WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

MOC Somkiatพาณิชย์ เผยส.ค.58 ส่งออก -6.69% ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8

   กระทรวงพาณิชย์ แถลงมูลค่าการค้าระหว่างประเทศในรูปของเงินเหรียญสหรัฐว่า การส่งออกเดือนส.ค.58 มีมูลค่า 17,669 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ -6.69 โดยติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ขณะที่การนำเข้าเดือนส.ค. 58 มีมูลค่า 16,948 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ -4.77 ส่งผลให้ดุลการค้า เกินดุล 721 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

     ขณะที่ในช่วง 8 เดือนปี 58 การส่งออก ลดลงร้อยละ -4.92 มูลค่า 142,747 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนนำเข้า ลดลงร้อยละ -8.18 มูลค่า 137,783 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เกินดุลการค้า 4,964 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

    ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกของไทยเดือนสิงหาคม ยังคงลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว อย่างไรก็ดี การส่งออกยานยนต์และส่วนประกอบกลับมาขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในขณะที่สินค้าเกี่ยวข้องกับน้ำมันยังคงมีมูลค่าส่งออกต่ำตามราคาน้ำมัน สินค้าเกษตรมีมูลค่าส่งออกต่ำตามราคาในตลาดโลก ขณะที่ข้อมูลการนำเข้าของตลาดล่าสุดแสดงว่าไทยยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาด (Market Share) ในตลาดสำคัญไว้ได้

    ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรหดตัวตามราคาสินค้าเกษตรโลก โดยภาพรวมเดือนสิงหาคม 2558 ลดลงร้อยละ -8.0 (YoY) ตามทิศทางของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญจะมีปริมาณส่งออกสูงขึ้นก็ตาม  โดยเฉพาะยางพาราและน้ำตาล ทำให้เดือนนี้มูลค่าส่งออกยางพาราขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 18.5 (YoY) แต่ราคายังคงอยู่ในระดับต่ำ เช่นเดียวกับ น้ำตาลทราย ไก่แปรรูป และผลไม้กระป๋องและแปรรูป ที่มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 9.7 4.8 และ 4.7 (YoY) ตามลำดับในขณะที่ ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และผลไม้สด แช่เย็นและแช่แข็ง มูลค่าการส่งออกหดตัวลง

     มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวลง โดยภาพรวมเดือนสิงหาคม 2558 ลดลงร้อยละ -3.2 (YoY)  ทั้งนี้ สินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของไทยคือรถยนต์และส่วนประกอบ กลับมาขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ร้อยละ 6.8 (YoY) จากการขยายตัวของการส่งออกรถยนต์นั่ง ขยายตัวร้อยละ 86.8 (YoY) ส่วนรถกระบะยังคงหดตัวร้อยละ -36.1 (YoY) จากผลของการเปลี่ยนรุ่น ขณะที่ภาพรวมอุตสาหกรรมยังคงหดตัว เนื่องจากมูลค่าส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดิบหรืออุตสาหกรรมที่มีโครงสร้างการใช้วัตถุดิบซึ่งมาจากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ลดลงต่อเนื่องจากปีก่อนหน้ามากตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว และมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำไปจนถึงสิ้นปี ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญอย่างทองคำ กลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 973.7 (YoY) เนื่องจากราคาทองคำขยับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้มีการส่งออกเพื่อทำกำไร

    ทั้งนี้ หากไม่รวมสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและทองคำ มูลค่าการส่งออกรวมของไทยในเดือนสิงหาคม 2558 จะหดตัวร้อยละ -6.8 (YoY)

   ตลาดส่งออก กลุ่ม CLMV ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และการส่งออกไปจีนกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง ขณะที่สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (15) และอาเซียน (9) หดตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก การส่งออกไปยังตลาด CLMV ยังคงมีอัตราการขยายตัวต่อเนื่องสูงร้อยละ 5.5 (YoY) โดยเฉพาะกัมพูชา ลาว และเวียดนาม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการค้าชายแดน โดยสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวสูงขึ้น ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องดื่ม และน้ำตาลทราย เป็นต้น รวมทั้งการส่งออกไปจีน ที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้ง โดยขยายตัวร้อยละ 0.4 (YoY) จากการขยายตัวของยางพารา แผงวงจรไฟฟ้า ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และข้าว เป็นต้น ขณะที่ตลาดหลักอย่าง สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (15) และอาเซียน ลดลงร้อยละ -1.9 -6.7 -2.3 และ -14.9 (YoY) ตามลำดับ

    การค้าของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านผ่านช่องทางการค้าชายแดน และการค้าผ่านแดนกลับมาขยายตัว (มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 8.0 ของมูลค่าการค้ารวมของไทย) โดยมูลค่าการค้าชายแดน (มาเลเซีย เมียนมาร์ สปป.ลาว กัมพูชา) ในระยะ 8 เดือน (ม.ค. ส.ค. 58) มีมูลค่า 652,967 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 (YoY) ทำให้ภาพรวมไทยได้ดุลการค้าชายแดนรวม 4 ประเทศ เป็นมูลค่า 114,824 ล้านบาท ขณะที่การค้าผ่านแดน (สิงคโปร์ จีนตอนใต้ เวียดนาม ในระยะ 8 เดือน (ม.ค. ส.ค. 58) มีมูลค่า 90,155 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -10.1 (YoY) ทำให้ภาพรวมไทยได้ดุลการค้าผ่านแดนรวม 3 ประเทศ เป็นมูลค่า 2,542 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมการค้าชายแดน และการค้าผ่านแดน ในระยะ 8 เดือน (ม.ค. ส.ค. 58)  มีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 743,122 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.6 (YoY)

    อย่างไรก็ตาม อัตราหดตัวของมูลค่าส่งออกของไทยยังจัดว่าอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยสถิติส่งออกล่าสุดถึงเดือนมิถุนายน 2558 เกือบทุกประเทศทั่วโลกมีอัตราการขยายตัวของการส่งออกติดลบมากกว่าไทย อาทิ ออสเตรเลีย (-21.7%) ฝรั่งเศส (-14.7%) สิงคโปร์ (-13.1%) ญี่ปุ่น (-8.1%)  สหรัฐฯ (-5.5%) เกาหลีใต้ (-5.2%)

    นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนส.ค.58 ยังเป็นการลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งปัจจัยที่ทำให้การส่งออกของไทยหดตัวต่อเนื่อง มาจากปัจจัยภายนอกที่สำคัญ 4 ประการ คือ 1.ภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักในปัจจุบันยังชะลอตัว โดยเฉพาะสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน จึงทำให้การนำเข้าของเกือบทุกประเทศทั่วโลกยังคงหดตัว

    2.ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกชะลอตัวต่อเนื่อง และยังไม่มีแนวโน้มจะฟื้นตัว ซึ่งในเดือนส.ค.58 พบว่าราคาน้ำมันลดลงถึง 53.6% 3.ราคาสินค้าเกษตรโลกปรับตัวลดลงมาก โดยเฉพาะข้าว ยางพารา และน้ำตาลทราย ทำให้แม้ว่าไทยจะส่งออกสินค้าดังกล่าวในปริมาณที่ไม่ต่ำไปกว่าเดิม แต่มูลค่าการส่งออกกลับลดลงมาก และ 4.การใช้มาตรการลดค่าเงินของประเทศคู่ค้าสำคัญเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการส่งออกนั้น ทำให้สินค้าส่งออกของไทยแข่งขันยาก มีราคาแพง เพราะเงินบาทของไทยอ่อนค่าในอัตราที่น้อยกว่าสกุลเงินของประเทศคู่แข่งอื่น

    อย่างไรก็ดี หากพิจารณาการนำเข้าในเดือนส.ค. จะพบว่ามีการนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ นำเข้าเพิ่มขึ้น 3.6% เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ นำเข้าเพิ่มขึ้น 18.1% ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ นำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 47.5% ซึ่งการนำเข้าสินค้าทุนมาเป็นปัจจัยในการผลิตเพิ่มขึ้นทำให้คาดว่าการผลิตในระยะต่อไปจะดีขึ้นและส่งผลให้การส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามลำดับ

   ทิศทางการส่งออกยานยนต์น่าจะดีขึ้นตามลำดับ เพราะล่าสุดการส่งออกสินค้ายานยนต์และส่วนประกอบของไทยสามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ซึ่งการนำเข้าสินค้าทุนที่เพิ่มมากขึ้นในช่วง 1-2 เดือน เป็นสัญญาณว่าปลายปีอาจจะส่งออกได้เพิ่มขึ้น...ตอนนี้เราคาดหวังกับสินค้าอุตสาหกรรมมากกว่าสินค้าเกษตรนายสมเกียรติ กล่าว

    พร้อมระบุว่า โดยทั่วไปแล้วสถานการณ์การส่งออกจะเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี ตั้งแต่ ก.ย.หรือ ต.ค.เป็นต้นไป แต่ในปีนี้ถือว่าคาดการณ์ยาก เพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงปรับลดลงต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน และเคมีภัณฑ์ต่างๆ

     ที่เราห่วงคือราคาน้ำมันที่ยังลงต่อไปเรื่อยๆ เพราะมันมีผลกระทบกับสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ซึ่งเราก็หวังว่าราคาน้ำมันคงจะปรับขึ้นในช่วงปลายปี แต่ ณ ตอนนี้ราคาก็ยังเป็นขาลงนายสมเกียรติ กล่าว

   นายสมเกียรติ กล่าวว่า สำหรับการส่งออกของไทยในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีนี้(ก.ย.-ธ.ค.) หากจะทำให้ได้ตามเป้าหมายที่ติดลบ 3% นั้น มูลค่าการส่งออกในแต่ละเดือนที่เหลือจะต้องไม่ต่ำกว่า 19,400 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะยังคงเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ไว้ที่ติดลบ 3% และจะมีการพิจารณาตัวเลขดังกล่าวอีกครั้งในเดือนพ.ย. ตามที่นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ ได้เคยบอกไว้ก่อนหน้านี้

อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!