- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 28 June 2014 17:25
- Hits: 3054
เบรกเอฟทีเอ-ไทยกระอัก อียูอีกดาบ'กุ้ง-ทูน่า'ถูกโขกภาษีอ่วม ซีพีโต้มะกัน-นอร์เวย์แอนตี้
เผยกระทบยอดขายน้อยมาก
นายอดิเรก กล่าวว่า การชะลอการสั่งซื้อของลูกค้าในสหรัฐและยุโรปมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยกับบริษัทเท่านั้น โดยเฉพาะในสหรัฐ ซีพีเอฟมีลูกค้ามากกว่า 100 ราย และมีมูลค่าการส่งออกรวม 4,000 ล้านบาทต่อปี ในจำนวนนี้มีลูกค้าเพียงรายเดียวที่ชะลอการซื้อ มีมูลค่าการสั่งซื้อ 600 ล้านบาทต่อปี เมื่อเทียบกับยอดขายรวมของบริษัทฯที่ 4 แสนล้านบาท เมื่อปีที่แล้วนั้น ถือว่าเป็นส่วนน้อย ส่วนผลกระทบในสหภาพยุโรปยังน้อยกว่าในสหรัฐมาก ขณะนี้ในภาพรวมลูกค้ามีความเข้าใจดีและจะกลับเข้ามาซื้อสินค้าใหม่ เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ตคาร์ฟูร์ ในบางประเทศกลับเข้ามาซื้อสินค้าของบริษัทแล้ว หลังได้รับการชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ ปัจจุบันบริษัทฯมีฐานการผลิตและขายใน 13 ประเทศ คิดเป็นยอดขาย 93% ขณะที่ยอดส่งออกมีเพียง 7% เท่านั้น ดังนั้นผลกระทบครั้งนี้เป็นเพียง 0.002% ของยอดขายเท่านั้น การขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจคงเป็นไปตามเป้าหมาย
ทียูเอฟแจงคู่ค้ายังส่งออกปกติ
รายงานข่าวจากบริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ หรือทียูเอฟ กล่าวว่า สินค้าจากทียูเอฟยังจำหน่ายได้ตามปกติทั่วโลก ไม่มีที่่ไหนแบนสินค้า เนื่องจากก่อนหน้านี้้ทางทียูเอฟได้เดินสายชี้แจงกับคู่ค้าเรื่องการใช้แรงงาน ไม่มีการใช้แรงงานภาคบังคับ นอกจากนี้สินค้าของทียูเอฟ มีแหล่งการผลิตอยู่ทั่วโลก รวมทั้งในสหรัฐอเมริกา โดยการเข้าซื้อบริษัทผู้ผลิตอาหารทะเลชื่อดัง ภายใต้แบรนด์ชิกเก้น ออฟ เดอะซี เมื่อหลายปีก่อนหน้า ขณะที่เรื่องวัตถุดิบนั้นมีการส่งออกวัตถุดิบจากเมืองไทยไปยังสหรัฐอเมริกาและยุโรป เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปประมาณ 20% เท่านั้น
ปลัดกต.ส่งหนังสือถามมะกัน
กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ แจ้งว่าเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีหนังสือถึงนายจอห์น แคร์รี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับกรณีการจัดอันดับให้ไทยอยู่ใน เทียร์ (Tier) 3 ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2557 สรุปสาระสำคัญดังนี้ ไทยมีความผิดหวังอย่างยิ่งและไม่เห็นด้วยกับการที่สหรัฐ ตัดสินลดอันดับประเทศไทย เนื่องจากในช่วงปีที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ให้มีความคืบหน้าและเป็นรูปธรรมเป็นอย่างมากในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะเพิ่มจำนวนการจับกุม ดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำผิด ในการค้ามนุษย์
นอกจากนี้ ไทยได้ให้ความร่วมมือกับฝ่ายสหรัฐ อย่างดียิ่ง ทั้งกับสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำประเทศไทย และสำนักงานฯของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ในการจัดส่งข้อมูลและสถิติที่ถูกต้องให้ฝ่ายสหรัฐ อย่างสม่ำเสมอถึงการดำเนินงานของฝ่ายไทยและพัฒนาการในเชิงบวกต่างๆ ดังนั้นจึงเป็นคำถามว่าสหรัฐ ไม่ได้ตระหนักถึงความก้าวหน้าในการดำเนินงาน ความร่วมมือและความพยายามทุ่มเทของฝ่ายไทยหรือ จึงทำให้ไทยอยู่ในระดับมาตรฐานต่ำสุด แม้ไทยจะไม่เห็นด้วยกับการประเมินและจัดอันดับของสหรัฐ แต่ไทยก็ยังคงจะมุ่งมั่นดำเนินการในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่องต่อไป และจะกระทำให้มากขึ้น เนื่องจากเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ควรต้องทำ ไทยเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับมนุษยธรรม จะต้องดำเนินการให้ดีที่สุดโดยเฉพาะต่อผู้ตกเป็นเหยื่อในการค้ามนุษย์
อียูระงับเอฟทีเอ-ไทยอ่วมภาษีกุ้ง
เว็บไซต์อันเดอร์เคอร์เรนต์นิวส์ เว็บไซต์รายงานข่าวเกี่ยวกับธุรกิจอาหารทะเลของประเทศอังกฤษ อ้างคำสัมภาษณ์ของโฆษกคณะกรรมาธิการการค้ายุโรปว่า สหภาพยุโรปได้ตัดสินใจระงับการเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างสหภาพยุโรปกับไทย ที่จะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้ลงเป็นการชั่วคราว เพื่อตอบโต้ที่กองทัพทำรัฐประหารและยังคงปกครองด้วยรัฐบาลทหารต่อไป
รายงานระบุว่า การยกเลิกการเจรจาดังกล่าวเป็นการชั่วคราว มีขึ้นในขณะเดียวกันกับที่ไทยต้องสูญเสียสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ในการส่งออกกุ้งและปลาทูน่าไปยังสหภาพยุโรปไปจนถึงปีหน้า "ในประเด็นเกี่ยวข้องกับการเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรป-ไทยนั้น เราได้ยกเลิกการเจรจารอบต่อไปที่กำหนดไว้คร่าวๆ ในเดือนกรกฎาคมลงแล้ว และเป็นที่ชัดเจนว่าเราไม่มีจุดมุ่งหมายที่จะร่วมการเจรจาครั้งต่อไปภายใต้สภาพแวดล้อมปัจจุบัน"
รายงานระบุว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปไปแล้วเป็นครั้งที่ 2 เมื่อเดือนกันยายน 2556 ขณะที่การเจรจารอบที่ 3 กำหนดเอาไว้ในเดือนกรกฎาคมนี้ นอกจากนี้อันเดอร์เคอร์เรนต์นิวส์ยังระบุด้วยว่า ไทยมองว่าข้อตกลงเอฟทีเอเป็นทางออกจากการสูญเสียสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรกับสหภาพยุโรปนับตั้งแต่ปีนี้ ขณะที่ในปีหน้าไทยจะต้องเจอกับอัตราภาษีศุลกากรในระดับสูงจากการส่งออกกุ้งและปลาทูน่าด้วย ซึ่งเป็นการสูญเสียสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรทั้งหมดภายใต้สิทธิพิเศษทางศุลกากร (จีเอสพี) ของสหภาพยุโรป ซึ่งนั่นจะทำให้ไทยต้องเจอกับอัตราภาษีส่งออกกุ้งแช่แข็งไปยังอียู เพิ่มขึ้นจาก 4.2 เปอร์เซ็นต์เป็น 12 เปอร์เซ็นต์ในปี 2558 ขณะที่กุ้งแปรรูปได้ปรับเพิ่มขึ้นแล้วเมื่อต้นปีนี้จาก 7 เปอร์เซ็นต์เป็น 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนปลาทูน่าอียูจะเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจาก 21.5 เปอร์เซ็นต์เป็น 24 เปอร์เซ็นต์ ในปีหน้า