WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

MOCอภรด ตนตราภรณเตือนไข่ไก่ปลอมระบาด พาณิชย์ขู่ฟ่อพวกพ่อค้าขี้โกงเตรียมล้างคุกรอ

      บ้านเมือง : พาณิชย์ เตือนระวังไข่ไก่ปลอมระบาด ขู่ฟ่อพ่อค้าขี้โกงเตรียมล้างคุกรอ ขณะที่ไทยได้รับข่าวสหรัฐ ทบทวนโครงการ GSP ประจำปี 57 คงสิทธิให้สินค้าไทยโดยไม่ถูกตัด GSP จำนวน 11 รายการ ทำให้ยังคงสามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีนำเข้าได้ต่อไป

        นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีพบไข่ไก่ปลอมจำหน่ายในตลาดนัดจังหวัดชลบุรี ว่า การจำหน่ายไข่ไก่ปลอมมีความผิดตามกฎหมายสำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคตามมาตรา 47 ที่ระบุว่าผู้ใดเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จ หรือข้อความที่รู้ หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    นอกจากนี้ ยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 ที่ระบุว่าผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใดให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

     ทั้งนี้ ผู้บริโภคควรตรวจสอบสินค้าก่อนซื้อทุกครั้ง หากพบสิ่งผิดปกติสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ให้เข้าดำเนินการตรวจสอบได้ทันที หรือร้องเรียนผ่านสายด่วน 1569

    นางอภิรดี กล่าวต่อว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศกำหนดให้สินค้าที่ใช้ได้สองทางเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาต และกำหนดสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ.2558 ซึ่งกำหนดให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออก จะต้องขออนุญาตในการส่งออกสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-use Items: DUI) ตามบัญชีที่กำหนด และต้องขึ้นทะเบียนรับรองตนเองกรณีพิกัดศุลกากร (HS Code) 8 หลัก มีคุณสมบัติเข้าข่าย DUI แต่ไม่เป็น DUI ตามบัญชีที่กำหนด โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.61 เป็นต้นไป

     สำหรับ สินค้าที่ต้องขออนุญาตก่อนทำการส่งออกตามบัญชีที่กำหนดมีประมาณ 1,230 รายการ เช่น เส้นใยกลาสไฟเบอร์ที่ใช้เป็นวัสดุทำโครงไม้เทนนิส แต่สามารถนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนขีปนาวุธ, สารไตรเอทาโนลามีนที่ใช้ในการทำสบู่ ผงซักฟอก และโลชั่น สามารถนำไปใช้ทำสารพิษ หรือควันพิษที่ใช้ในการก่อการร้ายได้, น้ำมันละหุ่งใช้เป็นอาวุธชีวภาพ และไส้ตะเกียงที่เคลือบลวดทังสเตนในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ใช้เป็นอาวุธได้ เป็นต้น

      นางอภิรดี กล่าวถึงสหรัฐได้ทบทวนโครงการ GSP ประจำปี 2557 มีสินค้าไทยได้รับการผ่อนผันไม่ระงับสิทธิ GSP กรณี De Minimis Waivers จำนวน 9 รายการ ได้แก่ กล้วยไม้สด ทุเรียนสด มะละกอแห้ง มะขามตากแห้ง ข้าวโพดปรุงแต่ง ผลไม้แช่อิ่ม มะละกอแปรรูป อาหารปรุงแต่ง และรูปปั้นเซรามิก และยกเว้นเพดานการนำเข้าสหรัฐ (CNL Waivers) กรณีสัดส่วนการนำเข้าเกินร้อยละ 50 จำนวน 2 รายการ ได้แก่ มะพร้าวปรุงแต่ง และลวดทองแดงอื่นๆ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.58 เป็นต้นไป

     การที่สหรัฐประกาศผ่อนผันไม่ระงับสิทธิ GSP กรณี De Minimis Waivers และกรณี CNL Waivers ครั้งนี้ ทำให้สินค้าที่ได้รับการผ่อนผันดังกล่าวจะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐ มีมูลค่ากว่า 70 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร" นางอภิรดี กล่าว

    สำหรับ การผ่อนผันกรณี De Minimis Waivers เป็นกรณีที่สินค้ามีส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐ เท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 50 แต่มูลค่านำเข้าสหรัฐของสินค้านั้นจากทั่วโลกต่ำกว่ามูลค่าขั้นต่ำที่สหรัฐกำหนด (ปี 2557 = 22.5 ล้านเหรียญ) ก็สามารถขอผ่อนผันไม่ให้ระงับสิทธิ GSP ได้ ส่วนกรณีการขอยกเว้นเพดานการนำเข้าสหรัฐ (CNL Waivers) เป็นการขอ ผ่อนผันให้ยกเว้นเพดานการนำเข้าสหรัฐ หากสินค้านั้นได้รับการยกเว้นเพดานการนำเข้าก็จะสามารถส่งออกไปยังสหรัฐ ได้โดยไม่มีระดับเพดาน (CNLs) ซึ่งสหรัฐกำหนดเพดาน 2 กรณี คือ กรณีเพดานมูลค่านำเข้าเกินที่กำหนดในแต่ละปี (ปี 2557 = 165 ล้านเหรียญ) และกรณีสัดส่วนการนำเข้าสหรัฐเกินร้อยละ 50

    ทั้งนี้ ในการทบทวนโครงการ GSP ของสหรัฐ ประจำปี 2557 ปรากฏว่าไทยไม่มีรายการที่สหรัฐประกาศตัดสิทธิ GSP ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าที่ไทยเคยได้รับสิทธิ GSP จากสหรัฐ จะยังคงได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าทุกรายการ จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกทราบโดยทั่วกันและควรเร่งใช้ประโยชน์จากสิทธิ GSP ที่ไทยยังคงได้รับให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มมูลค่าส่งออกไปตลาดสหรัฐให้มากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!