาและทรัพย์สินทางปัญญา แต่หากไม่เข้าร่วมก็อาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาดส่งออกในกลุ่มประเทศทีพีพี อย่างญี่ปุ่นที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์อาจจะได้รับความสนใจน้อยลง เพราะญี่ปุ่นได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์จากสหรัฐ เมื่อทีพีพีมีผล และยังมองถึงการเข้าทีพีพีของไทยไม่ง่ายนัก เพราะติดปัญหาการค้ามนุษย์ที่ถูกสหรัฐจัดอันดับ Tier 3 ซึ่งตามกฎหมายสหรัฐห้ามไม่ให้รัฐบาลลงนามในข้อตกลงทางการค้ากับประเทศที่อยู่ในอันดับดังกล่าว หากไทยต้องการเข้าร่วมทีพีพีจะต้องแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้ได้ โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิแรงงานในการทำประมง

- ภาคสังคมค้านเข้าร่วมทีพีพีเต็มตัว

ส่วนภาคสังคม ในกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) มูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) และองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ออกมาคัดค้าน โดยสะท้อนความพร้อมของไทย และการถูกแสวงหาผลประโยชน์จากต่างชาติ ทั้งนี้มองว่าการตัดสินใจจะเข้าร่วมหรือไม่ ต้องเป็นกระบวนการที่รอบคอบมากที่สุด ตามขั้นตอนพิจารณาระดับชาติและไม่ขัดรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่

ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักเคยศึกษาไว้ ในรายงานตอนหนึ่งระบุว่า "การเข้าเป็นสมาชิกทีพีพีน่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย เพราะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมเติบโต แต่หากประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าเป็นสมาชิกทีพีพีโดยไทยไม่เข้าร่วม การเติบโตไทยมีโอกาสติดลบ 0.96% โดยสินค้าบางรายการจะได้รับผลกระทบก่อนใคร อาทิ รถยนต์ นม เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ผลไม้ อัญมณีและเครื่องประดับ เพราะได้แรงกดดันจากราคาสินค้าที่ถูกกว่าไทยจากภาษีที่ลดลงระหว่างกัน รวมถึงการพลาดโอกาสความร่วมมือการพัฒนาและเทคโนโลยีใหม่ๆ การเข้าถึงนวัตกรรม และลดโอกาสการเข้าถึงยาชนิดใหม่ๆ ที่มีราคาถูกลง เป็นต้น" 

      ส่วนผลดีที่เข้าร่วมทีพีพี คือช่วยขยายตลาดส่งออก กระตุ้นการลงทุน และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบเศรษฐกิจ ป้องกันความเสี่ยงเรื่องถูกตัดสิทธิทางภาษี (จีเอสพี) รวมถึงเป็นกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐกับนักลงทุนต่างชาติ ที่อาจช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้าลงทุนได้เร็วขึ้น ยกระดับมาตรการการครองชีพ และสร้างความร่วมมือ ที่สำคัญเป็นการสร้างอำนาจต่อรองระดับโลก เมื่อรวมขนาดของประเทศสมาชิกทีพีพีแล้วคิดเป็นสัดส่วน 40% ของจีดีพีโลก ถือว่ามีขนาดเขตการค้าเสรีใหญ่สุดของโลกเลยทีเดียว!!

       ในผลศึกษา ก็ได้เตือนไว้ว่า "สหรัฐและสมาชิกทีพีพีคงไม่ผ่อนปรนท่าทีการเจรจาในประเด็นใดประเด็นหนึ่งเพื่อตอบสนองต่อความอ่อนไหวของไทยได้อย่างง่ายๆ ถ้าไทยไม่มีผลประโยชน์ที่สมน้ำสมเนื้อมาแลกเปลี่ยน"

- พณ.ห่วงทีพีพีทำ"เออีซี"ด้อยค่า

      เพราะแม้ในกลุ่มทีพีพีเองก็ยังมีข้อตกลงบางเรื่องที่ยังไม่อาจสรุปได้ ที่สำคัญจะคุ้มค่าไหม หากเข้าทีพีพีแล้ว กลับเป็นการลดบทบาทของอาเซียนที่กำลังเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2559 และกำลังเจรจาอาเซียนพลัส หรืออาเซียนกับขั้วอำนาจสำคัญทางเศรษฐกิจโลก ทั้งจีน อินเดีย และเกาหลีใต้ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการลดบทบาทของขั้วอำนาจเศรษฐกิจเอเชียลงนั่นเอง โดยเฉพาะจีนที่กำลังเป็นพันธมิตรทางการค้าและลงทุนรายใหญ่ของอาเซียน 

ประเด็นจึงต้องมาย้อนถามและดูท่าทีภาครัฐ ที่จนถึงวันนี้ยังไม่มีใครพูดถึงความพร้อม!!

      "มักถูกถามว่าช้าไหมที่ไม่ได้เข้าทีพีพี ก็ต้องบอกไม่มีอะไรช้าเกินไป เพราะแม้ตกลงได้ก็ใช่จะมีผลทันที ต้องใช้เวลาตามขั้นตอนต่างๆ ถามว่าเสียเปรียบไหม ส่วนใหญ่ไทยก็มีข้อตกลงเปิดเสรีแล้วกับหลายประเทศในกรอบต่างๆ ยกเว้นสหรัฐ แคนาดา และเม็กซิโก เราก็แสดงความสนใจเข้าทีพีพี แต่ต้องศึกษา มีกรอบเวลาในใจถึงข้อสรุปว่าจะดำเนินการอย่างไร" นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวไว้ 

      หรือการให้สัมภาษณ์เพียงสั้นๆ ของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจอย่างนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี "กระทรวงพาณิชย์ยังอยู่ระหว่างการศึกษาผลดีผลเสีย แม้จะมีสัญญาณผลดี แต่ต้องดูด้วยว่าจะกระทบกับภาคการเกษตรหรือไม่" 

     ในวงการเจรจาได้ตีความให้ฟังว่า ทีพีพีคงเกิดได้ยาก เพราะลึกๆ แล้ว จะมองแค่ "ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ" เพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมองถึงเรื่อง "การเมืองระหว่างประเทศ" ที่ขณะนี้ไทยถูกมองว่าแน่นแฟ้นกับจีนมากกว่าสหรัฐ

      จึงเหลือเพียงจับตาท่าทีของนายกรัฐมนตรี "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" จะชั่งน้ำหนัก 2 ด้านนี้อย่างไร

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!