- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 22 September 2015 08:16
- Hits: 8797
จ่อชงร่างพรบ.เครื่องหมายการค้าฯ พาณิชย์หวังเทียบเคียงหลักสากล
แนวหน้า : นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.... (ในส่วนที่เกี่ยวกับการขยายขอบเขตความคุ้มครอง การปรับปรุงหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และระยะเวลาการจดทะเบียน การปรับปรุงค่าธรรมเนียม และการรองรับการเข้าเป็นภาคีพิธีสารมาดริด) ซึ่งขณะนี้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และอยู่ระหว่างการเตรียมเสนอ ร่างปรับปรุงใหม่ของพ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า ดังกล่าว เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาเร็วๆนี้ และหลังจากนั้นจะเสนอให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณา ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ต่อไป
ทั้งนี้ กฎหมายที่มีการปรับปรุงใหม่ จะมีการเร่งเร่งรัดกระบวนการยื่นขอจดทะเบียนการค้าให้รวดเร็วขึ้นจาก โดยเฉพาะในขั้นตอนการประการโฆษณาจะเหลือเพียง 60 วัน จากเดิม 90 วัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ยื่นคำขอ และจะเพิ่มการเอาผิดกับผู้ที่นำบรรจุภัณฑ์ อย่างขวดแชมพูสระผม ครีมนวดผม ซอส ซีอิ๊ว น้ำปลา ที่ยังมีเครื่องหมายการค้าของจริงไปใส่สินค้าปลอมภายในขวด เช่น นำขวดแชมพูสระผมยี่ห้อหนึ่งไปบรรจุสินค้าปลอมที่ผลิตขึ้นเอง แล้วนำไปหลอกขาย ทำให้ผู้ซื้อสับสน และเข้าใจผิดว่าเป็นสินค้ายี่ห้อนั้นๆ
ขณะเดียวกัน ในปัจจุบันกฎหมายมีการคุ้มครอง เฉพาะเครื่องหมายการค้าที่เป็นภาพ สี ตัวอักษร ดังนั้นในกฎหมายนี้จะมีการเพิ่มความคุ้มครองการจดเครื่องหมายการค้าในรูปแบบเสียง เพื่อให้กฎหมายเป็นสากลมากขึ้น เพราะเสียงถือว่าเป็น เครื่องมือทางการตลาดอย่างหนึ่งที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญา โดยเสียงที่จะมายื่นจดได้ จะต้องเป็นเสียง ที่คิด ประดิษฐ์ขึ้นจนมีลักษณะเฉพาะ ไม่ใช่ เสียงธรรมชาติ โดยเมื่อผู้บริโภคได้ยินเสียงนั้นจะทำให้คิดถึง เจ้าของสินค้านั้นทันที เช่น เสียงของไอศครีมวอลล์ เสียงสิงโตคำรามของค่ายหนังเมโทร โกลด์วิน เมเยอร์ (เอ็มจีเอ็ม) ในฮอลลีวู้ด เป็นต้น ส่วนเรื่องของกลิ่น จะยังไม่มีการคุ้มครองในกฎหมายฉลับนี้ เพราะยังมีหลายฝ่ายคัดค้าน และมีปัญหาเรื่องของกลิ่นยังไม่ค่อยมีใครนำมาจดทะเบียนเป็นทรัพย์สินทางปัญญา อีกทั้งการตรวจสอบยังซับซ้อน และยังโยงไปถึงเรื่องสิทธิบัตร ทำให้ไม่มีการคุ้มครองส่วนนี้
“การปรับปรุงกฎหมาย เครื่องหมายการค้านี้ ส่วนหนึ่งเพื่อเตรียมรองรับตามหลักสากล เพื่อที่ไทยจะร่วมเป็นประเทศสมาชิกภายใต้พิธีสารเมดดริด ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ ที่ให้การคุ้มครอง เครื่องหมายการค้าของประเทศสมาชิก ที่ปัจจุบันมีสมาชิก กว่า 100 ประเทศ ทั่วโลก โดยขณะนี้มีประเทศอาเซียนเป็นสมาชิกแล้ว 5 ประเทศ และเมื่อไทยเข้าร่วมในพิธีสารเมดริดแล้ว จะทำให้คนไทยที่มายื่นจดเครื่องหมายการค้า สามารถมาขอจดได้ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา และขอขอรับการสิทธิในการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าในประเทศสมาชิกได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปยื่นขอในต่างประเทศ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของประเทศนั้นๆ ด้วย”
ส่วนพ.ร.บ.หลักประกัน ที่กระทรวงการคลังร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ยกร่างขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยสามารถนำสินทรัพย์อื่น เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา เครื่องจักร เป็นต้น มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อนั้น ขณะนี้ กรมฯอยู่ระหว่างเร่งสร้างความเข้าใจกับสถาบันการเงินต่างๆ ถึงวิธีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้เข้าใจ และสามารถประเมินมูลค่าได้ทันกับระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายในช่วงกลางปี 2559