- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 17 September 2015 08:55
- Hits: 3157
พาณิชย์ ล้มเหลวถกลดราคาสินค้า เอกชนอ้างเงินบาทอ่อนค่าดันต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้น
แนวหน้า : พาณิชย์ล้มเหลวถกลดราคาสินค้า เอกชนอ้างเงินบาทอ่อนค่าดันต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้น ส่วน‘น้ำมัน’ไม่มีผล
กระทรวงพาณิชย์หน้าแตก การเจรจากับกลุ่มผู้ผลิตผู้จำหน่ายสินค้า เพื่อลดราคาตามราคาน้ำมันที่ลดลงต่อเนื่อง ไม่มีประสบผลสำเร็จ พ่อค้าอ้างต้นทุนยังเพิ่มขึ้น หลังวัตถุดิบที่นำเข้าสูงขึ้นตามค่าเงินบาทที่อ่อนลง ส่วนราคาน้ำมันที่ลดลงส่งผลไม่มาก อธิบดีกรมการค้าภายใน แก้เขินสั่งเจ้าหน้าที่ไล่บี้ ยี่ปั๊ว ซาปั๊วต้นเหตุค้ากำไรเกินควร
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับภาคเอกชน ถึงแนวทางการลดราคาจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภค เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพประชาชน ในวันที่ 15 ก.ย. 2558 ว่า จากการหารือร่วมกับห้างค้าปลีกสมัยใหม่จำนวน 14 ราย และผู้ผลิต ผู้จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ในกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มของใช้ประจำวัน กลุ่มวัสดุก่อสร้าง กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และกลุ่มบริภัณฑ์ขนส่ง จำนวน 44 ราย เกี่ยวกับสถานการณ์ราคาสินค้า และการปรับลดราคาสินค้าลงภายหลังจากที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับลดลงมามาก ตามนโยบายของรัฐบาล ที่มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ กำกับ ดูแลราคาสินค้า ให้เหมาะสม เป็นธรรม สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และดูแลค่าครองชีพประชาชน ประกอบกับที่ผ่านมาประชาชน ผู้บริโภค ระบุ ร้องเรียนมาว่าราคาจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภคส่วนใหญ่ยังคงไม่มีการปรับลดราคาลง ทั้งที่ราคาต้นทุนลดมีการปรับลดลงแล้ว ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
ทั้งนี้ ทางผู้ผลิตสินค้าได้ชี้แจงถึงสถานการณ์ราคาสินค้าว่า ราคาน้ำมันที่ลดลงนั้น ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าไม่มาก เพราะส่วนใหญ่มีการใช้ไฟฟ้าด้วย แต่ราคาน้ำมันที่ลดลงจะมีผลในส่วนของค่าขนส่งสินค้ามากกว่า รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่าก็มีผลกระทบต่อสินค้านำเข้าเช่นกัน เพราะทำให้วัตถุดิบนำเข้ามีราคาสูงขึ้น ดังนั้นผู้ผลิตสินค้าหลากหลายจึงยังคงราคาสินค้าไว้ และไม่มีแผนจะปรับขึ้น หรือปรับลดราคาสินค้าแต่อย่างใด ขณะที่ผู้ผลิตบางรายก็ระบุว่าได้มีการปรับลดราคาสินค้าไปบ้างแล้วในช่วงที่ผ่านมา อาทิ กลุ่มสินค้าอาหาร เช่น ปลากระป๋อง น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันพืช กลุ่มสินค้าวัสดุก่อสร้าง เช่น ปูซีเมนต์ เหล็กเส้น ผลิตภัณฑ์กระดาษ เยื้อกระดาษ เป็นต้น ขณะที่กลุ่มผู้ค้าปลีก ค้าส่ง ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมา ทางผู้ประกอบการได้มีการจัดโปรโมชั่น ลดราคาสินค้า และแคมเปญต่างๆ อยู่แล้วอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม กรม ก็ได้มีการมีการขอความร่วมมือผู้ผลิต รวบรวมรายการสินค้าที่ได้มีการปรับลดลงไปแล้ว ว่ามีสินค้าใดบ้าง เพื่อแจงให้ประชาชนทราบ และให้มีการกำกับดูแล ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ให้มีการลดราคาลง เพื่อผู้ค้าปลีก ค้าส่งปลายทางจะสามารถลดราคาจำหน่ายลงได้ด้วย ซึ่งในส่วนนี้ทางกรม จะส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบราคาสินค้าที่ปลายทางอย่างใกล้ชิด หากพบว่าไม่มีการปฏิบัติตาม อาจต้องมีการบังคับใช้ข้อกฎหมาย ขณะเดียวกันได้ขอความร่วมมือผู้ผลิต จำนวน 44 ราย ให้ทำแผนปรับลดราคาจำหน่ายสินค้าลง ว่ามีสินค้าตัวไหนสามารถลดราคาจำหน่ายลงได้ และลดได้เท่าไหร่ โดยให้แจ้งข้อมูลราคาสินค้าที่จะมีการปรับลดให้กรม รับทราบภายในสัปดาห์หน้านอกจากนี้ยังได้ขอความร่วมมือห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ เกี่ยวกับการทำแผนปรับลดราคาจำหน่ายสินค้า ปรับลดค่าใช้จ่ายเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เก็บจากผู้ผลิต ให้สอดคล้องกับราคาที่ผู้ผลิตปรับลดลง โดยระบุว่าสามารถลดอะไรได้บ้าง
ตอนนี้ผู้ผลิต ยังไม่มีแผนที่จะปรับราคาสินค้า ทั้งขึ้นและลง ซึ่งส่วนใหญ่ยังตรึงราคาสินค้าไว้ระดับเดิมโดยเฉพาะเศรษฐกิจตอนนี้ทุกฝ่ายต่างระบุว่าไม่ขึ้นราคาสินค้าแน่ แต่ทางกรม ก็ได้ขอความร่วมมือให้ผู้ผลิตทำแผนรายการสินค้าที่จะปรับลดได้มาเสนอให้กรม สัปดาห์หน้าด้วย ซึ่งจากนั้นจะมีการพิจารณาร่วมกันอีกครั้งส่วนสินค้าที่ลดลงแล้ว ปลายทางอาจยังแพง เพราะแม้ว่าผู้ผลิตจะลดราคาลง แต่พ่อค้าคนกลาง และผู้ค้าส่งค้าปลีกยังไม่ได้ลดราคาลง ดังนั้นกรม จึงได้ขอให้ผู้ผลิตกำกับดูแล ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ให้ลดราคาสินค้าลงด้วย”นายบุณยฤทธิ์ กล่าว
สำหรับ ราคาน้ำมันดิบดูไบลดลง 52.99% จากปี 2557 ที่ราคาเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 96.48 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล มาเหลือที่ 45.36 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลส่งผลให้ราคาจำหน่ายน้ำมันภายในประเทศปรับลดลง โดยราคาน้ำมันเบนซินลดลง 28.37% จากราคาเฉลี่ยทั้งปี 2557 ที่ 46.43 บาทต่อลิตร เหลือ 33.26 บาทต่อลิตร ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลลดลง 22.34% จากราคาเฉลี่ยทั้งปี 2557 ที่ 29.99 บาทต่อลิตร เหลือ 23.29 บาทต่อลิตร ซึ่งการที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง มีผลต่อต้นทุนการผลิต และต้นทุนการผลิตลดลงประมาณ 8.94%
นอกจากนี้ ทางกระทรวงพาณิชย์ ยังได้ร่วมมือกับหอการค้าทั่วประเทศ เปิดโครงการ หอการค้าฯ รวมมิตร...หนูณิชย์...พาชิม เพื่อขับเคลื่อนโครงการร้านอาหารหนูณิชย์...พาชิม ให้กระจายออกไปยังส่วนภูมิภาคอย่างทั่วถึง ซึ่งทางโครงการก็หวังว่าจะช่วยลดค่าครองชีพแก่ประชาชน และเพิ่มรายได้ลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารและผู้ประกอบการสินค้าโอท็อปได้ ซึ่งปัจจุบันมีร้านหนูณิชย์ฯ ทั่วประเทศราว 3,200 ร้าน และตั้งเป้านับจากนี้อีก 1 ปี หรือภายในสิ้นปี 2559 จะต้องมีร้านหนูณิชย์ฯ 10,000 ร้าน
ทั้งนี้ ภายในร้านหนูณิชย์ฯ ในโครงการที่ร่วมกับหอการค้า จะมีการนำสินค้าโอท็อปในท้องถิ่นมาจำหน่ายในร้านโดยไม่ต้องเสียค่าแผงด้วย ซึ่ง 1 ปีที่ผ่านมา พบว่าร้านหนูณิชย์ที่เปิดในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลช่วยลดค่าครองชีพประชาชนได้วันละประมาณ 1.33 ล้านบาทมียอดลดภาระค่าครองชีพสะสมกว่า 4.51 ร้อยล้านบาทและรวมร้านหนูณิชย์ที่เปิดทั่วประเทศลดค่าครองชีพประชาชนได้วันละประมาณ 2.77 ล้านบาท มียอดลดภาระค่าครองชีพสะสม 7.17 ร้อยล้านบาท เมื่อภายในสิ้นปี 2559 เปิดได้ครบตามเป้าจะทำให้สามารถประหยัดค่าครองชีพประชาชนทั่วประเทศได้ถึง 3 เท่าจากปัจจุบัน