WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

MOC1ไทย และปากีสถาน เริ่มเจรจา FTA ระหว่างกันรอบแรก 29 ก.ย.- 1 ต.ค. นี้

    ไทย และปากีสถานเริ่มการเจรจาความตกลงการค้าเสรีรอบแรก ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 1 ตุลาคม 2558 ภายหลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของทั้งสองประเทศได้ประกาศการเปิดเจรจา FTA ระหว่างกัน ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ไทย-ปากีสถาน ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 12-13 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา ณ กรุงอิสลามาบัด สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน

  นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมการเจรจา FTA ไทย-ปากีสถาน ณ โรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน กรุงเทพฯ ซึ่งในการเจรจาครั้งแรกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ จะมีการหารือโครงสร้างความตกลงการค้าเสรีระหว่างกัน และแผนการเจรจา รวมถึงเป้าหมายการเจรจาในแต่ละรอบ เพื่อให้การดำเนินการเจรจาสามารถเสร็จสิ้นได้ภายในกำหนด

 นางสาวสุนันทา กล่าวว่า ไทยและปากีสถานจะได้รับประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีฉบับดังกล่าว โดยจะเป็นการเพิ่มโอกาสการส่งออกของไทยไปยังตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรประมาณ 200 ล้านคน (อันดับ 6 ของโลก) ซึ่งในจำนวนนี้มีประชากรที่มีกำลังซื้อสูงถึงประมาณ 30 ล้านคน นอกจากนี้ ปากีสถานยังมีที่ตั้งที่ได้เปรียบด้านยุทธศาสตร์การค้า สามารถเป็นประตูการค้าเพื่อกระจายสินค้าของไทย เช่น ยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ไปยังภูมิภาคต่างๆ เช่น ภาคตะวันตกของจีน เอเชียกลางและภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมถึงโลกมุสลิม ซึ่งมีกว่า 50 ประเทศในกลุ่มประเทศในองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ซึ่งมีประชากรประมาณ 2 พันกว่าล้านคน ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ คิดเป็น 1 ใน 3 ของตลาดโลก

     จึงเป็นโอกาสของสินค้าฮาลาลของไทย อีกทั้งยังเป็นแหล่งทรัพยากรที่เป็นวัตถุดิบต่อการผลิตของไทย เช่น อัญมณี และสัตว์น้ำ เป็นต้น และปากีสถานก็สามารถใช้ไทยเป็นประตูสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีประชากรรวมกว่า 600 ล้านคน โดยประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนก็จะเกิดขึ้นในปลายปีนี้ ทำให้อาเซียนกลายเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว มีการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตต่างๆอย่างเสรี เสมือนอยู่ในประเทศเดียวกัน โดยสามารถใช้ทรัพยากรทั้งวัตถุดิบและแรงงานจากหลายประเทศสมาชิกเพื่อนำมาใช้ในการผลิต โดยปราศจากอุปสรรคทางด้านภาษีและมิใช่ภาษี ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมการแข่งขันทางเศรษฐกิจของอาเซียน ทำให้อาเซียนเป็นตลาดที่น่าลงทุนยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำมาซึ่งโอกาสใหม่ๆ สำหรับคู่ค้าของอาเซียน เช่น ปากีสถาน ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ก็มีนักลงทุนไทย ได้แก่ บริษัทสยามซีเมนต์ บริษัทไทยยูรีเทน เคมีคัลอินดัสเตรียล บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี. ปากีสถาน) ได้เข้าไปลงทุนในปากีสถานแล้ว

      ในปี 2557 (2014) ปากีสถานเป็นคู่ค้าอันดับที่ 46 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียใต้รองจากอินเดีย การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 1,014.98 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 2.40 โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 734.94 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ไทยส่งออกมูลค่า 874.96 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 6.97 และนำเข้ามูลค่า 140.02 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 40.86

    สำหรับสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกและนำเข้าสินค้าส่งออกของไทย เช่น เส้นใยประดิษฐ์ ผ้าผืน รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เป็นต้น

     สินค้านำเข้าจากปากีสถาน เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องดนตรีของเล่นเครื่องกีฬาและเครื่องเล่นเกมส์ สัตว์น้ำสดแช่เย็นแช่แข็งแปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป สินแร่โลหะอื่นๆเศษโลหะและผลิตภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เป็นต้น

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!